Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2554 / กุมภาพันธ์ / สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรม ที่ปรึกษาในการพันาองค์การ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรม ที่ปรึกษาในการพันาองค์การ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรม ที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์การ 
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554



          
เมื่อวันที่ 6 - 7 มกราคม 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จัดอบรมหลักสูตร ที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์การ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ณ ห้องจรัสเมือง 1 ชั้น 2 โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมและกล่าวถึงบทบาทของที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์การ หรือ หมอองค์การ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในการเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำส่วนราชการระดับกรมและจังหวัด ในการดำเนินการตามตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ความสามารถในการให้คำปรึกษาแนะนำกับส่วนราชการในการพัฒนาและปรับปรุงองค์การในมิติต่าง ๆ ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตลอดจนสามารถแนะนำส่วนราชการในการนำเทคนิคเครื่องมือทางการบริหารสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งการติดตามและวัดผลของการปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่อง 


          โดยการจัดอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตรงในด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ โดยมีผู้รับการอบรมจำนวน 74 คน ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการระดับกระทรวง 20 กระทรวง และผู้แทนกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์การตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยในช่วงเช้าวันแรกของการอบรมเป็นการบรรยายหัวข้อ พัฒนาการของการดำเนินการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐจากปัจจุบันสู่อนาคต 


          นางสาวพรพิมล รัตนพิทักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้กล่าวถึงการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐที่ผ่านมาว่า ส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาได้เรียนรู้การบริหารจัดการองค์การอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถวัดระดับการพัฒนาได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการต่อไป เมื่อส่วนราชการสามารถยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จนผ่านเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Fundamental Level: FL) ดังกล่าวแล้ว ต้องมีการพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับผ่านเข้าสู่เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้า (Progressive Level: PL) ซึ่งเมื่อส่วนราชการสามารถพัฒนาจนมีความโดดเด่นในหมวดใดหมวดหนึ่ง จะสามารถขอรับ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐรายหมวด และพัฒนาสู่ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ต่อไป

          จากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง กระบวนการและเทคนิคในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน หมวด 2 การวางแผนยุทธศาสตร์ โดย นายนารถ จันทวงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้กล่าวว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ต้องตอบโจทย์ลักษณะสำคัญขององค์กร ความท้าทาย และความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยข้อมูลที่นำมาจัดทำยุทธศาสตร์ต้องมีความน่าเชื่อถือ เมื่อกำหนดออกมาเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจ จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ เชื่อมโยงถึงการจัดสรรงบประมาณและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป รวมทั้งต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ขององค์กร หรืออาจจะทำให้ยุทธศาสตร์ขององค์กรไม่ประสบผลสำเร็จ และเชื่อมโยงไปที่แผนการบริหารทรัพยากรบุคคล และการติดตามแผนยุทธศาสตร์ ภาพรวมของการวางแผนยุทธศาสตร์ของส่วนราชการจะดำเนินการวิเคราะห์ พัฒนายุทธศาสตร์ได้ค่อนข้างดี แต่จะต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจไปยังบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การถ่ายทอดแผนไปสู่การปฏิบัติดังกล่าวบรรลุผล

          ในช่วงบ่ายวันแรกของการอบรม เป็นการบรรยายเรื่องกระบวนการและเทคนิคในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ โดย ดร.ธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันส่วนราชการได้ตระหนักและตื่นตัวในการพัฒนาองค์การอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระบบงาน อาทิเช่น การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้น ระบบการติดตามแผนงานโครงการ การมีช่องทางการรับฟังการเรียนรู้ผู้รับบริการที่หลากหลายขึ้น ทำให้ส่วนราชการยังคงมีความต้องการการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคนิคบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน และยังเป็นการจัดการฐานข้อมูลขององค์การ ดังนั้น ความสำคัญของหมวด 4 จึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น http://www.worldometers.info/th/ เป็นเว็บไซต์สถิติโลกตามเวลาจริง เช่น ประชากรโลก รัฐบาลและเศรษฐกิจ สังคมและสื่อ สิ่งแวดล้อม อาหาร น้ำ สาธารณสุข พลังงาน เป็นต้น เป็นการแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากองค์กรมีฐานข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน จะสามารถใช้ประโยชน์ได้มาก ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะช่วยในการตัดสินใจ เป็นฐานของการนำไปวางแผน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อนที่จะทำให้เห็นข้อมูล ข้อเท็จจริง และการนำไปใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์มาก และอีกตัวอย่างคือ บริษัท Cargill เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้านเมล็ดพันธุ์พืช ส่วนประกอบของอาหารสัตว์ การคำนวณแนวโน้ม ราคาสินค้าในอนาคต โดยสินค้าที่เริ่มต้นจากสินค้าเกษตร พลังงาน และอาหารสัตว์ น้ำตาล อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น ลูกค้าใหญ่ของ Cargill คือ Macdonald เพียงแห่งเดียว Cargill มี supplier เอง ขายหลายอย่าง จึงต้องเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องมีความแม่นยำในการคำนวณ มีระบบสารสนเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการมีระบบสารสนเทศที่ดี จะสามารถจัดการความเสี่ยงขององค์กรได้ดี 

          ในช่วงเช้าวันที่สองของการอบรมได้แบ่งการบรรยายเรื่อง กระบวนการและเทคนิคในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน ออกเป็น 2 ห้อง ได้แก่

          ห้องที่ 1 หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (สำหรับส่วนราชการระดับกรม) โดย นายถิระ ถาวรบุตร ได้กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับหมวดอื่น ๆ เช่น การนำความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประกอบในการวางแผนยุทธศาสตร์ ผู้รับบริการจะได้รับประโยชน์จริงต้องเกิดจากกระบวนการที่ดี บุคลากรในองค์กรต้องมีคุณภาพในการขับเคลื่อนองค์กร และข้อมูล ข่าวสารขององค์กรต้องมีการจัดเก็บเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดี เพื่อใช้ในการวัดวิเคราะห์ ผลการดำเนินการเพื่อใช้วางแผนต่อไป หากทำแบบบูรณาการกันได้ ก็จะทำให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การจำแนกกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องจำแนกประเภทและคำนึงถึงผู้รับบริการที่พึงมีในอนาคต การรับฟังและการเรียนรู้ที่เน้นสองประเด็น คือ ความต้องการ/ความคาดหวัง และการนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนปฏิบัติปรับปรุง โดยดูจากพันธกิจ หากหน่วยงานทราบว่าภารกิจ คืออะไร จึงจะสามารถระบุกลุ่มผู้รับบริการได้ และต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ได้รับจากผู้ส่งมอบ เพื่อนำมาเป็นปัจจัยนำเข้าของกระบวนการและสามารถส่งผลผลิตที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ทั้งนี้ผู้บริหารควรมีการติดตามตัวชี้วัดที่สำคัญเป็นระยะๆ ด้วย ดังนั้น PMQA จึงไม่ได้เป็นการแยกหมวดในการทำงาน แต่เป็นการเชื่อมโยงบูรณาการการทำงานทั้ง 6 หมวด

          สำหรับ ห้องที่ 2 หมวด 6 การจัดการกระบวนการ (สำหรับส่วนราชการระดับจังหวัด) โดย นายนารถ จันทวงศ์ ได้กล่าวถึงการออกแบบกระบวนการที่สร้างคุณค่าจากยุทธศาสตร์ พันธกิจ และความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดทำข้อกำหนดที่สำคัญของกระบวนการจากส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการของผู้รับริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อกำหนดด้านกฎหมาย รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และการปรับปรุงกระบวนการที่สร้างคุณค่าและกระบวนการสนับสนุน เพื่อให้ผลการดำเนินการมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยยกตัวอย่างจังหวัดปทุมธานี ได้กำหนดกระบวนการสร้างคุณค่าจากประเด็นการตอบสนองแผนยุทธศาสตร์/พันธกิจ และงบประมาณที่ได้รับ การตอบสนองผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจัดทำข้อกำหนดที่เป็นไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการที่สร้างคุณค่า โดยกระบวนการที่ได้คะแนนสูงสุด หมายถึงกระบวนการที่สำคัญที่สุด และมีตัวชี้วัดที่สำคัญเพื่อควบคุม ป้องกันความผิดพลาดของกระบวนการ รวมถึงการออกแบบกระบวนการรองรับภาวะฉุกเฉินด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น จังหวัดปทุมธานีได้จำแนกกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม ประชาชน สถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการชุมชน หน่วยงาน SME ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วจึงมาพิจารณาว่าความต้องการของแต่ละกลุ่มคืออะไร เพื่อนำมากำหนดเป็นกระบวนการที่สร้างคุณค่าและกระบวนการสนับสนุนต่อไป

          นอกจากนั้น ในช่วงบ่ายวันที่สองของการอบรมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง บทเรียนและประสบการณ์ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล โดย นางศิวพร ภมรประวัติ ผู้แทนจากกรมชลประทาน ที่ได้นำประสบการณ์จากกรมชลประทานมาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าอบรม โดยกรมชลประทานได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของบุคลากรในกรม และนำปัจจัยต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เช่น อายุ สถานภาพ คุณวุฒิ ซึ่งกรมชลประทานจะใช้วิธีการสำรวจแบบการสุ่ม กระจายไปทุกสำนัก/กอง ซึ่งผลการวิเคราะห์นั้น ได้มีการวัดในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ สภาพแวดล้อมการทำงาน ความทันสมัยของเครื่องมือเครื่องใช้ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน สุขอนามัย และการเตรียมความพร้อมต่อภาวะฉุกเฉิน ลักษณะงานที่ทำ และยังมีการวัดในประเด็นอื่น ๆ เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคง นโยบายการสื่อสาร การประเมินผลค่าตอบแทน สวัสดิการ การร้องทุกข์ สัมพันธภาพของบุคลากร และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น เมื่อวัดแล้วจึงนำมาจัดลำดับว่าส่วนไหนมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องจัดการปรับปรุงแก้ไขก่อน โดยสรุปผลความพึงพอใจต่าง ๆ เป็นกราฟให้เห็นอย่างชัดเจน การวิเคราะห์จะจำแนกตามกลุ่มได้ เช่น เพศ ระดับการศึกษา ประเภทบุคลากร อายุ เป็นต้น โดยวิเคราะห์ว่าแต่ละกลุ่มมีความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างไร และควรจะตอบสนองกลุ่มไหนอย่างไร เมื่อได้ผลสูงสุดต่ำสุดจากการวิเคราะห์แล้ว ก็จะนำผลการวิเคราะห์มาจัดกลุ่ม ทำ Factor Analysis หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ แล้วจับกลุ่มออกมาเพื่อหาค่าเฉลี่ยของกลุ่ม จากนั้น จึงนำแต่ละกลุ่มมาหาค่าสัมประสิทธิ์ของแต่ละตัวว่ามีผลต่อความผูกพันขององค์การมากน้อยแค่ไหน เมื่อได้ก็ปรับค่าเป็นร้อยละ และมาเขียนเป็นโมเดล แล้วจึงนำมาวิเคราะห์เพื่อทำ Gap Analysis ต่อไป โดยกรมชลประทานมีการพัฒนาบุคลากรใน 2 รูปแบบ คือ การพัฒนาบุคลากรในรูปแบบที่เป็นทางการ เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งในสายงานหลักตามเส้นทางความก้าวหน้าของสายงานที่กำหนด และการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ที่มุ่งเน้นการสั่งสมประสบการณ์โดยให้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในตำแหน่งต่าง ๆ ตามแผนสร้างความก้าวหน้าที่กำหนดให้มีการจัดเตรียมระบบการหมุนเวียนเปลี่ยนงาน (Rotation) 

 


สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม / ข้อมูล
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2554 11:04:12 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2554 11:04:12
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th