หลักเกณฑ์และแนวทางการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) จัดทำแนว
ทางและหลักเกณฑ์การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด
และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
ทั้งนี้ แนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด
และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ก.น.จ. แล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 26
กันยายน 2554
โดยได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมจากแนวทางและหลักเกณฑ์เดิมในบางประเด็น
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้
ดังนี้
หลักการ
1. กรอบหลักในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประกอบ
ด้วย นโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน
แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค
ยุทธศาสตร์รายสาขา ผลการศึกษาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
และในส่วนของจังหวัดให้บรรจุแผนงานด้านความมั่นคงไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดด้วย
2. มุ่งเน้นการทำงานแบบเครือข่ายร่วมกันทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงความพร้อมของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการในส่วนกลางและภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนถึงภาคเอกชน
3. รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด โดย
ใช้กระบวนการประชาคมชุมชน เพื่อพิจารณาปัญหาและความต้องการของประชาชน
รวมทั้งนำข้อมูลตามผุมชนมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่ม
จังหวัดด้วย
4. ให้ความสำคัญในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้มากขึ้น
ขอบเขตการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
1. แผนพัฒนาจังหวัด :
มุ่งการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ สังคม
ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
สร้างโอกาสและอาชีพซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัด
2. แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด :
มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัด
และนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและสร้างรายได้ให้กลุ่ม
จังหวัด
แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
1. ความสอดคล้องเชื่อมโยง กับ
นโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค ยุทธศาสตร์รายสาขา และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
รวมทั้งสอดคล้องกับศักยภาพ โอกาส สภาพปัญหา
และความต้องการของประชาชนในพื้นที่
2. คุณภาพของแผน
ต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ต้องมีความชัดเจน
ความเห็นเหตุเป็นผล สอดคล้องเชื่อมโยงตั้งแต่วิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์
เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ (Logical
Framework) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) มีการกำหนดประเด็นปัญหาและโอกาสการพัฒนาชัดเจน
ทั้งในเชิงของขนาด และพื้นที่
พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและโอกาสการพัฒนานั้น ๆ
2)
มีวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ชัดเจน
สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหา
และการใช้โอกาสในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
3) มีประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
และการแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผน
โดยในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์จะต้องมีการหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อยืนยัน
ประเด็นยุทธศาสตร์นั้น ๆ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน
4) มีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นยุทธศาสตร์
5) มีแผนงาน/โครงการ ตอบสนองกับแนวทางพัฒนานั้น ๆ และมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ
แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
1. แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่ม
จังหวัด
รวมทั้งกรอบของแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
2. กำหนดโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินการในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์
และแสดงให้เห็นถึงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละ
โครงการชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และสนับสนุนกันระหว่างกระทรวง กรม จังหวัด
กลุ่มจังหวัด ท้องถิ่น และภาคธุรกิจเอกชน
โดยกำหนดว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินโครงการนั้น ๆ
เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวนำไปใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณหรือจัดงบประมาณ
สนับสนุนและดำเนินกิจการของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดต่อไป
3.
โครงการที่ดำเนินการโดยจังหวัด/กลุ่มจงหวัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของ
จังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ซึ่งจะจัดทำเป็นคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะต้องอยู่ในแนวทาง
ดังนี้
3.1 เป็นโครงการที่ต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด สำหรับโครงการของกลุ่มจังหวัดจำเป็นต้องมีการหารือและยอมรับร่วมกันของจังหวัดในกลุ่ม
3.2 ความจำเป็นของโครงการ ต้อง
เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
และหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหาย หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
และนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน
และสร้างรายได้ให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด
3.3 ความเหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการ ทั้ง
ด้านเทคนิค (วิธีการหรือรูปแบบที่ใช้ในการดำเนินการ) ด้านกายภาพ
(ความพร้อมของพื้นที่ดำเนินงาน บุคลากร การบริหารความเสี่ยง
และการบริหารจัดการ) ด้านงบประมาณ
(ความสมเหตุสมผลของวงเงินกับประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ)
ด้านระยะเวลา (ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ)
และมีการวิเคราะห์ผลกระทบทางลบในการดำเนินโครงการ
3.4 ความคุ้มค่า ผลลัพธ์
หรือประโยชน์ของโครงการที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม
ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง
โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่กระทบในส่วนของประชาชนในพื้นที่
3.5 ลักษณะโครงการที่จะนำมาจัดทำเป็นคำของบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้นำนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 มาเป็นกรอบในการจัดทำโครงการ
3.6 ข้อมูลรายละเอียดโครงการในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
1) โครงการต้องมีรายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วนตามแบบฟอร์มที่ ก.น.จ. กำหนด
2)
โครงการต้องมีรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายที่ ก.น.จ.
ด้านแผนและด้านงบปราณสามารถพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายได้
หากไม่มีรายละเอียดค่าใช้จ่าย
ให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัดจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายและนำเสนอโครงการเพื่อ
พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
3) กรณีเป็นการขออนุมัติงบลงทุน
หรือรายจ่ายอื่นใดที่มีผลให้เกิดภาระด้านงบประมาณในลักษณะของค่าใช้จ่ายที่
จะต้องตั้งงบประมาณทุกปี เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ
ด้านการบำรุงรักษา
ให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัดแสดงถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิด
ขึ้นในปีต่อไป
รวมทั้งต้องมีร่างบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัดกับหน่วยงานดังกล่าวในการขอ
ตั้งงบประมาณ และการโอนทรัพย์สินที่เกิดจากการดำเนินโครงการต่อไป
4) กรณีเป็นโครงการก่อสร้างจะต้องระบุความพร้อมของพื้นที่ดำเนินงาน รวมทั้งรูปแบบรายการโดยสังเขป
5) การจัดทำโครงการจะต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่เป็นหน่วยดำเนินโครงการนั้น
ทั้งนี้ รายละเอียดของ
แนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด
และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.opdc.go.th
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
สำนักงานเลขานุการ ก.น.จ. / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2554 10:40:59 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2554 10:40:59