Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2553 / กันยายน / การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เรื่อการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตฐานตามระบบ GAP

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เรื่อการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตฐานตามระบบ GAP

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เรื่อง
การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบ GAP


          
สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เรื่อง การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบ GAP เมื่อวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

          สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐให้เกิด กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) ระหว่างหน่วยงาน จึงได้จัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบ GAP (Good Agriculture Practice) ระหว่าง กลุ่มจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดให้เกิดการสร้างเครือข่ายการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง 

          ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการปลูกพืชทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP ดังนี้

          คำว่า GAP ย่อมาจากคำว่า Good Agricultural Practice หมายถึง แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ 1) ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด 2) มีขบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค 3) มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด 4) ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร และ 5) ไม่ทำให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นระบบที่สร้างผลผลิตตรงตามมาตรฐานคุณภาพที่ตลาดต้องการ โดยเกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งเพื่อจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืช และเชื้อโรคต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ ผลผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ดังนั้น ในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP เกษตรกรจะต้องดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่การใช้น้ำ จะต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาด พื้นที่ในการผลิตต้องไม่มีเชื้อโรคและสารพิษ กรรมวิธีในการเก็บรักษาปุ๋ยและสารเคมีต้องมีความถูกต้อง การเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องเป็นไปตามระยะเวลา นอกจากนี้ ระบบ GAP จะดูไปถึงการแปรรูป เช่น น้ำพริก จะดูว่าพริกที่นำมาใช้ในการทำน้ำพริกมาจากไหน มีความปลอดภัยหรือไม่มีกระบวนการผลิตอย่างไร เป็นต้น

            จังหวัดสมุทรสงคราม มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ส้มโอ ดังนั้น แนวทางในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP ของทางจังหวัดสมุทรสงคราม คือ มีการดูแลเพื่อรักษาคุณภาพของส้มโอให้เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่ส้มโอเริ่มต้นติดดอกจนกระทั่งเป็นผลส้มโอที่สมบูรณ์ โดยเทคนิคในการทำให้ส้มโอมีรสชาติหวาน คือ การใส่ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ 

          ใน ช่วงที่ส้มโอกำลังติดดอก ทั้งนี้เพราะในปุ๋ยขี้แดดนาเกลือจะมีโซเดียมและโพแทสเซียมที่ช่วยทำให้ส้มโอ มีรสชาติที่หวาน แต่หากใส่ปุ๋ยขี้แดดนาเกลือมากเกินไป จะทำให้ปลายใบส้มโอไหม้ ดังนั้น ในช่วงแรกที่ส้มโอมีการติดดอก เกษตรกรไม่ควรใส่ปุ๋ยขี้แดดนาเกลือมากเกินไป 

          ** ปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ คือ ดินที่ลอกออกก่อนทำนาเกลือ เกิดจากน้ำที่หมักหลังจากที่ไม่ได้ทำนาเกลือนานแล้ว ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นเน่ามาก เนื่องจากสาหร่าย ตะไคร้น้ำ มีจุลินทรีย์อยู่มาก เมื่อผสมผสานกันจะทำให้ดินร่วนซุยดี  เมื่อใส่ลงไปในผลไม้ ผัก หรือกล้วยไม้  จะทำให้ผลไม้หรือผักหวานมาก ๆ และกล้วยไม้ก็จะงามและอยู่ทน ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสงครามมีรายได้จากการผลิตขี้แดดนาเกลือส่งขายจังหวัด ต่าง ๆ ซึ่งทางจังหวัดผลิตได้เพียง 2 3 พันตัน/ปี เท่านั้น

          ส่วนเทคนิคในการปลูก มะพร้าวน้ำหอมและพุทรา ให้ ได้ผลผลิตดีนั้น เกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยขี้แดดนาเกลือในช่วงก่อนมะพร้าวออกลูก ส่วนพุทราจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นพุทราแตกใบใหม่ อันจะส่งผลให้ผลผลิตต่อต้นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังกล่าวถึงน้ำหมักจากขี้หมูว่า หากนำน้ำหมักจากขี้หมูไปรดต้นข้าว จะทำให้ต้นข้าวมีความสมบูรณ์ แข็งแรง 

           สำหรับ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ สับปะรด ทางจังหวัดมีเทคนิคในการทำให้สับปะลรวดเร็วและพร้อมเพรียงกัน โดยการหยดก๊าซอะเซทีลีน (Acetylene) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ลงไปที่ขั้วของสับปะรด ซึ่งการใช้เทคนิคเช่นนี้ทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในการทำให้พืชผักผลไม้มีสีเขียวสด น่ารับประทาน มีเทคนิคที่สำคัญ คือ ให้ฉีดน้ำขึ้นไปบนที่สูง เพื่อให้ละอองน้ำจับกับไนโตรเจน (Nitrogen) ในอากาศ ก่อนตกลงสู่พื้นดิน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้พืชผักผลไม้มีใบสีเขียวสดน่ารับประทาน 

          สำหรับ การป้องกันศัตรูพืช  จังหวัดสมุทรสงคราม  จะไม่มีการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงใด ๆ แต่จะใช้วิธีทางธรรมชาติที่เรียกว่าตัดหญ้าล่อแมลง โดยเกษตรกรจะสังเกตลักษณะทางธรรมชาติของแมลงที่มักจะชอบวางไข่บนใบไม้อ่อน ดังนั้น ในการป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลายต้นส้มโอ เกษตรกรจะตัดหญ้าเพื่อให้หญ้าแตกใบอ่อน เพื่อล่อให้แมลงมาวางไข่บนใบหญ้า หลังจากนั้นสัตว์ต่าง ๆ ตามระบบนิเวศวิทยาก็จะช่วยกำจัดศัตรูพืชเอง ซึ่งผู้แทนจากจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกสัตว์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการกำจัดศัตรูพืชว่า กองทัพบก (กบ เขียด) ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่อยู่บนดิน กองทัพอากาศ (มดแดง แมงมุม) ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่อยู่บนอากาศ และ กองทัพเรือ (ปลา) ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ตกลงไปในน้ำจากการปักไฟไล่แมลง ส่วนศัตรูพืชที่อยู่ใต้ดิน เกษตรกรจะใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากน้ำส้มควันไม้กำจัดศัตรูพืชที่อยู่ใต้ดิน ต่อมาจังหวัดนครปฐมได้กล่าวเสริมว่าทางจังหวัดนครปฐมได้มีการใช้ตัวห้ำและ ตัวเบียนมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช โดยได้รับความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มาให้ความรู้แก่เกษตรกรในจังหวัด 

          ในเรื่อง การตลาด (Marketing)  จังหวัดราชบุรี  ได้มีการจัด มหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัยและวิสาหกิจชุมชนจังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2553 ณ อำเภอดำเนินสะดวก เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่และจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตที่ ปลอดภัยจากสารพิษให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ชมพู่ ฝรั่ง มะพร้าวอ่อน ฯลฯ นอกจากนี้ตลาดบางแห่งในจังหวัดราชบุรี เช่น ตลาดศรีเมือง จะมีมุมสำหรับสินค้าที่ผ่านมาตรฐานตามระบบ GAP โดยเฉพาะ และมีการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องระบบ GAP แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานตามระบบ GAP ได้ต่อไป

          ในเรื่อง การรับรองคุณภาพสินค้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าในการรับรองคุณภาพสินค้าประเภทอาหารจะไม่มี การตรวจเป็นกระบวนการเหมือนสินค้าประเภทเกษตร แต่จะตรวจดูที่ความปลอดภัยของอาหารประเภทนั้นว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งโดยปกติจะมีการสุ่มตรวจ 3 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน หากผ่านการตรวจจะมีการมอบป้ายรับรองคุณภาพสินค้าให้กับเจ้าของร้าน แต่ปัญหาที่เกิดจากการมอบป้ายรับรองคุณภาพสินค้าแก่เจ้าของร้าน คือ ประชาชนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าสินค้าในร้านผ่านมาตรฐาน GAP แล้วทั้งหมด นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ระบบ GAP ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าที่ผ่านระบบ GAP มีความปลอดภัยจริง เพราะเจ้าหน้าที่เคยตรวจส้มโอแล้วพบว่า ส้มโอไม่มีสารตกค้าง แต่เมื่อตรวจเลือดของเจ้าของสวนส้มโอกลับพบสารพิษในเลือด ซึ่งเป็นไปได้ว่าการที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกายของเจ้าของสวน ส้มโออาจมาจากการบริโภคผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ ในตลาด หรือจากการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง โดย ไม่ป้องกันร่างกายให้มิดชิด

          สุดท้าย ใน  การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Q)  ประเทศไทยมีระยะเวลาในการรับรองมาตรฐานสินค้าประมาณ 2 - 3 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของสินค้า ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้ขอต่ออายุเอง โดยเกษตรกรจะต้องเป็นผู้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าก่อนหมดอายุ และในการตรวจคุณภาพสินค้า ถ้าตรวจใหม่แล้วไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ เจ้าของจะถูกคัดรายชื่อออก ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเรียกระบบมาตรฐานการเกษตรแบบเดียวกันนี้ว่า ระบบ JAS (Japan Agricultural Standard : JAS) โดยจะรับรองคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานนานถึง 5 ปี

          ผลสำเร็จจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปแบบชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) ในครั้งนี้ ส่งผลทำให้กลุ่มจังหวัดต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) เกี่ยวกับประสบการณ์ เทคนิค วิธีการในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP (Good Agriculture Practice) ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้าร่วม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดตนเอง อันจะก่อให้เกิดการต่อยอดและยกระดับความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ยังก่อให้เกิดความมั่นใจในการเข้าถึงปัญหา มีการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความผูกพันต่อกันเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทำให้ผลงานที่ได้มีคุณภาพ ซึ่งชุมชนนักปฏิบัติถือเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนและเครื่องมือในการจัดการ ความรู้ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาบุคกรและองค์กรต่อไป

          สำหรับแผนดำเนินการต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. จะเข้าไปเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มจังหวัดอีกครั้งหนึ่งในเรื่อง Green Industry : ก้าวไกลสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้ 


สำนักนวัตกรรมฯ / เรื่อง & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 21 กันยายน 2553 10:15:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 21 กันยายน 2553 10:15:09
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th