สำนักงาน ก.พ.ร. นำกลุ่มพัฒนาระบบบริหารของกระทรวงและกรม
ศึกษาดูงาน การให้บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนาเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ เรื่อง การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนำหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารระดับกระทรวงและกรม ไปศึกษาดูงานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยแบ่งคณะศึกษาดูงานเป็น 6 กลุ่ม เพื่อศึกษาดูงานการบริหารจัดการที่ดีใน 6 งาน
หนึ่งในการงานบริหารจัดการที่ดีที่กลุ่มพัฒนาระบบบริหารระดับกระทรวงและกรมได้ไปศึกษาดูงานในครั้งนี้คือ การศึกษาดูงาน การให้บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะศึกษาดูงานได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงานเพื่อปรับบทบาทของข้าราชการตำรวจในการดูแลและพิทักษ์ประชาชน ผ่านการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นจนได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน จากสำนักงาน ก.พ.ร. ได้แก่
สถานีตำรวจต้นแบบ : สถานีตำรวจนครบาลบุคคโล การผัดฟ้องและฝากขังผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริการด้วยใจภายใน 24 นาที โครงการรักษ์ตาน้อง : การรักษาโรคตาขี้เกียจในเด็ก ของโรงพยาบาลตำรวจ
|
|
การศึกษาดูงาน ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.ท. จิโรจน์ ไชยชิต ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชา และผู้บริหารของหน่วยต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ โดยนอกจากจะมีการจัดนิทรรศการเพื่อแนะนำงานทั้ง 4 งานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการบรรยายสรุป ณ ห้องประชุมซึ่งใช้เป็นศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.ท. จิโรจน์ ไชยชิต ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน และกล่าวถึงการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการมาโดยตลอด ซึ่งทำให้ผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาและปรับปรุงงานบริการในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการปรับปรุงสถานีตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้รับความพึงพอใจจากผู้มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการพัฒนาระบบงานและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ จนได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป
ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังได้กล่าวถึงศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมในครั้งนี้ว่า ในเวลา 10.00 น. ของทุกวัน จะมีการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลกับกองบัญชาการต่าง ๆ ทั่วประเทศ 10 กองบัญชาการ และแต่ละกองบัญชาการจะทำการประชุมทางไกลต่อไปยังจังหวัดทุกจังหวัด ดังนั้น ในเวลาดังกล่าวจะมีการประชุมพร้อมกันทั่วประเทศเพื่ออำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการในการเลือกตั้ง ซึ่งในการศึกษาดูงานครั้งนี้ก็ได้มีการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลกับ พล.ต.ต.พิเชษฐ วัฒนลักษณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย
จากนั้นเป็นการบรรยายสรุปถึงการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความโดดเด่น จนได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน โดยผู้บังคับบัญชาและผู้แทนของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้
สถานีตำรวจต้นแบบ : สถานีตำรวจนครบาลบุคคโล
|
จากนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี 2549 ที่จะผลักดันการปฏิรูประบบงานตำรวจ เพื่อให้สถาบันตำรวจได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา จากประชาชน จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจขึ้น เพื่อปฏิรูประบบงานของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ โดยมี 4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถานีตำรวจทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. การปรับปรุงสถานีตำรวจให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้บริการที่ดีแก่ประชาชน
2. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
3. การปรับปรุงระบบงานสอบสวน
4. การตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแนวทางการปฏิรูป โดยใช้สถานีตำรวจนครบาลบุคคโลเป็นสถานีตำรวจต้นแบบ หรือทดลองเพื่อปรับปรุงระบบงานบริการประชาชนที่สถานีตำรวจ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ตามแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์การพัฒนาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลักสำคัญในการพัฒนา คือ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนในสถานีตำรวจให้เกิดความพร้อม ดังนี้
1. กำหนดแนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยเริ่มจากการพัฒนาสุขภาพใจ ควบคู่กับการพัฒนาสุขภาพกาย การพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะการให้บริการแนวใหม่ การสร้างและปรับวัฒนธรรมการให้บริการใหม่ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร การปรับปรุงสภาวะแวดล้อมของสถานีตำรวจ
2. วางแนวทางไปสู่การปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ได้แก่
2.1 ด้านการอำนวยความยุติธรรม โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วม และเข้าถึงในกระบวนการยุติธรรมได้ดีขึ้นกว่าเดิม
2.2 ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการนำกระบวนทัศน์การป้องกันอาชญากรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างเครือข่ายประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ มาผสมผสานกับการป้องกันปราบปรามเชิงรุกและการบูรณาการ รวมทั้งการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน อาทิ CCTV GPS เป็นต้น
2.3 ด้านการอำนวยการจราจร โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการเน้นบังคับใช้กฎหมาย ปรับจุดเน้นเป็นกระบวนทัศน์แบบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาจราจร
2.4 ด้านการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ณ สถานีตำรวจต่าง ๆ โดยปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน และทัศนคติของตำรวจ ให้มีวัฒนธรรมการให้บริการ และปฏิบัติต่อประชาชนผู้มารับบริการ เสมือนญาติพี่น้องและครอบครัวเดียวกัน โดยยึดมั่นคำขวัญที่เป็นพันธสัญญาประชาคมว่า บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว รวมทั้งการนำระบบ One Stop Service หลักการ Service Mind หลักการ Result Based Management การลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริการที่สถานี เพื่อสร้างความพึงพอใจและความประทับใจให้กับประชาชน
จากการดำเนินการดังกล่าวจะเห็นว่า สถานีตำรวจนครบาลบุคคโลได้พัฒนางานด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และการให้บริการกับประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน และทัศนคติของตำรวจ เน้นหลักประสิทธิภาพควบคู่กับหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการนำแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาพัฒนาระบบงานด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการให้บริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากตำรวจด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างเสมอภาค ส่งผลให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจต่อการให้บริการของตำรวจ และตำรวจมีภาพลักษณ์ที่ดีในหมู่ประชาชน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวทำให้สถานีตำรวจนครบาลบุคคโลได้รับรางวัลสถานีตำรวจเพื่อประชาชนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง 3 ปีติดต่อกัน
และจากความสำเร็จดังกล่าว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้กำหนดเป็นนโยบายการปฏิรูประบบงานสถานีตำรวจ ในปี พ.ศ. 2553 โดยจัดทำเป็นโครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชน ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 - 2555 โดยให้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศนำแนวทางการพัฒนาจากการทดลอง ไปดำเนินการพัฒนาระบบบริการสถานีตำรวจให้เกิดผลดีต่อประชาชน โดยวางเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริการด้วยใจภายใน 24 นาที
|
ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้จัดทำโครงการ DT-24 ซึ่งย่อมากจาก Departure Team 24 Minutes โดยหมายถึง การใส่ใจในการให้บริการผู้โดยสาร โดยความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขาออกทุกคน ที่จะทำการตรวจผู้โดยสารนับแต่เข้ามารอคอยในพื้นที่รอรับการตรวจหนังสือเดินทาง จนแล้วเสร็จไม่เกิน 24 นาที
จากสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานของฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ที่ทำหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งในบางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่น ประกอบกับข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น กำลังพลของเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ พื้นที่จำกัด การกรอกเอกสารไม่เรียบร้อยทำให้ต้องเสียเวลาแก้ไขเพิ่มเติม เที่ยวบินขาออกออกเดินทางในเวลาใกล้ ๆ กัน เป็นต้น ทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลานานในการรอรับการตรวจหนังสือเดินทาง นอกจากนี้ การที่ผู้โดยสารไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอนว่าจะได้รับการตรวจหนังสือเดินทางเสร็จสิ้นเมื่อใด หรือจะสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ตามกำหนดเวลาของเที่ยวบินหรือไม่ ส่งผลให้ผู้โดยสารขาดความพึงพอใจต่อการบริการของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเกิดภาพลักษณ์ลักษณ์ที่ไม่ดีต่อหน่วยงาน
ด้วยเหตุนี้ โครงการ DT-24 จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 และ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และได้มีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการตรวจหนังสือเดินทางที่แน่นอนชัดเจนให้ผู้โดยสารทราบ และสร้างความร่วมมือร่วมใจของข้าราชการตำรวจในสังกัด ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด และแบ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็น 4 ผลัด มีการแบ่งพื้นที่การตรวจหนังสือเดินทาง โดยกำหนดให้ดำเนินการตรวจหนังสือเดินทางให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 24 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์แล้วว่า เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว
ในการดำเนินการนั้น ได้มีการทำความเข้าใจกับข้าราชการตำรวจในสังกัด ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออกฯ ให้ทราบถึงโครงการ DT-24 และปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในการทำงานและมีจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจในการทำงานโดยการประเมินคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานดีเด่นให้ไปศึกษาดูงานการตรวจหนังสือเดินทางของประเทศฮ่องกง การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงงานบริการให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาประสิทธิภาพของการตรวจหนังสือเดินทาง ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ การจัดทำเสื้อ T-Shirt ให้เจ้าหน้าที่สวมใส่ทุกวันที่ 24 ของเดือน ตลอดปี 2553 เพื่อรณรงค์โครงการและกระตุ้นจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่
นอกจากการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ยังได้มีความพยายามในการลดความคับคั่งของผู้โดยสารด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การแปลบัตร ตม. ขาเข้าและขาออกเป็นภาษาต่าง ๆ 8 ภาษา (ไทย เกาหลี พม่า รัสเซีย อารบิค กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย เพื่อให้เข้าใจและสามารถกรอกข้อมูลได้อย่างถูกต้อง การประสานขอให้เจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานซึ่งทำหน้าที่ Airport Ambassador มาช่วยตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นก่อนเข้ารับการตรวจ การจัด ตม.อาสา/นักศึกษาฝึกงานเพื่อช่วยให้คำแนะนำกับผู้โดยสาร การจัด Priority Lane สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนพิการ การเหลื่อมเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมากขึ้นในช่วงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น โดยการหาข้อมูลการเดินของผู้โดยสาร ว่าช่วงเวลาใดเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เสริมในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งการจัดให้เจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานในวันหยุดโดยมีค่าตอบแทนพิเศษซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่าอากาศยาน
โครงการ DT-24 (Departure Team 24 Minutes) เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของข้าราชการตำรวจในสังกัด ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่จะพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อก้าวไปสู่การบริการมาตรฐานสากล อันจะส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้โดยสาร และภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานและประเทศชาติ ซึ่งจากการประเมินผลการดำเนินโครงการ DT-24 พบว่า ผู้โดยสารมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 88.55%
โครงการรักษ์ตาน้อง : การรักษาโรคตาขี้เกียจในเด็ก ของโรงพยาบาลตำรวจ
|
โรคตาขี้เกียจ เป็นโรคที่เกิดจากระบบการมองเห็นของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์ ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงอย่างถาวร และเนื่องจากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งไม่สามารถรู้หรือบอกได้ว่าตนมีอาการตามัว ทำให้ผู้ปกครองไม่ได้นำเด็กไปรับการตรวจวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆ ซึ่งกว่าจะรู้ผู้ป่วยก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีอาการมองเห็นไม่ชัด จึงไปพบจักษุแพทย์ แต่ก็สายเกินไปเพราะไม่สามารถช่วยให้กลับมามองเห็นเป็นปกติได้ ทั้ง ๆ ที่โรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หาไปพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เด็กและเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 9 ปี ซึ่งจากสถิติพบว่า ประเทศไทยมีผู้เป็นโรคตาขี้เกียจประมาณ 2% ส่งผลให้ประเทศไทยมีประชากรที่ตามัวอย่างถาวรประมาณ 1.3 ล้านคน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลตำรวจจึงได้จัดทำโครงการ รักษ์ตาน้อง ขึ้น เพื่อป้องกันโรคตาขี้เกียจอย่างยั่งยืน โดยการเปลี่ยนการให้บริการแบบตั้งรับในโรงพยาบาล มาเป็นการให้บริการเชิงรุกสู่โรงเรียนต่าง ๆ และเสริมด้วยการให้ความรู้กับบุคลากรในโรงเรียน คือ คุณครู เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองความสามารถในการมองเห็นของเด็กนักเรียนอย่างถูกต้องด้วยตนเอง โดยทำหน้าที่แทนจักษุแพทย์ในการตรวจคัดกรองเด็กนักเรียน จึงสามารถนำเด็กนักเรียนที่มีความผิดปกติทางสายตาไปเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นำไปสู่การป้องกันโรคตาขี้เกียจให้กับเด็กนักเรียน
หลักการสำคัญในการดำเนินโครงการรักษ์ตาน้อง นอกจากการเปลี่ยนแนวคิดจากการตั้งรับเป็นการรุกสู่ชุมชนแล้ว หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทำให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโครงการ และดำเนินการด้วยตนเอง โดยมีทีมจักษุแพทย์เป็นพี่เลี้ยง ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจทางทฤษฎีและทางปฏิบัติแก่ชุมชน จนชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยมีวิธีการดำเนินการใน 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเป้าหมายระยะแรก กำหนดให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งอยู่ จำนวน 8 โรงเรียน (ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ประถมปีที่ 1 จำนวนประมาณ 1,535 คน) ปลอดจากโรคตาขี้เกียจ และคุณครูในโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง สามารถตรวจโรคตาขี้เกียจได้ด้วยตนเอง แล้วขยายผลไปสู่เป้าหมายในระยะที่ 2 คือ นักเรียนในโรงเรียนนอกพื้นที่ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งอยู่
2. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ บุคลากรต้องเข้าใจในความจำเป็นของโครงการ / บุคลากรไม่พอจึงต้องหาบุคคลภายนอกที่มีจิตอาสา / เนื้อหาการอบรมต้องเหมาะสม / อุปกรณ์ในการตรวจที่จะมอบให้โรงเรียนต้องเพียงพอ / งบประมาณจากบุคลากรที่มีจิตอาสา
3. หาความร่วมมือจากเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตปทุมวัน โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำรวจและบุคลาการภายนอกที่มีจิตอาสา โดยการสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายนำร่องใน 2 โรงเรียน (โรงเรียนวัดปทุมวนาราม และ โรงเรียนวัดชัยมงคล) เพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมในการปฏิบัติอย่างเต็มใจ
&
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 30 มิถุนายน 2554 13:49:19 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 มิถุนายน 2554 13:49:19