ประชุมการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ได้จัดการประชุมเรื่อง การปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย โดยมี นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สุทธปรีดา ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และชี้แจงวัตถุประสงค์ ณ ห้องศรีสุริยวงศ์บอลรูม โรงแรมตวันนา ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สุทธปรีดา กล่าวว่า รายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ของธนาคารโลกเป็นรายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และระบบการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานของรัฐว่ามีความสะดวกหรือเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือไม่อย่างไร ดังนั้น ในการตอบแบบสำรวจจึงมีผลต่อการจัดอันดับความยาก - ง่ายในการเข้ามาประกอบธุรกิจ อีกทั้งเป็นการดึงดูดนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลสำรวจของธนาคารโลกเกี่ยวกับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐมีความถูกต้อง และสอดคล้องกับข้อเท็จจริง สำนักงาน ก.พ.ร. จึงกำหนดให้มีการประชุม เพื่อชี้แจงรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการสำรวจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานที่เคยตอบแบบสำรวจ หน่วยงานที่อาจได้รับการสำรวจในปีต่อไป รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ดำเนินการปรับปรุงบริการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ มีวิทยากรเข้าร่วมบรรยายถึงความสำคัญของรายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ของธนาคารโลก ดังนี้
นายชัยยุทธ กมลศิริสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กำหนดให้ทุกหน่วยงานลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จึงดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการลงร้อยละ 30 - 50 ของกระบวนงานบริการที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วในปี 2550 และปัจจุบันทุกหน่วยงานดำเนินการรักษามาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. สนับสนุนให้หน่วยงานที่มีกระบวนงานให้บริการที่ดีเสนอขอรับการประเมินเพื่อขอรับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน และรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เสนอผลงานเพื่อขอเข้ารับการประเมินรางวัลขององค์การสหประชาชาติต่อไป
จากการที่ประเทศไทยดำเนินการผลักดันการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของภาครัฐตั้งแต่พ.ศ. 2546 ทำให้การสำรวจของธนาคารโลกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 นั้นอยู่ในลำดับที่ 20 จาก 145 ประเทศทั่วโลก และขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 18, 15, 13, 12 ล่าสุดผลการจัดอันดับใน พ.ศ. 2553 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 183 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตกลงจากปีพ.ศ. 2552 เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราเร่งในการพัฒนาที่ช้ากว่าประเทศอื่น แม้จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร Senior Country Economist, The World Bank ได้กล่าวถึงการดำเนินการวิจัยเรื่อง Doing Business ของธนาคารโลกว่า การวัดผลและการเก็บข้อมูลของทีมวิจัย Doing Business ได้มาจากการสำรวจเกี่ยวกับขั้นตอนระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนค่าใช้จ่าย กฏหมาย และกฏระเบียบต่างๆ ของรัฐว่ามีส่วนสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่ อย่างไร ซึ่งปัจจุบันพิจารณาการจัดอันดับจากตัวชี้วัดทั้ง 9 ด้าน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ตัวชี้วัดด้านระยะเวลา พิจารณาเกี่ยวกับระยะเวลา จำนวนขั้นตอนที่ใช้ในการดำเนินการ ประกอบด้วย ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอนุญาตก่อสร้าง ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ด้านการชำระภาษี และด้านการค้าระหว่างประเทศ
2. ตัวชี้วัดด้านกฏหมาย ประกอบด้วย ด้านการได้รับสินเชื่อ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และด้านการปิดกิจการ
การสำรวจของธนาคารโลกนั้น จะตั้งสมมุติฐาน/นิยามในแต่ละด้าน เช่น วัดอะไร และวัดจากธุรกิจใด โดยใช้แบบสำรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศอื่นๆ และแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณามาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งข้อมูลของภาคเอกชนจะสอบถามจากบริษัทกฏหมาย และบริษัทบัญชี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ได้ดำเนินงานให้กับธุรกิจประเภทต่างๆ จึงมีประสบการณ์ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ และมีข้อมูลการดำเนินการและผลการดำเนินการที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี โดยระยะเวลาการเก็บข้อมูลจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลในเดือนมิถุนายน และเผยแพร่รายงานผลการวิจัยในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี
ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้รายงานผลความก้าวหน้าของการปรับปรุงบริการภาครัฐ โดยสรุปข้อมูลแต่ละด้าน ดังนี้
1. ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจสู่หน่วยงานพันธมิตร (e-Starting Business) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ Single Point, Single Form และ Single Number ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถใช้บริการแบบ Single Point ในการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขทะเบียนนายจ้าง ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยใช้แบบฟอร์ม คำขอและเอกสารหลักฐานเพียงชุดเดียว ทำให้ลดปัญหาความยุ่งยากในการอนุมัติและอนุญาตการก่อตั้งธุรกิจให้แก่นักลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตก่อสร้างถึง 156 วัน จึงดำเนินการลดขั้นตอนการให้บริการที่ใช้ระยะเวลามาก เช่น การพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้าง การขอติดตั้งโทรศัพท์ และการตรวจสอบอาคารก่อนการเปิดใช้งาน
3. ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงถึงร้อยละ 4.3 ของมูลค่าทรัพย์สิน จึงดำเนินการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนทรัพย์สิน และดำเนินการลดขั้นตอนจาก 2 ขั้นตอน ให้เหลือ 1 ขั้นตอน ภายใน 1 วัน ซึ่งกรมที่ดินได้เชื่อมฐานข้อมูลทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้
4. ด้านการได้รับสินเชื่อ การจัดอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่ครอบคลุมตามเกณฑ์ ในเรื่องของข้อมูลผู้ค้าปลีกและบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภค ทำให้ผู้ประกอบการขาดข้อมูลในการตัดสินใจทำธุรกรรมด้านต่างๆ
5. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการ 3 ด้าน ดังนี้ ด้านความสามารถในการเรียกร้องให้ผู้บริหารชดใช้ความเสียหาย ด้านความสะดวกในการฟ้องคดีของผู้ถือหุ้น และด้านความแข็งแกร่งในการคุ้มครองสิทธินักลงทุน
6. ด้านการชำระภาษี มีการชำระภาษีบ่อยครั้ง และใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากมีภาษีหลายประเภท และแยกหน่วยงานในการจัดเก็บ จึงมีแนวทางในการปรับระบบการชำระภาษีเป็นแบบออนไลน์ และมีการจัดระบบ one stop service ด้านภาษีอากร ค่าธรรมเนียมในการประกอบการ
7. ด้านการค้าระหว่างประเทศ ใช้ระยะเวลาในการส่งออกถึง 14 วัน และนำเข้า 13 วัน จึงดำเนินการปรับเอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบให้เป็นมาตรฐาน เพื่อลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร และพัฒนาระบบ National Single Window เพื่อลดจำนวนเอกสารที่ใช้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการได้ในจุดเดียว
8. ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง มีขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการถึง 36 ขั้นตอน โดยใช้ระยะเวลา 479 วัน ดังนั้นกรมบังคับคดีจึงมีการรวมกระบวนการที่สามารถดำเนินการพร้อมกันไว้ในกระบวนการเดียวกัน
9. ด้านการปิดกิจการ มีอัตราเงินที่ได้คืน 43.5 เซนต์ต่อดอลลาร์ มีระยะเวลาในการดำเนินการถึง 2.7 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ร้อยละ 36 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ จึงดำเนินการปรับปรุงกระบวนการรับคืนเงินกู้ การอุทธรณ์ การขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณจนิษฐ อาภรณ์รัตน์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัทที่ปรึกษากฏหมายและภาษีอากร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการตอบแบบสำรวจว่า ธนาคารโลกจะเริ่มส่งแบบสำรวจประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยมีคำถามเป็นแบบปลายเปิด และมีประเด็นคำถามครอบคลุมเกี่ยวกับขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ร่วมตอบแบบสำรวจของธนาคารโลกมาเป็นเวลา 5 ปี โดยช่วงปีแรกมีจำนวนคำถามไม่มาก และไม่เฉพาะเจาะจงเหมือนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัท PWC ได้ร่วมตอบแบบสำรวจในหัวข้อการชำระภาษี และเมื่อปี 2011 ได้ร่วมตอบแบบสำรวจอีก 6 หัวข้อ ยกเว้นด้านการขออนุญาตก่อสร้าง และด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในการตอบคำถามจากประสบการณ์ในการสอบทานข้อมูลกับลูกค้า การศึกษากฎหมายภาครัฐ ตลอดจนสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการ
ส่วนรูปแบบคำถาม ได้ยกตัวอย่างด้านการชำระภาษีว่า ธนาคารโลกจะกำหนดกรณีศึกษา (Case Study) มาให้ โดยมีประเด็นคำถามที่ครอบคลุมขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินการภายใต้กรณีศึกษา เช่น ประเภทของภาษีที่ต้องจ่าย ขั้นตอนและระยะเวลาในการยื่นภาษี จำนวนแบบฟอร์มภาษีที่ใช้ ความยากง่ายในการติดต่อเจ้าหน้าที่ การขอหนังสือรับรอง ความเข้าใจ การเข้าถึง และการตีความกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันธนาคารโลกได้เพิ่มคำถามเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงโดยรวมในการเตรียมตัว ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องคำนึงถึงการลดภาระการเตรียมตัวของภาคประชาชนด้วย
ลลิดา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 7 เมษายน 2554 10:14:47 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 เมษายน 2554 10:14:47