Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2554 / เมษายน / ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ
การพัฒนาระบบราชการในภาพรวม
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553



          สำนักงาน ก.พ.ร. โดยความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553  เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของประชาชน ข้าราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับการดำเนินงานการพัฒนาระบบราชการไทย ซึ่งผลการสำรวจโดยรวม ความเข้าใจและความพึงพอใจต่อระบบราชการในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 

          การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม เป็นโครงการที่สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำขึ้นทุกปีโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการดำเนินการศึกษาจัดทำโครงการสำรวจดังกล่าว เพื่อนำผลการสำรวจที่ได้ ไปเป็นแนวทางในการติดตามประเมินผล รวมทั้งกำหนดนโยบายและแผนงานที่จะผลักดันและส่งเสริมให้หน่วยราชการต่าง ๆ สร้างความเป็นเลิศให้เกิดขึ้นแก่ระบบราชการไทย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 3/1 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545

          สำหรับการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 นั้น เป็นการสำรวจการรับรู้ การเข้าใจ และความพึงพอใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ ใน 4 ประเด็นหลักที่สำคัญ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย คือ การตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ การพัฒนาขีดสมรรถนะขององค์การ และการสร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการตอบแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

          1. ประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ
          2. ข้าราชการ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครู และข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ไม่รวมข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการตุลาการ และข้าราชการอัยการ)
          3. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สื่อมวลชน อาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการระดับสูง และองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น

          ทั้งนี้ มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น จำนวน 22,954 ราย จากจำนวนขนาดตัวอย่างที่กำหนดไว้ 25,586 ราย คิดเป็นอัตราการตอบกลับ ร้อยละ 89.71 โดยมีผลการสำรวจในประเด็นที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

          1. การรับรู้การพัฒนาระบบราชการ

          ผลการสำรวจพบว่า เมื่อเปรียบเทียบปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กับ 2552 แล้ว มีสัดส่วนผู้ที่รับรู้การพัฒนาระบบราชการใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มข้าราชการมีสัดส่วนผู้ที่รับรู้การพัฒนาระบบราชการสูงสุด คือ ปี 2553 รับรู้ ร้อยละ 94.5 และปี 2552 รับรู้ ร้อยละ 92.8 รองลงมาคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยปี 2553 รับรู้ ร้อยละ 92.4 และปี 2552 รับรู้ ร้อยละ 90.0 ในขณะที่ประชาชนมีผู้ที่รับรู้การพัฒนาระบบราชการน้อยที่สุด และน้อยลงกว่าปี 2552 โดยปี 2553 รับรู้ ร้อยละ 39.9 และปี 2552 รับรู้ ร้อยละ 44.3


 

          2. การเข้าใจการพัฒนาระบบราชการ

          ในการสอบถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการหรือประโยชน์ของการพัฒนาระบบราชการ เปรียบเทียบระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กับ 2552 และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม พบว่า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มข้าราชการมีความเข้าใจสูงสุด คือ ปี 2553 เข้าใจ ร้อยละ 97.5 และปี 2552 เข้าใจ ร้อยละ 95.9 รองลงมาคือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยปี 2553 เข้าใจ ร้อยละ 97.1 และปี 2552 เข้าใจ ร้อยละ 96.1 สำหรับประชาชนนั้นพบว่า มีความเข้าใจต่ำกว่าสองกลุ่มแรก คือ ปี 2553 เข้าใจ ร้อยละ 84.8 และปี 2552 เข้าใจ ร้อยละ 85.2


 

          3. ความพึงพอใจต่อการพัฒนาระบบราชการ

          เมื่อประเมินความพึงพอใจต่อการพัฒนาระบบราชการ โดยเปรียบเทียบระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กับ 2552 พบว่า กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ปี 2553 มีความพึงพอใจ ร้อยละ 87.6 และปี 2552 ร้อยละ 54.6 รองลงมาคือกลุ่มข้าราชการ ซึ่งปี 2553 มีความพึงพอใจ ร้อยละ 83.0 และปี 2552 ร้อยละ 81.7 สำหรับประชาชนนั้น มีความพึงพอใจลดลงเล็กน้อย โดยปี 2553 มีความพึงพอใจ ร้อยละ 76.9 และปี 2552 ร้อยละ 79.1 


          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์การให้คะแนน กล่าวคือ ช่วง 4.21 5.00 = พอใจมากที่สุด, ช่วง 3.41 4.20 = พอใจมาก, ช่วง 2.61 3.40 = พอใจปานกลาง, ช่วง 1.81 2.60 = พอใจน้อย และ ช่วง 1.00 1.80 = พอใจน้อยที่สุด พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยของทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ 3.45 ซึ่งอยู่ในระดับพอใจมาก

          4. การนำแนวทางการพัฒนาระบบราชการไปปฏิบัติ

          ในการพัฒนาระบบราชการนั้น กลุ่มที่ต้องนำแนวทางการพัฒนาระบบราชการไปปฏิบัติ คือ ข้าราชการ ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.6 นำแนวทางการพัฒนาระบบราชการไปปฏิบัติ และเมื่อเปรียบเทียบปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กับ 2552 พบว่า ปี 2553 มีการนำไปปฏิบัติมากกว่าปี 2552


 

          5. ข้อเสนอแนะ

          สำหรับการให้ข้อเสนอแนะนั้น มีประชาชน ข้าราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 15.27 15.88 และ 27.61 ตามลำดับ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ข้าราชการควรทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ควรปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา ควรให้บริการด้วยความรวดเร็ว บริการด้วยความสุภาพ ควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการให้หลากหลาย ให้แต่ละองค์กรปรับการทำงานให้ทันสมัยยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น / บริการด้วยความเต็มใจ รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน 


          โดยสรุปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบ การรับรู้ การเข้าใจ และความพึงพอใจการพัฒนาระบบราชการ ในภาพรวม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กับปีงบประมาณ พ.ศ. 2552  พบว่า ในปี 2553 กลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้น้อยลงจากปี 2552 ในขณะที่การเข้าใจ และความพึงพอใจ ในปี 2553 เพิ่มขึ้นนจากปี 2552



 
 
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 เมษายน 2554 13:59:53 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 25 เมษายน 2554 13:59:53
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th