การทบทวนบทบาท
ภารกิจภาครัฐ
ผ่านมุมมอง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ส่วนราชการ
ต่าง ๆ กำลังดำเนินการจัดทำ แผน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน (พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2556)
ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553
ที่เห็นชอบความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร.
ในการขยายระยะเวลาของมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยายหน่วยงาน
รวมทั้งการขอจัดตั้งองค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร
(ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึง 30 กันยายน 2554
รวมทั้งมีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ
เพื่อขอให้ส่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน การขอขยายหน่วยงาน
หรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งองค์การมหาชนของรัฐ
เพื่อจะได้พิจารณาในภาพรวมต่อไป
และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กรรมการ
ก.พ.ร. ได้เขียนบทความเรื่อง ปฏิรูป
ระบบราชการ ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์
ชีวิตที่เลือกได้ โดยกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน
และการทบทวนบทบาทภารกิจภาครัฐ ในวันนี้ OPDC News
จึงขอนำบทความดังกล่าวมานำเสนอค่ะ
ท่านชัยอนันต์ได้
เขียนในบทความเรื่อง ปฏิรูประบบราชการ ไว้ ดังนี้
การปฏิรูปประเทศ
ไทยมีเป้าหมายในการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
อำนาจรัฐเกิดจากภารกิจของรัฐซึ่งมีกฎหมายรองรับ
ยิ่งรัฐขยายภารกิจมากขึ้นเท่าใด
อำนาจรัฐก็จะขยายออกไปจนครอบคลุมทุกส่วนของสังคมมากเท่านั้น
ยิ่งมีการคมนาคม และการสื่อสารทันสมัยขึ้น การควบคุมก็ยิ่งมีประสิทธิภาพ
ต่างจากสมัยก่อนที่รัฐมีอำนาจแต่ในเพียงทฤษฎี
แต่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลต่างปลอดจากอำนาจรัฐ
เพราะระยะทางที่ห่างไกลและการคมนาคมที่ไม่สะดวก
ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง
ขณะนี้คณะรัฐมนตรีสั่งให้ทุกหน่วยราชการเสนอแผนยุทธศาสตร์ในการ
ปรับองค์การ
ทั้งนี้เพราะหน่วยงานหลายหน่วยได้เสนอขอขยายหน่วยจากกองเป็นสำนัก
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการจึงเสนอให้มีการทบทวนภารกิจภาครัฐทั้งหมด
ซึ่งเป็นมาตรการในทางรุก
แทนที่จะรอให้แต่ละหน่วยเสนอเรื่องมาพิจารณาทำให้ไม่เห็นภาพรวม
แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปมากในระยะ 40 ปีที่ผ่านมานี้
โดยภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น คนทั่วไปนิยมทำงานภาคเอกชนมากกว่าที่จะรับราชการ
ภาคประชาสังคมมีองค์กรอาสาสมัครเอกชนมากมายในทุกกิจการ
ประชาชนเองก็มีการรวมกลุ่มกันโดยจัดตั้งเป็นเครือข่าย
และเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นหลายรูปแบบ
แต่หน่วยราชการก็ยังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง
ในการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงองค์กร
คำถามที่ไม่เคยหยิบยกขึ้นมาเลยก็คือ รัฐต้องทำ ควรทำอะไร
และไม่จำเป็นต้องทำ หรือไม่ควรทำอะไร มีเรื่องใดที่รัฐทำอยู่ที่ภาคเอกชน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรประชาชนก็ทำได้ และทำได้ดีพอ ๆ กัน
มีเรื่องใดบ้างที่ภาครัฐสามารถโอนถ่ายภารกิจไปให้ท้องถิ่นทำ
จำเป็นหรือไม่ที่ส่วนกลางจะต้องมีตัวแทนลงไปทำงานในระดับจังหวัด
ควรให้จังหวัดทำงานเหล่านั้นเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดได้หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น จำนวนข้าราชการ งบประมาณ
และการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน
การไม่ประสานงานกันระหว่างส่วนราชการหลายหน่วยที่ต้องทำภารกิจร่วมกัน
การทบทวนภารกิจภาครัฐ จึงเป็นวิธีการปฏิรูปทางโครงสร้างที่สำคัญ
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศควรมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์
และทำงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการอย่างจริงจัง
หลักเกณฑ์ของการพิจารณาว่า
เรื่องใดเป็นภารกิจที่รัฐต้องทำไม่ทำไม่ได้ คือ ภารกิจในการป้องกันประเทศ
และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
และเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา คนทั่วไปจะทำแทนไม่ได้ นอกนั้นก็มีเรื่องการเก็บภาษี
ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน
และลดกำลังคนลงได้
เมื่อพิจารณาเรื่องที่รัฐต้องทำแล้ว ก็มีอีกเรื่องหนึ่งคือ
การให้สวัสดิการที่หวังให้ภาคเอกชนทำไม่ได้
แต่ภาคเอกชนเองก็สามารถร่วมรับภาระนี้ได้จากการมีประกันสังคมสำหรับผู้ใช้
แรงงาน
ใน
การพิจารณาขั้นต่อไป ควรดูว่าเวลานี้มีองค์กร
และบุคลากรรองรับงานที่จะโอนถ่ายจากภาครัฐได้หรือไม่
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่ทั่วประเทศ
ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาอย่างจริงจังว่า
มีงานใดบ้างที่มอบให้ท้องถิ่นทำได้ แม้แต่การส่งเสริมเกษตรกรรม
และการชลประทานขนาดเล็ก
สำหรับภาคเอกชนนั้น
มีองค์การวิชาชีพที่ทำหน้าที่ในการดูแลมาตรฐาน
และคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหลายแห่ง เมื่อเร็วๆ
นี้กระทรวงการท่องเที่ยวได้เสนอขยายหน่วยงานโดยอ้างว่าต้องดูแลมาตรฐานของ
โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีสมาคมโรงแรมคอยดูแลอยู่แล้ว
ส่วนงานด้านมาตรฐานนั้น ปรากฏว่ามีหน่วยงานถึง 46 หน่วยงานทำหน้าที่นี้อยู่
มีคำถามว่า
กระทรวงศึกษาธิการควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมการศึกษา
กระทรวงต้องทำเองหรือทำหน้าที่ส่งเสริม และควบคุมคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษา
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีกรมมากมายอยู่ที่ส่วนกลาง ทำอย่างไรจึงจะกระจายอำนาจ
ปล่อยให้โรงเรียนจัดการเอง และมีคณะกรรมการโรงเรียนคอยกำกับดูแล
หากจะยุบกรมในกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ส่วนกลางให้หมด
เหลือแต่ส่วนที่ดูแลคุณภาพมาตรฐาน จะได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี
การดำเนินการดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เพราะมีคนจำนวนมาก ขั้นแรกก็คือ
ต้องโอนคนเหล่านี้ไปอยู่ที่โรงเรียนให้หมดเสียก่อน
วิธีการที่บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ใช้คือ
การตัดงบประมาณทั้งหมด เราควรตัดงบประมาณทีละน้อย เช่น ปีละ 10% หรือ 20%
ในระยะ 5-10 ปี ก็จะเหลือคนน้อยลง หน่วยงานก็เล็กลง
การทบทวนภารกิจภาค
รัฐเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป
แต่ก็เป็นการปฏิรูปที่มีความสำคัญยิ่ง
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2554 12:16:04 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2554 12:25:16