Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2554 / กุมภาพันธ์ / รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน ปรับปรงคุณภาพบริการเพื่อประโยชน์สุของประชาชน

รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน ปรับปรงคุณภาพบริการเพื่อประโยชน์สุของประชาชน

รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน
 ปรับปรุงคุณภาพบริการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

 



          รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 เวลา 14.00 น. 14.50 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  เสนอเรื่อง  ปรับปรุงคุณภาพบริการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  ได้รับเกียรติจากรศ.ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานและลดขั้นตอนระยะเวลาการปฏิบัติราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน มาร่วมพูดคุยในรายการ และดำเนินรายการโดย คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์



          เปิดรายการด้วยภาพบรรยากาศพิธีมอบรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน และรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัล  



          ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานและลดขั้นตอน ระยะเวลาการปฏิบัติราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้กำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผลและมอบรางวัล ให้แก่ส่วนราชการ และหน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ต่อเนื่องมาทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน
          ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้การทำงานมีความจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงโครงสร้าง และวิธีการปฏิบัติราชการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานด้านต่าง ๆ มากขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อสามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนของหน่วยงานต่าง ๆ นี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเพราะได้รับความร่วมมือในการเร่งรัดปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้บริการของหน่วยงานภาครัฐโดยภาพรวมดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
          หลังจากนั้นยังได้สัมภาษณ์นายวิเชียร จึงวิโรจน์ ประธานคณะทำงานพัฒนารางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนและรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน โดยนายวิเชียรได้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ส่วนราชการต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจ ส่งกระบวนงานเข้าพิจารณาเพื่อรับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยปีนี้ได้มอบรางวัลให้แก่หน่วยงานราชการถึง 113 รางวัล สำหรับขั้นตอนการพิจารณาการให้รางวัลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 คือ การตรวจสอบเอกสารที่หน่วยงานราชการได้ส่งเข้ามา ขั้นตอนที่ 2 คือ การตรวจประเมินในพื้นที่ เพื่อยืนยันข้อมูลที่หน่วยงานนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และขั้นตอนที่ 3 คือ ทางคณะอนุกรรมการฯ จะไปตรวจเยี่ยม เพื่อยืนยันผลการประเมินอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่มารับบริการจากหน่วยงานได้รับความสะดวกและรวดเร็วจริง ในปีหน้าทางสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์รางวัลขององค์การสหประชาชาติมากขึ้น และจะมีความเป็นสากลมากขึ้น
          สำหรับช่วงที่ 2 ของรายการ เป็นการสนทนากับ รศ.ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ประธาน อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ โดย รศ.ดร.ปรีชา ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา การผลักดันให้หน่วยงานราชการพัฒนาคุณภาพการให้บริการนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และต้องยอมรับว่าการให้รางวัลฯ นี้ มีส่วนกระตุ้นหน่วยงานราชการพัฒนาการให้บริการที่ดีและเร็วขึ้น โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ส่งกระบวนงานเพื่อเข้ารับรางวัลถึง 300 กว่ากระบวนงาน และมีงานบริการที่ผ่านการพิจารณา ได้รับรางวัลถึง 113 รางวัล
          รศ.ดร.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาการมอบรางวัลฯ พิจารณาจากความรวดเร็วในการให้บริการ การลดเวลา การลดขั้นตอน ความพึงพอใจของประชาชนและการจัดระบบการอำนวยความสะดวก โดยการประเมินจะต้องไปตรวจดูกระบวนงานว่าสามารถให้บริการและประชาชนได้รับความพึงพอใจจริง ๆ
          หลังจากนั้น ทางรายการได้นำเสนอสกู๊ปประกอบรายการเกี่ยวกับกระบวนงานที่ได้รับรางวัลฯ ปี 2553 โดยสกู๊ปแรกเป็นกระบวนงาน การบริหารจัดการชลประทาน (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว) ของกรมชลประทาน ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทรางวัลนวัตกรรมการให้บริการ
          กระบวนงาน การบริหารจัดการชลประทาน (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว) โดยกรมชลประทาน เป็นกระบวนงานที่ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารจัดการน้ำ ที่มุ่งพัฒนาเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานเป็นหลัก ไปสู่ทิศทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำชลประทาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญเพื่อบริหารจัดการน้ำในทุกขั้นตอน โดยจัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ JMC ซึ่งย่อมาจาก Joint Management Committee for Irrigation ที่ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชน
          นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการใช้น้ำจากเขื่อนกระเสียวมีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยมีการใช้น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค เมื่อการใช้น้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการยากขึ้น มีการแย่งชิงการใช้น้ำ จึงต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการชลประทานขึ้น เพื่อให้ทุกส่วนที่ใช้น้ำได้เข้ามาบริหารจัดการเอง และมีทั้งส่วนท้องถิ่นและข้าราชการเข้ามาช่วยกันบริหารจัดการ ทำให้ปัญหาดังกล่าวได้หมดไป 
          นายศุภกฤษ พัฒนศิริ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว ได้กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการชลประทาน เกิดจากการประชุม ปรึกษา หารือ ร่วมกันระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนและชลประทาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ชี้แจงและรายงานสถานการณ์น้ำ ให้ทราบว่าปัจจุบันน้ำในเขื่อนมีอยู่เท่าไหร่  2) กำหนดระยะปิด เปิดน้ำ  3) กำหนดพื้นที่การรับน้ำ ซึ่งจะแบ่งว่า พื้นที่ใดควรรับน้ำ ควรอยู่ในเกณฑ์เท่าไหร่ แล้วมีการแบ่งน้ำระหว่างภาคเกษตรกร และภาคเอกชนที่ใช้น้ำร่วมกันอย่างชัดเจน 
          สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการบริหารจัดการฯ  คือ  ช่วยลด  ได้แก่  1. ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างต้นคลองกับปลายคลอง  2. ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน  3. ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรภายในพื้นที่ของโครงการฯ กับเกษตรกรในพื้นที่ที่อยู่บริเวณรอบแต่ใช้น้ำจากเขื่อนกระเสียว  4. ลดปัญหาความขัดแย้งหรือการแทรกแซงทางการเมือง  5. ลดการใช้น้ำชลประทาน และ  6. ลดงบประมาณของกรมฯ ได้เป็นจำนวนมาก 


          นอกจากช่วยลดแล้ว การบริหารจัดการในลักษณะนี้ยัง ช่วยเพิ่ม ได้แก่  1. เพิ่มความรักสามัคคี  2. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ  3. ทำให้แต่ละคนได้รู้จักบทบาทหน้าที่ รวมทั้งยอมรับและตระหนักในเรื่องของการเป็นเจ้าของน้ำ และเห็นคุณค่าของน้ำ คุณค่าของการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทานด้วย
          ในช่วงที่ 3 ของรายการฯ กลับมาสนทนากับ รศ.ดร.ปรีชา เกี่ยวกับกติกา หรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณากระบวนงานเพื่อรับรางวัลฯ 
          รศ.ดร.ปรีชา ได้กล่าวว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนน ต้องพิจารณาจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายของการให้บริการนั้นมีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนในประเทศ ชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการในประเทศไทย และนักลงทุน นักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาต้องสร้างแรงจูงใจให้กับหน่วยงานราชการ โดยการพัฒนาให้มีการได้รับรางวัลระดับนานาชาติหรือองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการให้บริการที่ดีของภาครัฐ เพราะฉะนั้นเป้าหมายหลัก คือ การปรับปรุง พัฒนาคุณภาพการให้บริการตอบสนองความต้องการของประชาชน
          ในช่วงนี้รายการฯ ได้นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น อีก 2 กระบวนงาน ได้แก่ กระบวนงาน ทดสอบขับรถตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกรมการขนส่งทางบก และกระบวนงาน การจัดตั้งธุรกิจ (e-Starting Business) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

          กระบวนงาน ทดสอบขับรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกรมการขนส่งทางบก ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทรางวัลนวัตกรรมการให้บริการ 
          นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกมีภารกิจหลัก ๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนาการจัดระเบียบการขนส่งทางถนน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี 2. กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย 3. การบริหารจัดการและการบริการ 
          เรื่องของการให้บริการ ทางกรมฯ ได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ว่าทุกหน่วยงานต้องนำไปบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน และระยะเวลาในการให้บริการด้วย 

          นายสุชีพ วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดนครปฐม ได้กล่าวว่า
          รางวัลที่ได้มานี้ ได้มาจากการนำวิสัยทัศน์ และนโยบายของกรมฯ มาเป็นแรงผลักดันให้สำนักงานขนส่งจังหวัดนครปฐมดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งกระบวนงานนี้ ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดนครปฐมได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทดสอบและประมวลผล โดยผ่านกล้องอิเล็กทรอนิกส์ จับความเคลื่อนไหวของการขับรถ สำหรับประโยชน์จากการนำกระบวนงานนี้มาใช้คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และช่วยลดปัญหาคมไม่ยุติธรรมในการตัดสิน นอกจากนี้ยังช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลา รวมทั้งใช้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานน้อยลงด้วย 
          กระบวนงาน การจัดตั้งธุรกิจ (e-Starting Business) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
          ในปี 2553 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนฯ ทั้งสิ้น 4 รางวัล ได้แก่ 
          1. กระบวนงาน การให้บริการข้อมูลระหว่างหน่วยงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รางวัลดีเด่น ประเภทรางวัลนวัตกรรมการให้บริการ
          2. กระบวนงาน การให้บริการหนังสือรับรอง สำเนาเอกสาร และถ่ายเอกสารผ่านระบบ e-Service รางวัลดีเด่น ประเภทรางวัลภาพรวมกระบวนงาน
          3. กระบวนงาน การจัดตั้งธุรกิจ (e-Starting Business) รางวัลดีเด่น ประเภทรางวัลกระบางานที่มีความเชื่อมโยงหลายส่วนราชการ
          4. กระบวนงาน การรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท รางวัลชมเชย ประเภทรางวัลรายกระบวนงาน 
          นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นกรมบริการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทและพัฒนาส่งเสริม รวมทั้งกำกับดูแลด้านข้อมูลธุรกิจ เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างทันท่วงที และที่สำคัญที่สุด คือ สามารถแข่งขันกับธุรกิจภาคเอกชนได้ การดำเนินงานของกรมฯ เริ่มจากการปรับภาพลักษณ์ศูนย์บริการธุรกิจทั่วประเทศ ให้มีความสะดวกสบาย มีความทันสมัย รวมทั้งการพัฒนาบุคลกรที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน โดยการส่งไปอบรม 
          สำหรับแนวคิดและรูปแบบของกระบวนงานจัดตั้งธุรกิจ หรือ e-Starting Business คือ การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจสู่หน่วยงานพันธมิตร ที่นับว่ามีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม กระบวนงานนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ ช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ
          นายชัยณรงค์ โชไชย ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนธุรกิจ ได้กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเริ่มต้นตั้งแต่การปรับรูปแบบของการให้บริการหรือปรับกระบวนการให้เป็นเชิงบูรณาการ โดยบูรณาการแบบฟอร์มที่ผู้ขอจัดตั้งธุรกิจต้องกรอกรายละเอียด จาก 3 แบบฟอร์ม ให้เหลือเพียง 1 แบบฟอร์มเท่านั้น สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ คือ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงาน 
          ในช่วงสุดท้ายของรายการฯ รศ.ดร.ปรีชา ได้กล่าวว่า ได้ชักชวนให้หน่วยงานราชการส่งผลงานการปรับปรุงการให้บริการฯ ในส่วนของภาคประชาชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น คือ สามารถส่งชื่อหน่วยงานราชการที่มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการฯ ได้ เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ตนเอง เป็นแบบอย่างให้หน่วยงานอื่นๆ และยังมีโอกาสก้าวสู่ National level เพื่อประกวดระดับโลก คือ ได้รับรางวัลขององค์การสหประชาชาติ
 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 10:33:33 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 10:33:33

ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th