ขอเชิญเข้าร่วมประชุมสัมมนาเสริมสร้างและพัฒนา
เครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ
เรื่อง การประเมินผลและพัฒนาหน่วยงานในภาคราชการ
สำนักงาน ก.พ.ร. เตรียมจัดการประชุมสัมมนาเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ เรื่อง การประเมินผลและพัฒนาหน่วยงานในภาคราชการ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 08.30 - 15.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 4 ตึกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนา
การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญรองปลัดกระทรวง คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ค.ต.ป. ประจำกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของส่วนราชการ (CCO) และหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารของส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมและรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (Government Evaluation System: GES) โดย นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบราชการทั้งระดับกระทรวง กรม อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่อง การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานของส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม โดยนายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. โดยมีที่มาจากการที่ส่วนราชการได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานของส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม (พ.ศ. 2554 พ.ศ. 2556) ซึ่งครอบคลุมถึงการขอขยายหน่วยงานหรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่รวมทั้งปรับบทบาทภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการ ระบบและกระบวนการทำงาน และกรอบอัตรากำลัง ในภาพรวมของกระทรวง โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ความคุ้มค่า และความสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งในการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ส่วนราชการได้นำเสนอข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และจะมีการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. ด้วย
ในภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาเรื่อง ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานโดยผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แก่ นายพลชม จันทร์อุไร กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือ เอสซีจี เคมิคอลส์ และ นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทบีทูเอส จำกัด โดยมี นายอนุชิต ฮุนสวัสดิกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อนำเสนอตัวอย่างการจัดทำแผนพัฒนาองค์กร (Organization Development) ที่เกิดผลสำเร็จในภาคเอกชน ซึ่งส่วนราชการสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในหน่วยงานภาครัฐต่อไป
สำหรับเรื่อง ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (Government Evaluation System: GES) นั้น มีที่มาจากการที่ปัจจุบันการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติราชการจะมีกลไกการตรวจสอบและประเมินผลโดยฝ่ายบริหาร และมีระบบการรายงานซึ่งส่วนราชการต้องจัดทำรายงานตามระบบการประเมินผลหรือตัวชี้วัดของหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ส่วนราชการต้องจัดทำรายงานที่มีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเป็นภาระแก่ส่วนราชการในการจัดเตรียมกำลังคนและจัดทำรายงานในลักษณะของเอกสารเป็นจำนวนมากเพื่อจัดส่งให้หน่วยงานกลาง
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 จึงได้พิจารณาเรื่องการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ แล้วมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) รับไปพิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำตัวชี้วัดการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของภาครัฐ และใช้เป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของแต่ละหน่วยงาน โดยยกเลิกตัวชี้ดวัดเดิมที่ไม่จำเป็นและแจ้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นตัวชี้วัดประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ต่อไป
ต่อมาคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ 24 มกราคม 2554 ได้มีมติเห็นชอบความเห็นของค.ต.ป. ในการประชุม ค.ต.ป. ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 และข้อเสนอของสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เสนอต่อที่ประชุมปลัดกระทรวงเกี่ยวกับระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (Government Evaluation System: GES) ซึ่งเมื่อดำเนินงานตามระบบประเมินผลดังกล่าวในส่วนราชการแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับใช้ในการประเมินผลของจังหวัดและองค์การมหาชน ต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เห็นควรให้มีการบูรณาการระบบการติดตามและประเมินผลภาครัฐให้มีความเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนและภาระงานเอกสาร เพื่อให้ส่วนราชการมุ่งเน้นเฉพาะตัวชี้วัดหลักที่มีความจำเป็นโดยมีกรอบการประเมินผลใน 2 มิติ ดังนี้
1.1 มิติภายนอก ประกอบด้วย
1) การประเมินผลกระทบ (โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเลือกเฉพาะบางประเด็นที่มีความสำคัญในเชิงนโยบายและสมควรต้องมีการประเมินผล)
2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ (ผลผลิต/ผลลัพธ์)
3) การประเมินผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (Benefit-Coat Ratio) หรือการประเมินประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย (Cost-Effectiveness) โดยให้ สงป. พิจารณาเลือกเฉพาะบางโครงการที่สมควรต้องมีการประเมินผลในเรื่องดังกล่าว
4) ด้านคุณภาพความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลประโยชน์ ได้รับจากการใช้บริการและที่มีต่อกระบวนงานให้บริการ
1.2 มิติภายใน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 1) ด้านประสิทธิภาพ 2) ด้านการพัฒนาองค์กร
2. เห็นควรให้ยกเลิกตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จำนวน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่
1) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาศูนย์บริการร่วมหรือเคาน์เตอร์บริการประชาชน
2) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการรักษามาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ
3) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการควบคุมภายใน
4) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ
5) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็ขของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการบรรลุเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า
3. เห็นชอบให้มีการวางระบบสารสนเทศฐานข้อมูลกลางขึ้น อันเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางของประเทศและฐานข้อมูลของส่วนราชการเข้าไว้ในฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดทำรายงานของส่วนราชการที่เสนอต่อหน่วยงานกลางและทำให้แต่ละส่วนราชการมีความพร้อมในการรายงานข้อมูลสารสนเทศต่อสาธารณะ และการตรวจสอบของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ
การออกแบบระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ เป็นการยกระดับธรรมาภิบาลของแต่ละส่วนราชการให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สร้างให้มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Accountability) และสร้างความมั่นใจและไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดิน (Public Trust and Confidence) มากขึ้น รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาขีดสมรรถนะการบริหารจัดการขององค์กรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยจะมีการบูรณาการระบบเครื่องมือวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ (PART) ของสำนักงบประมาณ และระบบเกณฑ์รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของสำนักงาน ก.พ.ร. รวมถึงมาตรฐานความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของส่วนราชการและอื่น ๆ เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
มนิตา (สำนักเผยแพร่ฯ) & อักสรณ์ (สลธ.) / ข้อมูล
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2554 12:09:37 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2554 12:09:37