Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2554 / มิถุนายน / สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรมการเสริมสร้างองค์ความรู้ โครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.) (Part 1)

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรมการเสริมสร้างองค์ความรู้ โครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.) (Part 1)

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรมการเสริมสร้างองค์ความรู้
โครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.)
(Part 1)






          เมื่อวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ “โครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.)” โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง เข้าร่วมโครงการฯ ณ ห้องแคทรียา ชั้น 2 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ 

          ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการอบรมและชี้แจงถึงโครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.) ว่า มีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 78 (2) ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 โดยได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานแบบบูรณาการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ไว้ในมาตรา 52 วรรคสาม มาตรา 53/1 และมาตรา 53/2 กล่าวโดยสรุปคือ ให้ถือว่าจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณได้ รวมถึงการให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

          ดร.ทศพรกล่าวต่อไปว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

          • การบริหารกิจการบ้านเมือง (Governance Bold) เป็นการบริหารภาครัฐที่มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐด้วยกัน และระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยเป็นการจัดการความสัมพันธ์ใน 2 ลักษณะ คือ (1) การจัดการความสัมพันธ์แนวดิ่ง ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และ (2) การจัดการความสัมพันธ์แนวนอน ระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่นในสังคม ซึ่งอาจได้แก่ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เชื่อมโยงการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน

          • การพัฒนา (Development) เป็นการบริหารโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area-based Approach) เพื่อกระจายการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ซึ่งมีการแบ่งเป็น 18 กลุ่มจังหวัด และ 75 จังหวัด โดยยุทธศาสตร์ของการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดนั้น จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัด (Competitiveness) และนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและสร้างรายได้ให้กลุ่มจังหวัด ส่วนจังหวัดจะมุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยลักษณะของการบริหารการพัฒนาแบบนี้ ต้องการให้แต่ละพื้นที่มีทิศทาง (Position) ในการพัฒนาที่ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและการพัฒนากลุ่มจังหวัด 

          “อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการบริหารแบบบูรณาการ คือ การทำให้ทุกภาคส่วนคือ ภาครัฐ (ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน เห็นพ้องและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเชื่อมโยงต่อประสานกัน สร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน” ดร.ทศพร กล่าว

          สำหรับการดำเนินโครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ยกกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง มาเป็นกลุ่มจังหวัดนำร่อง ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ยกตัวอย่างถึงแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และฝากประเด็นเน้นย้ำว่า “การวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์จำเป็นต้องมีการคิดอย่างเป็นขั้นตอน ที่สำคัญจำเป็นต้องหาปัจจัยแห่งความสำเร็จของแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ให้ได้ และผลลัพธ์สุดท้ายของการกำหนดยุทธศาสตร์ จะต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละโครงการตามบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม สำหรับการนำแผนสู่การปฏิบัตินั้น แต่ละภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งในด้านวิชาการและงบประมาณ รวมถึงการบริหารกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. เชื่อมั่นว่ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 จะสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาการทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป”

          ในช่วงบ่าย เป็นการบรรยายเรื่อง “แนวคิดการบริหารงานกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 แบบบูรณาการ” โดย นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งการบรรยายช่วงหนึ่ง นายพิเชษฐได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนและการพัฒนาต่อไปในอนาคตว่า จะต้องให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” โดยต้องถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อนำมาเป็นโจทย์ในการแก้ไขปัญหา หรืออาจใช้วิธีร่วมคิดร่วมทำผ่านกระบวนการระดมความเห็น/เวทีหารือ ซึ่งนายพิเชษฐได้ระบุว่า การพัฒนายุทธศาสตร์ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องคิดอย่างเป็นระบบ โดยจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยยกตัวอย่างกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยที่จะต้องร่วมกันคิดให้เกิดผลสำเร็จก่อน แล้วจึงขยายไปสู่การวางระบบตลาดและการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

          ต่อจากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง “ร่างยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ทิศทางการพัฒนาภาคกลาง ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่11” โดย นางสาวสุมาลี เดชานุรักษ์นุกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ได้กล่าวถึงภาพรวมทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับ 11 ว่า เป็น “แผนยุทธศาสตร์” ที่ยึดวิสัยทัศน์ปี 2570 น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลง โดยวิเคราะห์บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ เพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันใน 5 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน การร่วมคิด และร่วมขับเคลื่อนแผนฯไปสู่การปฏิบัติ 

          นอกจากนี้ นางสาวสุมาลีได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาภาคกลางว่า จะมุ่งเน้นการพัฒนาฐานการผลิตภาคเกษตรให้ทันสมัยและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ยกระดับการผลิตสินค้าและบริการ มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงอาเซียน ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          ในช่วงท้าย เป็นการบรรยาย เรื่อง “กรณีศึกษา Bio Valley ของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจยุโรป” โดย ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้กล่าวถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคของยุโรป 3 ประเทศ (Bio Valley) ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมัน โดยระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์กับฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมควบคู่กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (เน้นในเรื่องหน้าที่ของภาคประชาสังคม) ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มักเน้นในด้านสิทธิมากกว่าด้านหน้าที่ พร้อมกล่าวต่อไปอีกว่า ในต่างประเทศใช้เอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน 100% โดยมีคณะกรรมการระดับท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ และมีการกำหนดแผนงานที่แน่ชัด ขณะที่ไทยยังขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานกลางของรัฐ และการขับเคลื่อนเป็นลักษณะ Shopping List คือ ใครคิดอะไรได้ก็จะนำมาใส่โดยไม่มีการจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน 

          “ไทยยังเป็นรูปแบบการบริหารแบบ Silo Management คือ บริหารเป็นแท่ง ๆ ไม่บูรณาการกัน ขณะที่ต่างประเทศสามารถดำเนินการเป็น Metrix Management ได้อย่างชัดเจน ซึ่งต่างไปจากระบบบริหารราชการไทยที่อำนาจการให้ความดีความชอบขึ้นอยู่กับหัวหน้าส่วนราชการทั้งที่เป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค” ดร.ชิงชัย กล่าว




          
หลังจากนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการหลักสูตรบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (บบพ.)  อนึ่ง การประชุมดังกล่าว ยังมีกิจกรรมต่ออีก 2 วัน โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ในตอนต่อไป



 

กลุ่มวิชาการ & กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 มิถุนายน 2554 11:45:44 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 มิถุนายน 2554 11:45:44
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th