การสัมมนาการส่งเสริมการพัฒนา
ระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office)
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ณ โรงแรมมิราเคิล สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักเผยแพร่และสนับสนุนการมี ส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ได้จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง การส่งเสริมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office) โดยมี นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงานและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมสัมมนาครั้งนี้ว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ รวมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบฯ ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก หน่วยงานรอง หน่วยงานที่ปรึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาระบบฯ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ในการนี้ นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง การพัฒนาระบบราชการ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกล่าวถึง ระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office) ที่มีทั้งหมด 11 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบงานนโยบาย แผนงาน โครงการ 2) ระบบงานบริหารงบประมาณการเงินและบัญชี 3) ระบบงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ 4) ระบบงานพัสดุ อาคาร สถานที่และยานพาหนะ 5) ระบบงานนิติการ 6) ระบบงานประชาสัมพันธ์ 7) ระบบงานวิเทศสัมพันธ์ 8) ระบบงานสารบรรณและเลขานุการ 9) ระบบงานตรวจสอบภายใน 10) ระบบงานผู้ตรวจราชการ และ 11) ระบบงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศในสำนักงาน
สำหรับกรอบการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐมี 7 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
1. นำเอาวิสัยทัศน์ของรัฐบาล วาระแห่งชาติ และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสูงสุด (Top Management View) มาพิจารณากำหนดหน้าที่และความสามารถของระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐแต่ละระบบ
2. หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐแต่ละระบบ ต้องจัดการประชุมระดมความคิดเห็นหน่วยงานรองและหน่วยงานเสริม ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ร่วมในความต้องการของระบบนั้นๆ ให้แต่ละระบบของการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office) สามารถทำงานให้กับทุกส่วนราชการได้และเป็นที่ยอมรับ
3. วิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor) ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office)
4. สำรวจสถานภาพของระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐในแต่ละระบบที่กำลังใช้ หรือพัฒนาในทุกหน่วยงานภาครัฐว่า ในปัจจุบันระบบที่แต่ละหน่วยงานใช้อยู่นั้น มีศักยภาพที่จะนำมาปรับปรุงให้เข้าเป็นระบบเดียวกัน (Integrate) ได้ หรือควรปรับปรุงให้เชื่อมโยง (Interface) กับระบบที่จะพัฒนาขึ้นใหม่ได้หรือไม่ หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่นๆ ได้หรือไม่ เพื่อเป็นการประหยัดและลดขั้นตอนการพัฒนาฯ
5. ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานหลัก กับหน่วยงานรอง และหน่วยงานเสริม หรือหน่วยงานที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ความผูกพัน และ ความเป็นเจ้าของร่วมของระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐนั้นๆ
6. การออกแบบระบบ โดยคำนึงถึงแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความมั่นคง และ ความปลอดภัยของระบบงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อองค์กร
7. จัดทำผังขั้นตอนการทำงานของระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐแต่ละขั้น ซึ่งแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธืกับส่วนงานต่างๆ ในองค์กร (Business Process) และข้อมูลที่ต้องการในแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติงาน (Data Modeling) โดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งทั้ง 7 ขั้นตอนหลักนี้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานองค์กร (infrastructure) ที่ทำให้ระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐมีการพัฒนา เพื่อรองรับการเติบโตของระบบราชการอย่างมั่นคงต่อไป
ช่วงท้าย นายสมภพ อมาตยกุล ได้ฝากไว้ว่า การทำงานในระบบราชการเพื่อสนองตอบความต้องการต่อประชาชน ต่อสังคม ต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งหากปรับเปลี่ยนด้วยการเพิ่มความพยายามในการทำงานให้หนักขึ้น การเพิ่มชั่วโมงการทำงาน เพิ่มจำนวนคนทำงาน จะสามารถเพิ่มปริมาณงานได้เพียง 20% แต่หากนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้เพิ่มเข้าไป จะสามารถเพิ่มปริมาณงานได้ถึง 60 - 70%
จากนั้นเป็นการเสวนาเกี่ยวกับ ระบบ Back Office Showcase ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ และการนำแนวคิดที่สอดประสานกับการปฏิรูประบบราชการ และการพัฒนาระบบราชการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งเป็นการแสดงความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบ Back Office ของหน่วยงานหลักต่างๆ ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ และ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง โดยมี นางไอรดา เหลืองวิไล เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
สำหรับช่วงบ่ายเป็นการเสวนาเชิงวิชาการ โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้
ห้องที่ 1 หัวข้อเรื่อง ก้าวสำคัญของ Back Office สู่ Front Office เพื่อการบริการที่ดีเลิศ โดยมี ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก และมี นายสมเกียรติ กุลธรรมโยธิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ห้องที่ 2 หัวข้อเรื่อง การแลกเปลี่ยนข้อมูล TH e-GIF/NSW บนเครือข่าย GIN เพื่อการประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยมี ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และผู้แทนกรมที่ดิน และมี นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ห้องที่ 3 หัวข้อเรื่อง ความพร้อมด้าน Security ของประเทศไทย โดยมี ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ผู้แทนสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ และมี ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นนทญา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 18 สิงหาคม 2553 10:33:07 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 18 สิงหาคม 2553 10:33:07