แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน
สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำ แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน เพื่อให้ส่วนราชการมีการวางแผนในการพัฒนาหน่วยงาน
โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ความคุ้มค่า
และความสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553
ที่เห็นชอบการขยายระยะเวลาของมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยาย
หน่วยงาน
รวมทั้งการขอจัดตั้งองค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร
(ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มใหม่ออกไปอีกระยะหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม
2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
รวมทั้งเห็นว่าสำนักงาน ก.พ.ร. ควรประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ
เพื่อขอให้ส่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน
การขอขยายหน่วยงานหรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่
รวมทั้งการขอจัดตั้งองค์การมหาชนของรัฐ เพื่อจะได้พิจารณาภาพรวม
ดัง
นั้น เพื่อให้ ก.พ.ร.
และคณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาเรื่องการขออขยายหน่วยงานหรือจัดตั้งหน่วยงาน
ใหม่ รวมทั้งการขอจัดตั้งองค์การมหาชน ในภาพรวมได้อย่างเป็นระบบ สำนักงาน
ก.พ.ร. จึงได้จัดทำ แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน เพื่อให้ส่วนราชการมีการวางแผนในการพัฒนาหน่วยงาน
ที่ครอบคลุมถึงบทบาทภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการ ระบบและกระบวนการทำงาน
และกรอบอัตรากำลัง โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ความคุ้มค่า
และความสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล
ซึ่งแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็น
ชอบจากที่ประชุม ก.พ.ร. แล้วในการประชุมครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 26
ตุลาคม 2553
สำหรับ หลักการในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน นั้น
นอกจากจะต้องสะท้อนถึงบทบาทภารกิจ โครงสร้าง ระบบและกระบวนการทำงาน
และอัตรากำลังที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐในปัจจุบัน
และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตแล้ว ยังจะต้องเน้นความมีประสิทธิภาพ
และความคุ้มค่าในเชิงภารกิจภาครัฐอีกด้วย ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาของแผนฯ
ไว้ รอบละ 3 ปี รอบแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2556 โดยมี ขอบเขตของแผนฯ ดังนี้
1. การทบทวนบทบาทภารกิจ
2. การจัดโครงสร้างส่วนราชการ
3. การจัดระบบและกระบวนการทำงาน
4. การจัดกรอบอัตรากำลัง
ขั้นตอนการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน
1. กระทรวงร่วมกับส่วนราชการในสังกัดทบทวนและกำหนดวิสัยทัศน์
ยุทธศาสตร์ บทบาทภารกิจ และโครงสร้างส่วนราชการของกระทรวง
เพื่อให้ได้ทิศทางการพัฒนากระทรวง ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2554 - พ.ศ.
2556) โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก
2. ส่วนราชการในสังกัดทบทวนและกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์
และบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนากระทรวงในระยะ 3 ปีข้างหน้า
(พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2556) โดยในส่วนของบทบาทภารกิจให้กำหนดให้ชัดเจนว่า
ภารกิจใดที่ส่วนราชการควรยุบเลิก เนื่องจากหมดความจำเป็น
หรือไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
ภารกิจใดที่ส่วนราชการควรถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งส่วนที่ต้องถ่ายโอนตามแผนกระจายอำนาจฯ และที่เห็นควรถ่ายโอนเพิ่มเติม
ภารกิจใดที่ส่วนราชการควรมอบให้ภาคเอกชน หรือภาคส่วนอื่น (สถาบัน สมาคม
มูลนิธิ หรือองค์กรชุมชนอื่น ๆ ที่รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ) ดำเนินการแทน
ภารกิจใดที่ส่วนราชการต้องรับผิดชอบและดำเนินการต่อไป
ทั้งที่เป็นภารกิจเดิมและภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น
เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการเฉพาะภารกิจที่สำคัญ จำเป็น
และมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจภาครัฐ
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการยุบเลิก ถ่ายโอน หรือมอบหมายภารกิจด้วย
3. ส่วนราชการจัดโครงสร้างส่วนราชการในระยะ 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.
2554 - พ.ศ. 2556) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และบทบาทภารกิจ
ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความคุ้มค่า และความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
โดยโครงสร้างส่วนราชการที่จะกำหนดนั้นอาจเป็นส่วนราชการ
หรือหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของภารกิจและการบริหารจัดการ
4.
ส่วนราชการกำหนดระบบและกระบวนการทำงานตามบทบาทภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการ
ใหม่ เช่น ระบบการทำงานที่มีภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการ
หรือระบบการทำงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
หรือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาทดแทนการทำงานในระบบเดิม
โดยแสดงกระบวนการทำงานภายในระบบใหม่ด้วย
5. ส่วนราชการจัดกรอบอัตรากำลังในระยะ 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2554 -
พ.ศ. 2556) เพื่อรองรับบทบาทภารกิจ และโครงสร้างส่วนราชการ่
โดยจำแนกเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ ทั้งนี้
ให้สอดคล้องกับมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2556)
ของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
6. กระทรวงนำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานในภาพรวม
ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
และนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงพิจารณาก่อนเสนอ
ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรี
สำหรับ โครงร่างของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน จะประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของกระทรวง/กรม
ได้แก่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ อำนาจหน้าที่ ประเด็นยุทธศาสตร์
เป้าประสงค์ กลยุทธ์ รวมถึงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ อัตรากำลัง งบประมาณ
และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์
1) การทบทวนวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของกระทรวง/กรม
เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ใหม่ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2554 -
พ.ศ. 2556) โดยการวิเคราะห์
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐบาล
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนบริหารราชการแผ่นดิน
และยุทธศาสตร์กระทรวง
สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) เพื่อทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม
2) การทบทวนบทบาทภารกิจของกระทรวง/กรม
เพื่อรองรับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ใหม่
โดยการวิเคราะห์ภารกิจของกระทรวง/กรม ตามแนวทางการวิเคราะห์ภารกิจภาครัฐ
ซึ่งครอบคลุมทั้งภารกิจในปัจจุบันตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย/กฎ
กระทรวงแบ่งส่วนราชการ และภารกิจใหม่ที่ต้องดำเนินการในระยะ 3 ปีข้างหน้า
(พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2556)
ส่วนที่ 3 ข้อเสนอ
1) บทบาทภารกิจของกระทรวง/กรม ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2556) โดยจำแนกภารกิจออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) ภารกิจที่จะต้องยุบเลิก เนื่องจากหมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
(2)
ภารกิจใดที่ส่วนราชการควรถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งส่วนที่
ต้องถ่ายโอนตามแผนกระจายอำนาจฯ และที่เห็นควรถ่ายโอนเพิ่มเติม
(3) ภารกิจใดที่ส่วนราชการควรมอบให้ภาคเอกชน
หรือภาคส่วนอื่น (สถาบัน สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรชุมชนอื่นๆ
ที่รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ) ดำเนินการแทน
(4) ภารกิจใดที่ส่วนราชการต้องรับผิดชอบและดำเนินการต่อไป ทั้งที่เป็นภารกิจเดิมและภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับภารกิจที่จะต้องยุบเลิก ถ่ายโอน หรือมอบหมาย
ให้ส่วนราชการจัดทำแผนกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการยุบเลิก ถ่ายโอน
หรือมอบหมายด้วย
2) โครงสร้างส่วนราชการ ในระยะ 3 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2554 - พ.ศ.
2556) ทั้งส่วนราชการระดับกรม ส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม
หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือองค์การมหาชน
3)
ระบบและกระบวนการทำงานตามบทบาทภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการใหม่ เช่น
ระบบการทำงานที่มีภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการ
หรือระบบการทำงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
หรือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาทดแทนการทำงานในระบบเดิม
โดยแสดงกระบวนการทำงานภายในระบบใหม่ด้วย
4) กรอบอัตรากำลังตามบทบาทภารกิจ และโครงสร้างส่วนราชการ ในระยะ 3
ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2556)
ของกระทรวง/กรมที่สอดคล้องกับมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552 - พ.ศ.
2556) ของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้ง
ให้ปลัดกระทรวง (ยกเว้นกระทรวงกลาโหม)
และหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานตามแนวทางที่กำหนด และส่งให้สำนักงาน
ก.พ.ร. ภายในวันที่ 31 มกราคม 2554 โดยสามารถ download
รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน
แนวทางการวิเคราะห์ภารกิจภาครัฐ
และแบบฟอร์มการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน
ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ทองกร (กลุ่มหลักเกณฑ์และมาตรการจัดส่วนราชการ) / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2553 11:13:43 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2553 11:13:43