สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2554
เรื่อง สู่ ๑ ทศวรรษพัฒนาระบบราชการ
สำนักงาน ก.พ.ร. จัด การประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2554 เรื่อง สู่ ๑ ทศวรรษพัฒนาระบบราชการ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายก
รัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบนโยบายการพัฒนาระบบราชการ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องเจ้าพระยา 1 - 2 ชั้น 2
หอประชุมกองทัพเรือ
เนื่องในโอกาส
ครบรอบ 9 ปีของการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.
2545 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554
ซึ่งเป็นเสมือนวันครบรอบของการพัฒนาระบบราชการไทย เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2
ฉบับดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของระบบราชการไทยที่ได้มีการ
ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารราชการมาสู่ระบบการบริหารราชการยุคใหม่ที่มีขีด
สมรรถนะสูงขึ้น
และมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ สำนักงาน
ก.พ.ร.
ในฐานะหน่วยงานทีมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบราชการ
ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการขึ้น ในหัวข้อเรื่อง สู่ ๑ ทศวรรษพัฒนาระบบราชการ
การสัมมนาทางวิชาการในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบนโยบายการพัฒนาระบบราชการ โดย
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีทีได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารและข้าราชการ
ของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ
ของรัฐบาล และขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน
และชื่นชมการดำเนินการในการพัฒนาระบบราชการซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ
นายก
รัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า
รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
หรือการทำงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล
ซึ่งเป็นการต่อยอดการปฏิรูประบบราชการที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545
และได้แถลงไว้อย่างชัดเจนในนโยบายรัฐบาลทั้ง 8 ข้อ โดยเฉพาะในข้อ 8
ซึ่งเป็นนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
โดยมีสรุปเรื่องสำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัตถุประสงค์การทำงานร่วมกัน
ดังนี้
1. การบริหารด้วยการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง การ
บริหารบ้านเมืองต้องเป็นไปเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน
เพราะเงินเดือนของข้าราชการมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น
ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนได้รับในสิ่งที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
การสร้างรายได้ให้ประชาชนลงไปถึงระดับครัวเรือน
ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ดังนั้น การทำงานต่าง ๆ
จึงต้องเน้นการทำงานเชิงรุก เน้นคุณภาพการบริการ
เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญ
ผู้ที่มาร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้
จะเป็นกลไกสำคัญและเป็นสื่อกลางในการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่ประชาชน
และเป็นสื่อกลางในการนำความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่มาบอกกับรัฐบาล
เพื่อจะได้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างภาครัฐ
ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน
โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
มีรายได้ดีขึ้น และที่สำคัญ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งภาพรวม คือ
ทุกคนในสังคมไทยมีความสุข
2. การแก้ไขปัญหาจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่ง
เป็นการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Holistic Approach
คือ การรวมศูนย์ทุกอย่างในการทำงาน
เนื่องจากปัญหาในสังคมไทยมีความสลับซับซ้อน และมีเรื่องที่ต้องทำมาก
จึงต้องมีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ดังนั้น การบูรณาการ คือ
การรวมศูนย์เพื่อตอบสนองความต้องการไปยังประชาชน
มีเจ้าภาพในการทำงานที่ชัดเจน โดยจะมองการบูรณาการเป็น 2 ช่วง คือ
การบูรณาการในระดับนโยบายหรือกลยุทธ์
เพื่อให้เกิดความคิดที่สอดคล้องต้องกันและเห็นชอบพร้อมกัน
จากนั้นจึงนำไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยผ่านลงไปทางกระทรวงต่าง ๆ
หรือผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ
โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่รับการบูรณาการจาก
ทุกกระทรวงและนโยบายจากส่วนกลาง
ซึ่งสิ่งที่ต้องการเห็นในการบูรณาการส่วนของจังหวัด คือ
การบูรณาการทุกภาคส่วนในจังหวัดให้ขับเคลื่อนไปได้เร็วในระดับพื้นที่
หลายนโยบายที่ต้องการการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ เช่น
การเพิ่มศักยภาพของโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP
นั่นคือการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้ความสามารถของชาวบ้าน
ความรู้ในเรื่องวิทยาการจากทุกหน่วยงาน
เพื่อก่อให้เกิดรายได้กลับมายังชุมชน การผลักดันเรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้าน
หรือ SML ซึ่งทั้งสองนโยบายดังกล่าวจะมีความสำคัญ
เพราะขณะนี้ประชาชนประสบปัญหาภัยน้ำท่วม
ซึ่งต้องมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรในการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น
การผลักดันนโยบายกองทุนหมู่บ้านจะทำให้ประชาชนสามารถนำเงินกองทุนไปปรับวิถี
ชีวิตและสร้างอาชีพใหม่ได้ หรือในส่วนของ SML
คือการทำให้มีเงินในระบบเพื่อช่วยพัฒนายังท้องถิ่น
ฟื้นฟูสภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญและต้องการการทำงานในระบบบูรณาการทั้งสิ้น
3. การทำงานให้มีความโปร่งใส และต่อต้านการทุจริตคอรัปชันในวงราชการ ซึ่ง
เป็นพารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะต้องร่วมกันเข้ามาแก้ไข
เพื่อให้กลไกของราชการเป็นที่เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ซึ่งในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาว่า ใน
จะทำอย่างไรจึงจะสร้างการตื่นตัวในทุกหน่วยราชการ
ในการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ให้เกิดการโปร่งใส
และดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
อันจะทำให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้
4. การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการบ้านเมือง การ
ที่จะเข้าใจถึงปัญหาของประชาชนได้
ต้องมีเวทีเพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วม
ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งสองส่วน คือ
เราจะได้เข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกันเราก็จะได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความต้องการของราชการ
เพราะบางครั้งการทำงานมีอุปสรรค ต้องอาศัยการสื่อสารที่ชัดเจน
และมีการสื่อสารแบบสองทาง หรือ Two-Way Communication
จะทำให้การทำงานเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นใจกัน
และเดินประคองไปด้วยกันด้วยดี
5. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานภาคราชการ ปัจจุบัน
เทคโนโลยีต่าง ๆ มีความสำคัญมาก
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ในโลกอนาคต
จึงควรมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในภาคราชการให้มาก
ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้น
ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนกำลังของคนหรือทรัพยากรบุคคล
แต่เทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สะดวกขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น SMART Card
ซึ่งเป็นตัวอย่างของการรวมศูนย์เชื่อมข้อมูลต่าง ๆ จากทุกกระทรวง
เพื่อให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. การปรับลดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐให้เหมาะสม เพราะ
ในปัจจุบันปัญหาบ้านเมืองมีการพัฒนาไปมาก ดังนั้น
ทุกส่วนงานต้องถ่ายโอนงานให้กับภาคเอกชน โดยพิจารณาว่า
งานใดที่ที่ภาครัฐทำแล้วมีประสิทธิภาพและศักยภาพ ก็ขอให้ทำต่อไป
แต่งานใดที่ภาคเอกชนทำได้ดีกว่า ดูแลได้ทั่วถึงกว่า
ก็ควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนรับไปทำ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทั้งสองมุม
ว่ามุมใดทำแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
7. รัฐบาลต้องการเห็นระบบราชการที่ทำงานในเชิงรุก การ
เตรียมระบบราชการให้พร้อมรับกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
และมีการเปลี่ยนถ่ายต่าง ๆ โดยที่ขณะนี้ระบบราชการทำงานเชิงรุกได้อยู่แล้ว
ซึ่งเป็นเรื่องดี และขอสนับสนุนให้ทำต่อไปเพื่อก้าวสู่เวทีอาเซียน
ต้องพิจารณาว่าทุกส่วนภาครัฐจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ทำงานอย่างไร
รวมทั้งต้องสื่อสารกับประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะเตรียมตัวอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของอาเซียน ซึ่งจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ
เช่น
ความมั่นคงทางด้านของเศรษฐกิจที่จะย้ายความเจริญเข้ามาสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น
ความมั่นคงทางสังคม ซึ่งทุกวันนี้เรามีสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น
จะทำอย่างไรให้สังคมผู้สูงอายุดีขึ้น ความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาเรื่องมลพิษ
ทำอย่างไรเพื่อให้สังคมนิเวศน์มีความยั่งยืนมากขึ้น การหาพลังงานทดแทน
การต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
หรือเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน
เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้
ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า การทำงานระบบราชการเชิงรุก ทั้งนี้ ขอให้ทำงานใน 2
มิติ คือ มิติที่ 1
ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนในการตอบโจทย์ของประชาชนอย่างเต็มที่
และมิติที่ 2 คือ การสร้างความพร้อมในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า
ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร
และวางแผนการทำงานของทุกหน่วยราชการเพื่อให้การเกิดการทำงานที่มีการเตรียม
ตัวอย่างเต็มที่และมีความพร้อมในทุก ๆ มิติ
8. การสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ เป็น
เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
เนื่องจากข้าราชการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ
และสร้างความสุขให้กับประชาชน เปรียบเสมือนเสาหลัก เป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวให้กำลังใจกับข้าราชการทุกคน
ซึ่งทำงานอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม
ข้าราชการมีภาระที่จะต้องดูแลและทำงานให้กับประชาชน พร้อมกันนี้
นายกรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักงาน ก.พ.ร.
ดูแลสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการทุกคน
รวมทั้งดูแลเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนที่สะท้อนการทำงาน
ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและให้กำลังใจทุกคน เพราะเป็นภาระที่หนัก
และเป็นภาระที่มีความสำคัญต่อประเทศ
ซึ่งการที่จะส่งมอบความสุขให้กับประชาชนได้
ข้าราชการก็ต้องมีความสุขด้วยเช่นกัน จึงเป็นสิ่งที่ขอฝากให้สำนักงาน
ก.พ.ร. รับไปดำเนินการ นอกจากนี้ ขอให้คณะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลข้าราชการ
ให้กำลังใจ
และส่งเสริมคนดีคนเก่งในการทำงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในระบบราชการต่อไป
ใน
ช่วงท้ายของการมอบนโยบายการพัฒนาระบบราชการ
นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 2493 ที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม มาเป็นเป้าหมายการทำงาน คือ
การสร้างความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชน ในฐานะของข้าแผ่นดิน
โดยจะมาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีด้วยการปฏิบัติหน้าที่ราชการร่วมกัน
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ
หลังจากการมอบนโยบายการพัฒนาระบบราชการของนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสวนาเรื่อง การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารกิจการบ้านเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย
1. นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
2. นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
3. นายสมประสงค์ บุญยชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. รศ. วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
5. รศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.เนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ดำเนินรายการ
สำหรับในช่วงบ่าย เป็นการเสวนากลุ่มย่อย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 การเสวนา เรื่อง ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการบริหารกิจการบ้านเมือง
กลุ่มที่ 2 การเสวนา เรื่อง การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น : กรณีการจัดทำสัญญาโครงการ (Contrat de Projets Etat/Region)
กลุ่มที่ 3 ผลการสำรวจวิจัย เรื่อง ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ
นอกจากนี้
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาค
ส่วนอื่น ๆ อาทิ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นต้น
รวมทั้งยังมีการนำงานบริการของส่วนราชการและองค์การมหาชนมาเปิดให้บริการกับ
ผู้ที่สนใจ ได้แก่ บริการตรวจสุขภาพตาของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)
การให้บริการเปลี่ยนใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นรูปแบบใหม่ (บัตรแถบแม่เหล็ก)
ของกรมการขนส่งทางบก และการให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน
ของกรมการปกครอง
สำหรับสรุปสาระสำคัญของการเสวนาในแต่ละหัวข้อนั้น สามารถติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
สำนักนวัตกรรมฯ / ข้อมูล
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ภาพ
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 11 ตุลาคม 2554 10:21:48 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 11 ตุลาคม 2554 10:21:48