หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ
แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด (พ.ศ. 2557 2560)
สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555 ได้มีมติเห็นชอบนโยบาย หลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 2560) ซึ่งจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะตัองจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 2560) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.น.จ. ได้ร่วมกับทีมบูรณาการกลาง จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 2560) และขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ 4 ภาค เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดดังกล่าว โดยได้มีการมอบนโยบายในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดจากรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับและดูแลพื้นที่ การชี้แจงทิศทางของ ก.น.จ. ในการพัฒนาระบบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนฯ เพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2560) ได้อย่างสมบูรณ์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ก.น.จ. กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้ ก.น.จ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สำหรับ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2560)ตามที่ ก.น.จ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555 ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว มีดังนี้
ขอบเขตของแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
1. ขอบเขตของแผนพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนาจังหวัดเป็นแผนที่มุ่งการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวมที่ครอบคุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและอาชีพซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัด
2. ขอบเขตของแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดเป็นแผนที่มุ่งเน้นการพัมนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัด และนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและสร้างรายได้ให้กลุ่มจังหวัด
แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
1. ต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค ยุทธศาสตร์รายสาขา/เฉพาะด้าน รวมทั้งสอดคล้องกับศักยภาพ โอกาส สภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนในพื้นที่
2. คุณภาพของแผน
ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีคุณภาพ จะต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย และแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจน ความเป็นเหตุเป็นผลของแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกัน เชื่อมโยงตั้งแต่วิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหระสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย กลยุทธ์ จนถึงแผนงาน/โครงการ (Logical Framework) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) มีการกำหนดประเด็นปัญหาและโอกาสการพัฒนาชัดเจนทั้งในเชิงของขนาดและพื้นที่ พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและโอกาสการพัฒนานั้น ๆ
2) มีวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหา และการใช้โอกาสในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
3) มีประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางารพัฒนา และการแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผน โดยในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์จะต้องมีการหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อยืนยันประเด็นยุทธศาสตร์นั้น ๆ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน
4) มีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นยุทธศาสตร์
5) มีแผนงาน/โครงการ ตอบสนองกับแนวทางพัฒนานั้น ๆ
3. ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดดำเนินการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด โดยจัดทำแผนพัฒนาในลักษณะต่อเนื่องแบบ Rolling Plan ซึ่งจะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ทุกปีโดยครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี อันจะช่วยทำให้การดำเนินงานของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีการคาดการณ์สถานการณ์และมองเชิงรุกไปข้างหน้า รวมทั้งมีการยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น (แสดงในแผนภาพ)
แผนภาพ แสดงผลพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 4 ปี ในลักษณะแบบ Rolling Plan
ขั้นตอนและวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ขั้นตอนและวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (พ.ศ. 2557 2560) มีดังนี้
1. ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 27 และมาตรา 28 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ประกอบหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่กำหนดไว้ตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ นร (ก.น.จ.) 1203 / ว2 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552
2. รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค รวมกับทีมบูรณาการกลางประชุมร่วมกับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้กรอบแนวทาง คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ตามที่ ก.น.จ. เสนอ
3. ในการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันกับบุคคลจากภายนอกต่าง ๆ ในจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัด/แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ตามมาตรา 19 และมาตรา 27 นั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่ได้รับจาก ก.บ.ก. เข้ารับฟังความคิดเห็นพร้อมกันด้วย และเมื่อได้ผลการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ให้จังหวัดส่งความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ ก.บ.จ. / ก.บ.ก. เพื่อนำผลการประชุมและความคิดเห็นของที่ประชุมมาปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัด/แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดแล้วแต่กรณีให้สมบูรณ์ต่อไป
4. ทีมบูรณาการกลางจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างจังหวัด/กลุ่มจังหวัด กับกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานร่วมกันตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
5. ในการพิจารณาของ ก.บ.จ. โดย อ.ก.น.จ. ด้านแผนและด้านงบประมาณซึ่งพิจารณากลั่นกรองแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด อ.ก.น.จ.ฯ อาจมีข้อสังเกตเพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำไปปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัด/แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้เหมาะสมและมีคุณภาพ (อาจให้จังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงด้วย)
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ
สำนักงานเลขานุการ ก.น.จ. / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 13 กรกฎาคม 2555 10:02:20 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 13 กรกฎาคม 2555 10:14:41