สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษา
พัฒนาเครือข่าย PMQA ในภูมิภาค
เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรม การพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อยกระดับความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการ รวม 3 ครั้ง ได้แก่
1. เครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นระหว่างวันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องมงกุฎนาก ชั้น 2 โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
2. เครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2554 ณ ห้องสุคนธา ชั้น 6 โรงแรมโนโวเทล เซนทารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
3. เครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2554 ณ ห้องดอยสุเทพ ชั้น 1 โรงแรมแคนทารีฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่
โดยการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ได้รับเกียรติจากผู้แทนของเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งสามมหาวิทยาลัย จำนวนมหาวิทยาลัยละประมาณ 50 คน อันประกอบด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์การตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เข้าร่วมการจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายในครั้งนี้โดยพร้อมเพียง
การจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายทั้งสามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทบทวนความรู้และเสริมทักษะในการให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการยกระดับความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA Expert Center) ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปี
สำหรับรูปแบบของกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายนั้น มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน 3 เรื่องที่สำคัญ คือ
1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์จากการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐานของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค จากบทเรียนและองค์ความรู้จากการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทาง PMQA อาทิ การขยายและต่อยอดองค์ความรู้ การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และการศึกษาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ (Benchmarking) การบูรณาการของระบบการประเมินต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งบทเรียนและองค์ความรู้จากการให้คำปรึกษาส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาองค์การตามแนวทาง PMQA อาทิ รูปแบบ (Model) การส่งเสริม PMQA พัฒนาการของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา เอกสารและเครื่องมือที่ใช้ (Tools and Techniques) ร่องรอยของ Best Practices และ Benchmark เป็นต้น
2) การถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาแนะนำส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคเพื่อการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐานของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และการตรวจรับรองการผ่านเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Certify FL) และการพัฒนาองค์การตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้า (Progressive Level)
3) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA Expert Center) อาทิ การให้คำปรึกษาการพัฒนาองค์การตามแนวทาง PMQA การตรวจประเมินผลการดำเนินการตามตัวชี้วัด PMQA การตรวจรับรอง Certify FL การพัฒนา Best Practices และ Benchmarking รวมทั้งความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเครือข่ายสถาบัน (Hub) อาทิ การสื่อสาร รูปแบบความร่วมมือ ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ
ในกิจกรรมครั้งนี้มีผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมกับผู้แทนเครือข่ายสถาบัน (Hub) ดังนี้
นางสาวพรพิมล รัตนพิทักษ์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ความเป็นมาและบทบาทของการดำเนินการจัดกิจกรรมของ Hub ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา และความร่วมมือทางวิชาการในการช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาองค์การกับการพัฒนาระบบราชการ
รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ได้อธิบายถึงลักษณะของ เครือข่าย PMQA มี 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) เครือข่ายส่วนราชการ 2) เครือข่ายหมอองค์กร และ 3) เครือข่ายสถาบัน (Hub) ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายที่สะดวกที่สุด ประกอบด้วยกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ เป็นต้น ทั้งนี้เครือข่ายสถาบัน (Hub) จะเกิดผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่ ลดต้นทุนการให้คำปรึกษา การดูแลส่วนราชการได้อย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้ภายในกลุ่มระหว่างเครือข่ายส่วนราชการและเครือข่ายหมอองค์กร การมีทรัพยากรสนับสนุนในด้านต่างๆ การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับส่วนราชการ เกิดโอกาสในการพัฒนางานทางวิชาการ และเกิดผลประโยชน์ทางอ้อม คือ สถาบันอุดมศึกษาจะเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ มีการสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาองค์การ เกิดโอกาสในการทำวิจัย การพัฒนาวิชาการ การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายส่วนราชการของสถาบัน และบรรลุประสิทธิผลในการดำเนินงาน
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 3 สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐานของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 การตรวจรับรองการผ่านเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Certify FL) และการพัฒนาองค์การตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้า (Progressive Level) และได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การตรวจประเมินตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของส่วนราชการในส่วนภูมิภาค
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของเครือข่ายสถาบัน (Hub)
Hub duties |
Hub activities |
Consultant development |
Organizational consults
PA Auditors
Trainers and educators
|
Introduction of Hub
Consulting activities
Meeting at site, site visits
Guidelines for audits
Training
Auditing activities
Development plan is too difficult to achieve |
Concern about individual ability
Communication among team members
Understanding of problems
Internal training
|
นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้มีการระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อดำเนินการวางแผนพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA Expert Center) และสนับสนุนการดำเนินการยกระดับความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับบทเรียนและองค์ความรู้จากการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทาง PMQA อาทิ การบูรณาการของระบบการประเมินต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัย การสื่อสารและจูงใจหน่วยงานภายใน การเรียนรู้ขององค์กร โอกาสในการพัฒนา Best Practices ของมหาวิทยาลัย ผลการพัฒนาการของคณะต่างๆ และปัจจัยความสำเร็จ และบทเรียนและองค์ความรู้จากการให้คำปรึกษาจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาองค์การตามแนวทาง PMQA อาทิ การเตรียมทีมงาน และการบริหารทีม พัฒนาการของจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าไปให้คำปรึกษา ร่องรอยของ Best Practices และ Benchmarking กลไกการกระตุ้นหน่วยงานและที่มาของทรัพยากร รวมถึงการเรียนรู้และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการให้คำปรึกษาจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการดำเนินการตามเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม / ข้อมูล
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 เมษายน 2554 11:04:18 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 เมษายน 2554 11:11:57