Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2555 / มิถุนายน / ปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในกประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้าการทุจริตคอร์รัปชั่น

ปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในกประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้าการทุจริตคอร์รัปชั่น

ปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น



           การประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายก รัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม นอกจากจะมีการประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการ ทุจริตคอร์รัปชั่น และมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในการพัฒนาองค์การเพื่อสร้างความโปร่งใสในการ ปฏิบัติราชการ แล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษที่ น่าสนใจ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึก สร้างความตื่นตัว และสร้างทัศนคติเชิงบวกให้แก่ข้าราชการและทุกภาคส่วน ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ 

           การบรรยายพิเศษเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งกล่าวถึงมาตรการในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ  

           1) มาตรการระยะสั้น

           ● การจัดทำรายละเอียดการประกันความเสี่ยงของการทุจริตไว้ในข้อเสนอแผนงาน โครงการ การดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยกำหนดให้มีการเสนอแผนการบริหารความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ซึ่งสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ

           ● การกำหนดมาตรการป้องกันทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากการกำหนดราคากลางเป็นช่องทางของการทุจริตเป็นอย่างมาก โดยสำนักงาน ปปช. ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเพิ่มบทบัญญัติใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันและดูแลการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ไม่ให้มีการทุจริต กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการประพฤติมิชอบในการจัด ซื้อจัดจ้าง ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการช่วยปรับปรุงมาตรการเดิมที่ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมี ประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันปราบปรามอย่างเป็นรูปธรรม 

           ในส่วนของภาคเอกชน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องกันการทุจริต เช่น การรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมป้องกันการทุจริตต่าง ๆ การจัดทำร่างแผนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง (Corrective Action) เพื่อให้มีการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นธรรม มีความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะการแก้ปัญหาแบบ corrective action ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและให้ความเข้มแข็งแก่ภาคเอกชนที่ สามารถดำเนินการได้

           2) มาตรการระยะยาว

           มาตรการสำคัญในการ ดำเนินการระยะยาว คือ การให้การศึกษา โดยเน้นให้การศึกษาทั้ง 2 ส่วน คือ คนเก่ง และคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ให้สามารถทำงานอย่างสุจริต เน้นการสร้างสุจริตชนเพื่อให้สังคมมีประสิทธิภาพ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 ของสำนักงาน ปปช. ได้มุ่งเน้นการสร้างเยาวชนให้ตระหนักถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย

           สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน แม้การดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นเรื่องยาก และรู้สึกว่ามีปัญหามาก แต่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา โดยให้ยึดว่าเป็นภารกิจของคนทั้งประเทศ ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ถือเป็นการจุดประกาย สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทย ในการร่วมมือกันต่อสู้และสร้างความเข้มแข้ง เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น

           กิจกรรมสำคัญของสำนักงาน ปปช. ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

           เนื่องจากสำนักงาน ปปช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวันนี้ 3 เรื่อง ได้แก่

           - การจัดสัมมนาเผยแพร่มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2555 

           - การสัมมนาวิชาการ 1 ปีกับการปฏิรูปกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อการปฏิรูปสังคม ในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2555

           - จัดนิทรรศการและการสัมมนาเพื่อเสนอผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2551 - 2555 ภายใต้แนวคิด รวมพลังเดินหน้าฝ่าวิกฤตคอร์รัปชั่น ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 โดยมีนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ร่วมแสดงปาฐกาถาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วย




*********************



           การนำเสนอตัวอย่างต่างประเทศที่เป็นเลิศ ( Best Practices ) ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น : กรณีของสาธารณรัฐสิงคโปร์  โดย Mr. Chua Cher Yak อดีตผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau ( CPIB ), Singapore 

           Mr. Chua Cher Yak กล่าว ถึงภาพรวมของสาธารณรัฐสิงคโปร์ก่อนที่จะก้าวมาเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการ ทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ว่าสาธารณรัฐสิงคโปร์สร้างชื่อเสียงเรื่องความโปร่งใสมาด้วยตัวเอง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีต้นทุนต่ำ เริ่มต้นจากประเทศที่มีปัญหาคนไม่รู้หนังสือ ปัญหาความยากจน และปัญหาคนว่างงาน ซึ่งต่างจากสิ่งที่ประเทศอื่นคิดว่า สิงคโปร์สามารถมีการบริหารจัดการที่ดีได้เพราะมีต้นทุนของประเทศสูง มีบุคลากรที่มี่ความรู้ความสามารถ แต่ Mr. Chua Cher Yak ยืนยันว่าทุกอย่างที่สิงคโปร์มีทุกวันนี้เป็นผลมาจากการทำงานหนัก และการอดทนของพลเมืองและรัฐบาลสิงคโปร์ โดยMr. Chua Cher Yak ได้หยิบยกบทเรียนที่เป็นเครื่องผลักดันให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความโปร่ง ใสในการบริหารจัดการ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าสิงคโปร์นำเอาเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาลมาปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิง โดยสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ สามารถกำจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นธรรมชาติของคน คนส่วนใหญ่อาจทำตามกฎหมาย แต่บางคนอาจมีวิธีคิดที่ต่างออกไป ดังนั้น กฎหมายต้องมุ่งเอาผิดกับกลุ่มคนที่คิดต่างออกไป



*********************
 


           การบรรยายพิเศษเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทย โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นรัฐบาล 

           นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กล่าว ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน หากประชาชนมีความเข้มแข็งและหน่วยงานภาครัฐมีทัศนคติ มีจิตวิญญาณในการรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ประเทศไทยจะใสสะอาด โดยที่การต่อต้านคอรัปชั่น ต้องต่อต้านทุกวันอย่างไม่มีวันหยุดตราบใดที่ยังมีลมหายใจ จนกว่าวันที่ประเทศไทยจะปราศจากคอร์รัปชั่น

           ด้าน นายประมนต์ สุธีวงศ์ กล่าว ว่า ปัจจุบันการรวบรวมคนเข้ามาร่วมขบวนการสามารถทำได้ด้วยระบบ IT, Social Media รวดเร็วมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ ภาคีต่อต้านได้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ มีการเปิด website เพื่อให้คนหลายหมื่นคนสามารถเข้ามาความเห็น มีทั้งการเสนอแนะ เสนอตนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านนี้ ร่วมกับภาคีฯ 

           กิจกรรมภาคีเครือข่ายมี 3 เรื่องใหญ่ คือ

           1. การป้องกันและการปลูกฝัง เห็นว่าการป้องกันมีประโยชน์ เพราะกระบวนการปราบปรามประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีประโยชน์ ตัวอย่างจากต่างประเทศพบว่า ผู้นำระดับสูงถูกลงโทษจริงแต่ในประเทศไทยกระบวนการยุติธรรมใช้เวลานาน ควรมีศาลพิเศษในการพิจารณาคดีทุจริต ให้เสร็จกระบวนการภายในสองปี เพื่อนำมาลงโทษให้เป็นแบบอย่างในสังคม การป้องกันเป็นเรื่องของความร่วมมือ ในขณะนี้ดำเนินการอยู่ประมาณ 2 - 3 โครงการ เช่น

           - โครงการหมาเฝ้าบ้าน เป็นโครงการอาสาสมัครของประชาชนทั่วประเทศ มาเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใกล้ตัว

           - Thai Institute of Directors Association ได้รณรงค์โดยนำเอากลุ่มบริษัทมาปฏิญาณตนเอง ว่าจะไม่ทุจริต ไม่ติดสินบน มีกระบวนการตรวจสอบกันเอง

           - โครงการร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการสร้างระบบการแข่งขัน โดยเฉพาะการประมูลงานภาครัฐให้เป็นธรรม ที่มีการทุจริตเกิดขึ้น คือ เอกชนพยายามเอาเปรียบเลยติดสินบน หรือ ข้าราชการ และ นักการเมืองต้องการทุจริต เลยเรียกร้อง กระบวนการหลายอย่างต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความโปร่งใส กระบวนการ คือ ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องสามารถรับรู้ข้อมูลได้ ลักษณะของความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ กระบวนการตรวจสอบ โดยผู้ตรวจสอบอิสระร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 

           - โครงการฮั้วไม่จ่าย เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคล บริษัทที่ทำงานกับภาครัฐ กำลังมีความร่วมมือว่าจะไม่ยอมจ่ายสินบนใด ๆ ให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจ มีหลายหน่วยงานที่เริ่มมีการปรึกษาในเบื้องต้นเพื่อเข้าร่วมโครงการต่างๆ 

 


           2. การปลูกฝังเป็นขบวนการ ซึ่งต้องปลูกฝังค่านิยมให้กับเยาวชน เรื่องคดโกง มี โครงการโตไปไม่โกง ที่กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบดำเนินการ โดยบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหา นคร โครงการร่วมกับศิลปิน บ้านสีขาว ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ภาคี ฯ ดำเนินการอยู่นั้น เป็นกระบวนการหาแนวร่วมในการทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักรู้

           3. สูตรสำเร็จในการต่อสู้ มี 3 ส่วน คือ รัฐบาลเป็นผู้นำ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม องค์กรอิสระ ต้องติดตาม ซึ่งเมื่อรัฐบาลออกมายืนยันที่จะรณรงค์ในเรื่องนี้ ผู้บรรยายจึงเห็นว่าคิดว่า ประเทศไทยมีความพร้อม เพราะหากทั้ง 3 ส่วนสามารถเดินร่วมกันได้ เชื่อว่าประเทศไทยจะใสสะอาดและเชื่อว่าคนโกงจะไม่มีที่ยืน

*********************



           การชี้แจงหลักการ เงื่อนไข และแนวทางการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. และ ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวถึง ขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ




           ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกกระบวนงานที่จะนำมาสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ 

           1) ระบุกระบวนงานหลักของหน่วยงานเพื่อให้เห็นภาพรวมการดำเนินงานทั้งหมด โดยอาจพิจารณาจากพันธกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย หรือรายชื่อกระบวนงานหลักในตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA รหัส PM1) ซึ่งควรเป็นกระบวนงานที่มีความต่อเนื่อง ไม่ควรเป็นงานที่ทำเป็นโครงการเสร็จแล้วก็จบหรือทำเป็นเรื่อง ๆ

           2) คัดเลือกกระบวนงานที่จะนำมาสร้างความโปร่งใส ซึ่งกระบวนงานที่คัดเลือกต้อง เป็นกระบวนงานที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดการทุจริตคอรรัปชั่น และควรเป็นกระบวนงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่อประชาชนโดยตรง มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเลือกกระบวนงานจับกุมปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง มากกว่ากระบวนงานจับกุมผู้ฝ่าฝืนการจราจรตามสี่แยก เป็นต้น และก่อให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียต่อประชาชนสูง
โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม เช่น กระบวนงานใดที่ไม่ค่อยถูกเปิดเผย มักจะเป็นงานที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้มาก หรือกระบวนงานที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่มีประสบการณ์ ไม่มีคู่มือการปฏิบัติงาน ไม่มีมาตรฐานการทำงานให้ทุกคนยึดถือ อาจทำให้การทำงานเกิดการลักลั่นและไม่มีประสิทธิภาพ

           ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์ปัญหาของกระบวนงานในปัจจุบัน 

           1) ระบุปัญหา โดยการจำแนกขั้นตอนการดำเนินงานและพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น โอกาสที่จะเกิด ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้รับบริการ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น กฎหมายหรือกฎระเบียบไม่เอื้ออำนวยในการทำงาน ผู้ปฏิบัติมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอ ประมาท เลินเล่อ ขาดระบบการตรวจสอบ เครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ดี มีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการดำเนินงาน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เป็นต้น

           2) การวิเคราะห์ปัญหา โดยอาจใช้เทคนิคต่าง ๆ มาช่วยในการวิเคราะห์ เช่น Problem tree, Mindmap แผนผังก้างปลา เป็นต้น เพื่อระบุและแยกแยะให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาของกระบวนการที่เลือกมาแก้ไข ซึ่งควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้รับบริการ และผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมกันวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความผูกพัน และมีความเป็นเจ้าของ 

           ขั้นตอนที่ 3 หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีกรอบแนวทางกว้าง ๆ ดังนี้

           1) กฎหมาย กฎระเบียบ เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ให้มีความรัดกุมขึ้น การกำกับดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ อย่างเคร่งครัด เป็นต้น
           2) การออกแบบกระบวนงานใหม่ เช่น การปรับปรุงงานบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการ การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ การวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยง เป็นต้น
           3) การพัฒนาบุคลากร เช่น การจัดทำคู่มือ มาตรฐาน จรรยาบรรณในการดำเนินงาน การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น
           4) การมอบอำนาจ การสร้างกลไกการตรวจสอบโดยผู้รับบริการ
           5) การพัฒนาเครื่องมือดำเนินการ เช่น จัดหา ปรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้มีคุณภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบ กระบวนงาน เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร ระบบการป้องกันที่มีอยู่ ควรนำมาสร้างพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร

           ขั้นตอนที่ 4 จัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการ ซึ่งควรประกอบด้วย เป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งต้องเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลและบันทึกเก็บข้อมูลไว้ได้ กิจกรรมการดำเนินงานและระยะเวลาดำเนินงาน งบประมาณค่าใช้จ่าย


           โดยสรุป เมื่อส่วนราชการจัดทำรายละเอียดในขั้นตอนที่ 1-3 เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำเสนอต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิในวันที่ 11-12 มิถุนายน 2555 สำหรับขั้นตอนที่ 4 จะนำเสนอต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วันที่ 25-26 มิถุนายน 2555 ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติ โดยส่วนราชการสามารถจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้พิจารณาว่ากระบวนงานที่เป็นมีปัญหามากที่สุดคือเรื่องใด โดยระบุความหมายของเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อนำสู่การระบุปัญหา ระบุเหตุผลในการเลือก ซึ่งการเลือกกระบวนงาน ให้พิจารณาจากผลกระทบ งานที่มองเห็นเป้าหมายชัด มีขั้นตอนการทำงานไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นงานขององค์กร ให้เริ่มจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม โดยนำหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลมาพิจารณาดำเนินการ มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนสามารถตรวจประเมินวัดผลได้ ระบุผลที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนหากแก้ไขปัญหาได้ วิเคราะห์ปัญหา และทำข้อเสนอโครงการแก้ไขปัญหา ซึ่งควรกำหนดเป็นนโยบายที่ไม่สร้างปัญหาต่อเนื่อง สื่อสาร และนำไปสู่ผลลัพธ์

           ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดให้มีการสนับสนุนข้อมูลให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ส่วนราชการ 3 ช่องทาง คือ 

           1) จัดคลินิกให้คำปรึกษา โดยส่วนราชการและจังหวัดสามารถจองเวลาได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร.

           2) ระบบ Chat online เปิดให้สอบถามได้ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 - 15.00 น. 

           3) เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนงานใน PMQA ผ่านเว็บไซต์ www.opdc.go.th

*********************



 


           ในช่วงสุดท้ายของงานเป็น การบรรยายพิเศษเรื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรรมการ และเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) ขอให้ข้าราชการทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ ดำรงอยู่ในความพอดี พอเพียง มาปฏิบัติ และต้องไม่ทุจริตเสียเอง อาทิ 

           พระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อคณะผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ วันที่ 8 ตุลาคม 2546

           ...ภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญคือ ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง......ถ้าทุจริตแม้แต่นิด เดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้วขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะนำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย...

           พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2552

           ...ความสุข ความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มั่นคง เป็นปกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงไปได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติ รู้ตัว ด้วยปัญญา รู้คิด และด้วยความ สุจริต จริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น...


           โดยสรุป ...ข้า ราชการทุกคนจะต้องเดินตามรอยพระยุคลบาท เพื่อช่วยพัฒนาประเทศ และดำเนินชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม ร่วมกันต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญ มั่นคงและยั่งยืน... 

           โดยข้าราชการทุกคนหรือ แม้แต่ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจ ต้องดำรงอยู่ในความพอดี พอเพียง มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันไว้ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้อง คือ ความโกง ความโลภ และความขัดแย้ง ทั้งนี้ สาเหตุการคอร์รัปชั่นในปัจจุบันเกิดจากกระแสการบริโภคนิยม วัตถุนิยม และปัจเจกนิยมที่เห็นเงินตราเป็นหลัก อีกทั้ง ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่าย วางเฉย ไม่มีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเจริญได้ ต้องหยุดหรือควบคุมการทุจริตให้ได้ และข้าราชการทุกคนต้องไม่ทุจริตเสียเอง 


 


           อนึ่ง การประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จัดขึ้นเพื่อเป็นการตอกย้ำสร้างความตระหนักให้ส่วนราชการและ ทุกภาคส่วน ร่วมมือปฏิบัติ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ต่อไปอย่างยั่งยืน

 



สำนักงานเลขาธิการ  / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ  / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 20 มิถุนายน 2555 10:05:44 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 20 มิถุนายน 2555 10:05:44
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th