ทั้งนี้ ล่าสุด ในการประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกตัวชี้วัดที่ 8 ระดับความสำเร็จของการตรวจสอบภายใน โดยให้นำน้ำหนักของตัวชี้วัดดังกล่าว (ร้อยละ 2) ไปรวมไว้ในตัวชี้วัดที่ 6 ร้อยละของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน/ภาพรวม/เงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทำให้น้ำหนักของตัวชี้วัดที่ 6 ปรับเป็น ร้อยละ 5
อนึ่ง จากการที่สำนักงาน กพ.ร. ได้สนับสนุนให้ส่วนราชการต่าง ๆ จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 และได้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พบว่าส่วนราชการมีการสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว หากกระทรวงได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จะสามารถเจรจาข้อตกลง จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ และติดตามประเมินผลความสำเร็จของส่วนราชการระดับกรมในสังกัดได้ด้วยตนเอง สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ริเริ่มโครงการวางระบบการจัดทำคำรับรองและการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองระหว่างส่วนราชการระดับกระทรวงและส่วนราชการระดับกรมในสังกัดขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยมีกระทรวงนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จากนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ก.พ.ร. ได้มีมติให้เพิ่มกระทรวงที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามระบบการจัดทำคำรับรองและประเมินผลฯ ในรูปแบบกระทรวงนำร่องเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ กระทรวงสาธารณสุข