สมาชิกเครือข่ายการประเมินของประเทศไทยศึกษาดูงาน
การประเมินองค์กรของหน่วยงานราชการ
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ต้อนรับสมาชิกเครือข่ายการประเมินของประเทศไทย (The Thailand Evaluation Network: The TEN) ที่มาศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเรื่อง การประเมินองค์กรของหน่วยงานราชการ โดยมี นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ให้การต้อนรับและบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ ห้องประชุมฝ่ายบริหาร ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.
เครือข่ายการประเมินของประเทศไทย (The Thailand Evaluation Network: The TEN) เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของสถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)
โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนายกระดับการประเมินในประเทศไทย
เพื่อใช้เป็นกลไกในการปรับปรุงนโยบาย โครงการ แผนงาน
และยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชน และเนื่องจากสำนักงาน
ก.พ.ร. มีภารกิจหลักประการหนึ่งคือ
การติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานราชการ ดังนั้น สมาชิก The
TEN จึงมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้
นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ได้บรรยายในหัวข้อ การประเมินองค์กรของหน่วยงานราชการ
โดยกล่าวถึงกรอบการดำเนินการซึ่งใช้เป็นแนวทางในการประเมินองค์กรของหน่วย
งานราชการ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.
2546 และ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555)
ซึ่งกล่าวถึงการใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good Governance
เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ
จากกรอบ
การดำเนินการดังกล่าว
นำไปสู่การประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ
ซึ่งมีกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.
2554 แบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านประสิทธิผล
มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพ และ
มิติด้านการพัฒนาองค์การ
พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector
Management Quality Award: PMQA)
ซึ่งเป็นกรอบการบริหารจัดการองค์การที่สำนักงาน ก.พ.ร.
ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการนำไปใช้ในการประเมินองค์การด้วยตนเอง
ที่ครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ
เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานราชการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่อง
ครอบคลุมทั้ง 7 หมวด ประกอบด้วย
หมวด 1 การนำองค์การ
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์
หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ
หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ
ทั้งนี้ เมื่อส่วนราชการได้มีการนำเกณฑ์ PMQA
ไปใช้ในการประเมินและปรับปรุงองค์การเพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการ
องค์การแล้ว ก็จะพัฒนาไปสู่การสมัครขอรับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
(PMQA) ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาฯ สุพรรณียังได้
กล่าวถึง คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.)
ซึ่งทำหน้าที่วางนโยบาย แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลในภาคราชการ
รวมถึงตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ
เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจแก่สาธารณชน
โดยจะมีการรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการระหว่างปี (รอบ 6 เดือน)
และประจำปี (รอบ 12 เดือน)
ที่ปรึกษาฯ
สุพรรณีกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบูรณาการระบบการประเมินผลของหน่วยงานกลาง
ให้เป็นเอกภาพ เพื่อลดภาระการจัดทำรายงานของส่วนราชการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ
โดยแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติภายนอก (External Impacts) และ มิติภายใน
(Internal Management)
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 19 กรกฎาคม 2554 14:08:53 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 19 กรกฎาคม 2554 14:08:53