สำนักงาน ก.พ.ร. ต้อนรับคณะทำงาน PMQA
จากจังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากจังหวัดเชียงราย ที่มาศึกษาดูงานการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมี นายนครเขตต์ สุทธปรีดาผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ เป็นผู้บรรยาย
ผู้ที่มาศึกษาดูงานสำนักงาน ก.พ.ร. ในครั้งนี้ เป็นผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด PMQA ของส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย รวม 18 แห่ง ซึ่งบางท่านเป็นผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด PMQA ของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย โดยได้มาศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานตาม ตัวชี้วัด ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือ PMQA เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายนครเขตต์ สุทธปรีดา ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ได้บรรยายให้คณะศึกษาดูงานได้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานของสำนักงาน ก.พ.ร. และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ดังนี้
ปีงบประมาณ |
การดำเนินการ |
พ.ศ. 2549 |
ดำเนินการตามขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Milestone) ที่กำหนด โดยเป็นตัวชี้วัดเลือก
- จัดทำลักษณะสำคัญขององค์กร และรายงานผลการดำเนินการเบื้องต้นตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ |
พ.ศ. 2550 |
ดำเนินการตามเกณฑ์การให้คะแนนเป็นระดับขั้นของความสำเร็จ (Milestone) ที่มีความเข้มข้นขึ้นจากปี 2549 พิจารณาจากความก้าวหน้าของขั้นตอนการดำเนินงานตามเป้าหมายแต่ละระดับ โดยเป็นตัวชี้วัดบังคับ
- จัดทำรายงานผลการประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Self Assessment) และรายงานผลการจัดทำแผนปรับปรุงองค์กร |
พ.ศ. 2551 |
ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด (Check List) ตามมาตรฐานของแนวทางการบริหารจัดการแบบ ADLI และ LeTCLi โดยดำเนินการในหมวดบังคับ หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และหมวดสมัครใจ หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
สมัครเข้าร่วมโครงการรับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Fast Track) จัดทำรายงานผลการดำเนินการ (Application Report) |
พ.ศ. 2552 |
ดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Fundamental Level) เป็นปีแรก โดยดำเนินการหมวดบังคับ หมวด 1 การนำองค์การ และ หมวดสมัครใจ หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ |
พ.ศ. 2553 |
ดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Fundamental Level) อย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการหมวดบังคับ หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ และหมวดสมัครใจ หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล |
พ.ศ. 2554 |
ดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Fundamental Level) อย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการหมวดบังคับ หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหมวดสมัครใจ หมวด 6 การจัดการกระบวนการ |
จากนั้น เป็นการบรรยายถึง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของสำนักงาน ก.พ.ร. ในรายละเอียดรายหมวด ตามเกณฑ์ PMQA สรุปสาระสำคัญของการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ในแต่ละหมวดได้ ดังนี้
หมวด 1 การนำองค์การ
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การกำหนดทิศทางการทำงานที่ชัดเจน และมีการถ่ายทอดสื่อสารไปยังบุคลากร โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Intranet เสียงตามสาย การประชุมฝ่ายบริหาร การสัมมนาประจำปี กิจกรรมเลขาธิการ ก.พ.ร. พบข้าราชการ เป็นต้น
2. การสร้างบรรยากาศ และส่งเสริมกระบวนการในการเรียนรู้ของบุคลากร เพื่อสร้างความผูกพันและความร่วมมือในองค์กร เช่น กิจกรรมเลขาธิการ ก.พ.ร. พบข้าราชการ เพื่อชี้แจงข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายใหม่ ๆ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของข้าราชการในแต่ละสำนัก/ภารกิจ เป็นต้น
3. การดำเนินงานของส่วนราชการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งดำเนินการครอบคลุม 4 ด้าน คือ 1) ด้านรัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2) ด้านผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3) ด้านองค์การ และ 4) ด้านผู้ปฏิบัติงาน
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การวางยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน โดยมีขั้นตอนและกิจกรรมที่เหมาะสมและชัดเจน โดยการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
2. การสื่อสารและถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ อาทิ การสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์และแผนการปฏิบัติงานเพื่อให้บุคลากรรับรู้ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติ การถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายระดับองค์กรลงสู่ระดับหน่วยงาน (สำนัก/ภารกิจ)
หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. มีการกำหนดกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจน และจัดให้มีช่องทางการรับฟังความเห็น และความต้องการของกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
2. มีระบบการจัดการข้อร้องเรียน และการวัดความพึงพอใจและไม่พึงพอใจของกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การวิเคราะห์ และทบทวนฐานข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลสำหรับการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่ง การจัดทำฐานข้อมูลจะครอบคลุมประเด็นยุทธศาสตร์ กระบวนการสร้างคุณค่า และกระบวนการสนับสนุนของสำนักงาน ก.พ.ร.
2. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น เว็บไซต์ การให้บริการให้คำปรึกษาผ่านระบบสารสนเทศ (chat online) FAQ เป็นต้น
3. การจัดการความรู้ โดยการพัฒนาระบบการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีการจัดทำแผนการจัดการความรู้ประจำปี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีกิจกรรมการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Home Office Day การศึกษาดูงาน (Site Visit) การจัดให้มีห้อง Knowledge Center การจัดให้มีเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ (Ideas are Free) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ (Toolkits) และคู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual) เป็นต้น
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การกำหนดแผนกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล และการวางแผนการสร้างความก้าวหน้าในสายงาน
2. การสร้างบรรยากาศการทำงาน ความผาสุก และความพึงพอใจของบุคลากรในสำนักงาน อาทิ การจัดให้มีห้องออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมสันทนาการ การตรวจสุขภาพประจำปี การจัดให้มีมุมพักผ่อนในสำนักงาน เป็นต้น
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการโดยเน้น 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด การทำงานซ้ำ และความสูญเสียจากการทำงาน ทั้งกระบวนการสร้างคุณค่า และกระบวนการสนับสนุน
2. การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อเป็นกรอบแนวทางให้บุคลากรไปปฏิบัติ หรือไว้อ้างอิงมิให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน
ในช่วงท้ายของการศึกษาดูงานเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปประกอบการดำเนินการตามเกณฑ์ตัวชี้วัด PMQA ต่อไป ซึ่ง ผอ.นครเขตต์ได้แนะนำถึงหัวใจสำคัญของการทำ PMQA ให้ประสบความสำเร็จว่า ผู้บริหารต้องให้ความสนใจและเอาจริงเอาจังกับการดำเนินงาน PMQA และมีการจัดทำแผนที่ชัดเจนและเป็นระบบ นอกจากนี้ยังต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกัน โดยการจัดประชุมหารืออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ลลิดา & ภัทรพร (สลธ.) / ภาพ
สุดารัตน์ (สลธ.) / ข้อมูล
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 2 พฤษภาคม 2554 15:02:29 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 พฤษภาคม 2554 15:13:26