การอบรมหลักสูตร ปรับมุม เปลี่ยนทิศ สู่องค์การช่างคิด (Creative Organization)
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา สวัสดิการ สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดการอบรมหลักสูตร ปรับมุม เปลี่ยนทิศ สู่องค์การช่างคิด (Creative Organization) ซึ่งเป็นการร่วมกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ และร่วมรับฟังกรณีตัวอย่างจากองค์การสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ โดยมี ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ และ ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตเดช จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรในการบรรยาย ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยมีผู้สนใจร่วมลงทะเบียน เข้าร่วมการอบรม 110 คน
การอบรม หลักสูตร ปรับมุม เปลี่ยนทิศ สู่องค์การช่างคิด (Creative Organization) เป็นการสร้างความเข้าใจถึงหลักการเบื้องต้นของแนวคิดด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Social wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)
นอกจากนี้ วิทยากรยังได้กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยสรุปกลไกที่สำคัญของการพลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2555) ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้จัดสรรงบประมาณให้งานสร้าง Creative Economy ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมช่างฝีมือไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมรวมออกแบบและสินค้าเชิงสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยได้มีการยกตัวอย่างธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร โดยสรุปภาพความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่ผลักดันให้เกิดองค์กรสร้างสรรค์ ซึ่งได้แก่
1. ความสร้างสรรค์ระดับบุคคล (Individual) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในองค์กรเชิงสร้างสรรค์ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การประมวลความรู้ การรับรู้ นิสัยใฝ่รู้ ความชำนาญ แรงผลักดันภายใน องค์ความรู้ ฯลฯ
2. ความสร้างสรรค์ในระดับกลุ่มกลุ่มผู้ร่วมงาน หรือทีมงาน (Group) เกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมร่วม ความหลากหลาย การโต้ตอบ การทำงานร่วมกัน เนื้องานและขอบเขต แนวทางแก้ปัญหา ฯลฯ ซึ่งความแตกต่างทางแนวคิดของระดับบุคคลเมื่อผ่านกระบวนการที่เหมาะสมในการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจาความสร้างสรรค์ในกลุ่ม จะนำไปสู่การตกผลึกความคิดในองค์กรเชิงสร้างสรรค์ได้
3. ความสร้างสรรค์ในระดับองค์กร (Organization) เป็นภาพรวมและคุณสมบัติขององค์กรสร้างสรรค์ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น โครงสร้างอค์กร วัฒนธรรมองค์กร ทรัพยากร ระบบการให้รางวัล กลยุทธ์ โครงสร้าง เทคโนโลยี เป็นต้น
การอบรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการสร้างทักษะและแนวทางการนำการคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในองค์กร โดยคำนึงถึงแนวทางการกระตุ้นการสร้างการมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการคิดนำเสนอ และทดลองเพื่อสร้างการพัฒนาทั้งในระบบการดำเนินงาน และการให้บริการต่อประชาชน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมได้มีการแบบประเมินลักษณะและศักยภาพของแต่ละคน โดยผลการประเมินนั้นได้สะท้อนลักษณะนิสัย ความชอบและทักษะของการทำงานที่เหมาะสมกับลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาตนเองในด้านที่ผลการประเมินนั้นมีระดับต่ำ และในขณะเดียวกันผลการประเมินที่ได้ในระดับสูงยังสะท้อนให้เห็นศักยภาพเฉพาะด้านของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจน
ในช่วงท้ายของการอบรมได้มีการทำ Workshop สร้างความเชื่อมโยงระหว่างทักษะการคิดที่สำคัญที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดเชิงวิพากษ์ และความคิดเชิงระบบ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / รายงาน
นรินทร์ธร (สลธ.) / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 30 สิงหาคม 2553 11:42:55 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 สิงหาคม 2553 11:42:55