นายกรัฐมนตรีประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล
ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในการพัฒนาองค์การเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2, 3 และ 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการหรือกิจกรรมสำคัญตามนโยบายรัฐบาลและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2555 2558) โดยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการรณรงค์สร้างความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับผิดชอบในการพัฒนาระบบราชการไทยหเกิดความโปร่งใส จึงได้มีการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกดงกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางยุทธศาสตร์ แนวทาง และมาตรการต่าง ๆ ในการสร้างระบบราชการให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติรับทราบ ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ซึ่งการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนผู้แทนจาภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในการพัฒนาองค์การเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดยกล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องสูยเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐได้ได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศ
จากผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) องค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) แสดงให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เนื่งอจากเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ทำให้สูญเสียและใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดโอกาสประชาชนผู้ยากจนในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และบั่นทอนความเชื่อถือไว้วางใจในภาครัฐ (Trust in Government) อึกทั้งจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ไม่ดีขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2550 2554 ดัชนี้ชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยอยู่ในช่วง 3.3 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 และต่ำกว่าประเทศใกล้เคคียงในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงเพื่อกู้คืนความเชื่อมั่นของประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้กำหนดไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ใน ข้อ 1.3 ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่เป็นสากล เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเพื่อการพัมนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม ซึ่งจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดการทำงานที่โปร่งใสและชัดเจนขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูงที่จะต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจะเพิ่มการพิจารณาในเรื่องนี้ โดยจะพัฒนาระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่ยึดหลักคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการหรือแนวทางในการป้องกัน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จึงขอความร่วมมือจากผู้บริหารของหน่วยงานในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานของตนต่อไป
รัฐบาลจะมุ่งเน้นการดำเนินการเชิงรุกที่ไม่ได้มีการปราบปรามและการลงโทษเพียงด้านเดียว แต่จะมีการยกย่องให้ความชอบแก่ผู้ที่มีความสุจริตยุติธรรมด้วย ซึ่งแนวทางในการดำเนินการ คือ การสร้างจิตสำนึกร่วมกัน ความมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รชันในภาคราชการ การปรับปรุงระบบการทำงานมากกว่าการจัดผิดรายบุคคล การสร้างให้เกิดการยอมรับที่จะแก้ไขปรับปรุงของส่วนราชการเอง ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ แต่ผลักดันให้เกิดจิตสำนึกและความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเองจากภายใน โดยให้มองว่าภายในองค์กรของตนมีเรื่องใดบ้างที่ต้องแก้ไขปัญหา และแม้ว่าสิ่งที่ต้องกาคือเพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐมีความสุจริตโปร่งใส แต่มาตรการที่กำหนดขึ้นจะต้องไม่เป็นขั้นตอนยุ่งยากจนกระทบต่อประชาชนที่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการลงทุนธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ การดำเนินการกับภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใสแต่ไม่เกิดอุปสรรคจนส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
รัฐบาลยึดยุทธศาสตร์การดำเนินการตามหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า การทำงานต้องระเบิดจากข้างใน โดยทรงหมายความถึง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนแล้วจึงออกสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญเข้าไปหาชุมชน หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวให้มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาจากข้างในและจำทำให้เกิดความมั่นคง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ว่า มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ ป.ป. และ ป.ป.ท. ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งการปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ การพัมนาองคืการ การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยรัฐบาลได้ปรับยุทธศาสตร์ให้เป็นแผนงานเร่งด่วน 4 ขั้นตอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีทิศทางในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ได้แก่
1. การปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักเรียนรู้ร่วมกัน โดยการรณรงค์ การจ้ดทำป้ายสัญลักษณ์ ประกาศเจตนาไม่รับสินบนหรือคอร์รัปชันไว้ตามจุดบริการประชาชน ยกย่องเชิดชูผู้มีความประพฤติดี มีความสุจริต ยุติธรรม และซื่อสัตย์ โดยมี ป.ป.ท. สำนักงาน ก.พ. และ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพหลัก
2. การพัฒนาองค์การ โดยให้มีการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง เพื่อเน้นการปฏิบัติจริงที่เกิดจากข้างใน เกิดความเต็มใจและยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์หรือกลุ่มงานในส่วนราชการ ดำเนินการเสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรของตนเอง โดยมี สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับส่วนราชการและจังหวัด
3. การตรวจสอบและระวังเชิงรุก โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption War Room) ที่จะบูรณาการการตรวจสอบ รับแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียนแบบ One Stop Service มี ป.ป.ท. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.รง ร่วมกันจัดทำ และเชื่อมโยงข้อมูลและรายงานการดำเนินงานไปที่ศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี มี Call Center หมายเลข 1206 และเว็บไซต์สำหรับรับเรื่องร้องเรียน สำรวจความพึงพอใจของประชาชน ติดตามและรายงานสถานะความก้าวหน้าของการดำเนินมาตรการ รวมทั้งจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ความเป็นธรรมจากข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่ศูนย์ฯ ได้รับมาจากประชาชนต่อไป
4. การปราบปรามอย่างจริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ท. และ ปปง. เป็นผู้ดำเนินการ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่จะเป็นการดำเนินการร่วมกันของส่วนราชการและจังหวัด คือ การพัฒนาหน่วยงานภายใต้แนวคิด 1 หน่วยงาน 1 ข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (Clean Initiative)โดยให้มุ่ง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา คือ เข้าใจ ถึงปัญหาของหน่วยงานตนเอง เข้าถึง ปัญหาโดยการวิเคราะห์ สังเกตอย่างละเอียด และ พัฒนา มุ่งแก้ไขให้เกิดความร่วมมือและยอมรับภายในองค์กร
การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ได้นวัตกรรมในการสร้างความโปร่งใสจาก 159 ส่วนราชการ 76 จังหวัด รวมทั้งหมด 235 นวัตกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ส่วนราชการและจังหวัดจัดทำและเสนอโครงการดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น ข้อเสนอที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจะได้รับทุนเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ตลอด 1 ปี
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption War Room) เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางในการร้องทุกข์/ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ผ่านสายด่วน (Call Center) หมายเลข 1206
นอกจากนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่
1) การบรรยายพิเศษเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
2) การบรรยายพิเศษ เรื่อง บทเรียนจากความพยายามในการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นที่มากกว่า 50 ปี ของสาธารณรัฐสิงค์โปร์ โดย Mr. Chua Cher Yak อดีตผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) สาธารณรัฐสิงค์โปร์
3) การบรรยายพิเศษเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน
4) ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของหน่วยงานไทยในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
5) การชี้้แจงหลักการ เงื่อนไข และแนวทางการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. และ ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.พ.ร.
6) การบรรยายพิเศษเรื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
สำนักงานเลชาธิการ / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 19 มิถุนายน 2555 10:43:11 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 19 มิถุนายน 2555 10:43:11