Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2554 / ธันวาคม / การตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานฯ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติกรมการแพทย์ และ กรมปศุสัตว์

การตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานฯ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติกรมการแพทย์ และ กรมปศุสัตว์

การตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจ
เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานฯ
ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ
กรมการแพทย์ และ กรมปศุสัตว์





     เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เฉพาะกิจเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานและลดขั้นตอนฯ ซึ่งมี นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นายสุรพล แสวงศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้ง นายยันยงค์ คำบันลือ หัวหน้าคณะทำงานตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประจำปี 2554 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ และ กรมปศุสัตว์

      โรงพยาบาลรามาธิบดี นำเสนอผลงานการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน ประเภทรางวัลนวัตกรรมการให้บริการในกระบวนงาน แนวทางการรักษาและแบบบันทึกโรคหืดเฉียบพลัน ทางคลินิกรามาธิบดี
(Ramathibodi Acute Asthma Clinical Practice Guideline and Clinical Record Form) โดยหน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดโดยตรง ได้พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดเฉียบพลันที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

      สำหรับการรักษาแบบเดิมนั้น ใช้แนวทางปฏิบัติในการประเมินการให้การรักษาและการจำหน่ายผู้ป่วยตามคู่มือ การดูแลรักษาโรคหืดฉบับสากล (Global Initiative for Asthma: GINA guideline) ซึ่งแม้จะได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว แต่ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและยาวเกินไป ทำให้เข้าใจและปฏิบัติได้ยาก อีกทั้ง ผู้ป่วยมักขาดการนัดหมาย ทำให้ไม่ได้รับการวางแผนการรักษาควบคุมโรคหืดให้สงบในระยะยาว ส่งผลให้โรคหืดกำเริบและต้องมารักษาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยครั้ง

        จากการพัฒนาคุณภาพการให้บริการฯ ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ ดังนี้
 
                คู่มือมีแนวทางการรักษาฯ อย่างเป็นขั้นตอน ทำให้เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งมีมาตรการในการประเมินผล

                การจัดทำแบบบันทึกผู้ป่วยที่จับหืดเฉียบพลันทางคลินิก (Acute Asthma Clinical Record Form) เพื่อนำมาใช้ควบคู่กับ Simplified Acute Asthma CPG ฉบับใหม่ ทำให้นักศึกษาแพทย์ หรือแพทย์ประจำบ้านสามารถกรอกข้อมูลตามขั้นตอนในแบบบันทึกได้อย่างครบถ้วน ซึ่งช่วยชี้นำให้ปฏิบัติตาม CPG โดยอัตโนมัติ นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การรักษาเป็นไปตาม CPG ได้ง่าย


                มีการสอนแก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับการจับหืดเฉียบพลัน เนื้อหาและวิธีการใช้ Acute Asthma CPG ฉบับใหม่ แบบบันทึกทางคลินิก การตรวจร่างกายในผู้ป่วยที่กำลังจับหืด วิธีการวัดความเร็วสูงสุดที่เป่าออกมาได้ (Peak Expiratory Flow Rate: PEFR) และเทคนิคการพ่นยา

                มีการติดตามผลของการนำ Simplified acute asthma CPG และ Acute asthma CRF ไปใช้ โดยมีดัชนีชี้วัดด้านประสิทธิภาพของการนำนวัตกรรมไปใช้ และดัชนีวัดความมั่นใจในการให้การวินิจฉัยโรค การให้การรักษา และการประเมินผลการรักษา ตลอดจนความพึงพอใจในการใช้นวัตกรรม
                           alt

     สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ นำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพ การให้บริการประชาชนประเภทรางวัลรายกระบวนงานในกระบวนงาน การบริการด้านสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ป่วยเด็กพิการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นการลดขั้นตอน ระยะเวลา และจำนวนหน่วยงานที่ต้องติดต่อในงานบริการ 4 ประเภท ดังนี้

                1.การ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ เดิมผู้รับบริการต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 4 หน่วยงาน โดยใช้ระยะเวลา 1 - 2 วัน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความลำบาก เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น ทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงประสานกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อขอให้สถาบันฯ เป็นหน่วยงานรับคำขอมีบัตรประจำตัวผู้พิการได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยใช้ระยะเวลาเพียง 25 - 30 นาที

                2.การบริการเปลี่ยนประเภทสิทธิบัตรประกันสุขภาพเป็นคนพิการในฐานข้อมูลของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดิมผู้พิการต้องเดินทางไปโรงพยาบาลภูมิลำเนา เพื่อทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ด้วยตนเอง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วันทำการ ทางสถาบันฯ จึงประสานกับสำนักงานหลักประกันฯ ให้ส่งข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ฯ ได้ทางโทรสาร โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง โดยใช้ระยะเวลา 1 - 2 วันทำการ

               3.การบริการตรวจสอบและรับรองสิทธิบัตรประกันสุขภาพคนพิการ เดิมมีขั้นตอนในการขอรับบริการมากถึง 8 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลารอคอย 4 ชั่วโมง และใช้เอกสารประกอบการใช้สิทธิ์ถึง 6 ชุด ทางสถาบันฯ จึงได้ลดขั้นตอนการรับบริการเหลือ 5 ขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการรวมระยะเวลารอคอยเหลือเพียง 2 ชั่วโมง และลดการใช้เอกสารประกอบการใช้สิทธิ์เหลือ 1 ชุด รวมทั้ง สถาบันฯ ได้เปิดช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ
                           altalt                  alt
              4.การส่งต่อเครือข่ายทางด้านสวัสดิการสังคม เดิมผู้ป่วยต้องถือหนังสือที่สถาบันออกให้ไปติดต่อหน่วยงานด้านสวัสดิการ สังคมต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ส่งผลให้ไม่ไปดำเนินการติดต่อ รวมทั้งยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือได้จริง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ เมื่อประเมินปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ปรับปรุงการให้บริการ โดยประสานงานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนก่อนให้ผู้ป่วยไปติดต่อกับหน่วย งานนั้นๆ พร้อมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินการอีกด้วย

      กรมปศุสัตว์ นำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนใน 2 กระบวนการ คือประเภทนวัตกรรมการให้บริการในกระบวนงาน การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ (e-signature)/ย้ายสัตว์ง่ายแค่ปลายนิ้ว ของสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และประเภทภาพรวมกระบวนงานในกระบวนงาน การให้บริการงานด้านสุขภาพสัตว์แบบบูรณาการ ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
alt
   กระบวนงาน การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ (e-signature)/ย้ายสัตว์ง่ายแค่ปลายนิ้ว เป็นการพัฒนากระบวนการขอและออกใบอนุญาตฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์ หรือผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม และการผลิตปศุสัตว์จากสถาบันตรวจสอบที่นานาชาติให้การยอมรับ สามารถยื่นคำขอใบอนุญาตผ่านทางอินเตอร์เน็ตบนเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ (www.dld.go.th/ict/eservice) และสามารถพิมพ์ใบอนุญาตที่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์แล้ว ได้ด้วยตนเอง

   การให้บริการแบบเดิมนั้น เกษตรกร ผู้ประกอบการต้องเดินทางมาสำนักงานปศุสัตว์ เพื่อยื่นแบบคำขออนุญาตและรับใบอนุญาตด้วยตนเอง ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบสัตว์ ต้นทางก่อนการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง หากมีผู้มายื่นขออนุญาตจำนวนมากจะต้องรอคิวเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เป็นเวลานาน เนื่องจากจำนวน เจ้าหน้าที่ฯ ในพื้นที่จำกัด ส่งผลให้การตรวจสอบต้นทางไม่ทั่วถึงและไม่เข้มงวด รวมทั้งเกิดความล่าช้าในการออกใบอนุญาตและการเคลื่อนย้าย และถึงแม้ว่าเกษตรกร ผู้ประกอบการจะได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์แล้ว ก็ยังต้องถูกตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้เกษตรกรหลายรายไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐาน และก่อให้เกิดการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์อยู่เสมอ

         จากการพัฒนากระบวนงานการออกใบอนุญาตฯ ทำให้ได้รับประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

                ผู้ขอรับบริการที่ได้รับอนุญาตและการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์แล้ว สามารถดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเคลื่อนย้ายฯ ได้ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ จากนั้น เจ้าหน้าที่ฯ จะตรวจสอบ พิจารณาคำขอ และแจ้งคำอนุมัติผ่านระบบไปยังผู้ขอรับบริการ โดยผู้ขอรับบริการสามารถพิมพ์ใบอนุญาตได้ด้วยตนเอง ทำให้สะดวก รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์คำขออนุญาต และใบอนุญาตเคลื่อนย้ายฯ ของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร ผู้ประกอบการรายอื่นที่ยังไม่ได้มาตรฐานไปปรับปรุงฟาร์มให้ได้รับมาตรฐานตาม ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ส่งผลต่อระบบการควบคุมและการพัฒนาสุขสัตว์ของประเทศดีขึ้น และลดปัญหาการเกิดโรคระบาดสัตว์

                เป็นการลดภาระการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เนื่องจากการลดขั้นตอนกระบวนงานการตรวจสอบสัตว์ต้นทาง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการงานด้านอื่นๆ แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายอื่นได้มากขึ้น

                ทำให้กรมปศุสัตว์มีข้อมูลการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ที่ถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น จึงสามารถนำไปวางแผนและดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ารวมทั้ง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศและสามารถบริหาร จัดการเวลาที่จะทำการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ได้ล่วงหน้า
                alt           alt
    สำหรับ กระบวนงานการให้บริการงานด้านสุขภาพสัตว์แบบบูรณาการ เป็นการบูรณาการงานให้บริการด้านสุขภาพสัตว์ ได้แก่ งานชันสูตรโรคสัตว์ งานตรวจสุขภาพสัตว์ งานทดสอบโรคสัตว์ และการให้คำปรึกษา พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคของสัตว์แก่เกษตรกร โดยเปิดให้บริการทั้งที่สำนักงาน และจัดทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ

     เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมเป็นระบบบันทึกในสมุดบันทึกและไม่เป็น ระบบเดียวกันระหว่างสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการ สัตวแพทย์ (ศวพ.) ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ทำให้เสียเวลาและเกิดความผิดพลาดได้สูง การนำข้อมูลไปประมวลผลประกอบการวิเคราะห์สภาวะโรคต่างๆ ทำได้ยาก ไม่มีกำหนดระยะเวลาการตอบรายงานผลการทดสอบโรคในห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน ทำให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์ ประกอบกับห้องปฏิบัติการยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงได้มีการบูรณาการงานให้บริการเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานการให้บริการ ดังนี้

                พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลสุขภาพสัตว์ทางห้องปฏิบัติการ Animal Health Information Program: AHIP ให้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างห้องรับตัวอย่าง ห้องปฏิบัติการ และห้องกลุ่มระบาดวิทยาทั่วประเทศ ทำให้การเก็บข้อมูลได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ ส่งผลให้สามารถลดระยะเวลาการให้บริการได้ ดังนี้ ระยะเวลารับตัวอย่างจาก 30 นาที/ราย เป็น 14 นาที/ราย ระยะเวลาตอบผลและส่งให้เกษตรกร จาก 5 วัน เป็น 1 วัน และงานชันสูตร จาก 21 วัน เป็น 10 วัน ซึ่งเป็นข้อมูลเฉลี่ยจากศูนย์ทุกแห่ง

                สร้างมาตรฐานวิธีการตรวจวินิจฉัยชันสูตรโรคสัตว์ โดยผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025: 2005 ซึ่งเป็นระบบวินิจฉัยชันสูตรโรคสัตว์ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health: OIE) ให้การยอมรับ ทำให้การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และชันสูตรโรคสัตว์เป็นไปตามหลักวิชาการ เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากล

                จัดตั้งทีมสัตวแพทย์บริการเคลื่อนที่ โดยมีนายสัตวแพทย์ทางกลุ่มระบาดวิทยาและกลุ่มทางปฏิบัติการออกพื้นที่ช่วย เหลือเกษตรกร ทำให้แก้ปัญหาเร่งด่วนได้ทันท่วงที

                จัดตั้งเครือข่ายด้านวิชาการสุขภาพสัตว์ โดยถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดเก็บและส่งตัวอย่างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เกษตรกรสามารถรวบรวมตัวอย่างส่งผ่านทางเครือข่ายฯ ของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาส่งด้วยตนเอง


                                   alt                 alt



ลลิดา (สลธ.)/ ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.)/รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ/จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 22 ธันวาคม 2554 10:15:02 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 22 ธันวาคม 2554 10:30:36
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th