สำนักงาน ก.พ.ร. จัดสัมมนา...
สานสัมพันธ์และบริหารเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ
เมื่อวันที่ 1 - 2 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมสัมมนาสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ เรื่อง สานสัมพันธ์และบริหารเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ ณ โรงแรมโบนันซ่า เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดย ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ
ก.พ.ร. ได้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย
การสัมมนาในครั้งนี้ได้มีผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO)
และกลุ่มพัฒนาระบบบริหารระดับกระทรวง กรมต่าง ๆ จำนวนกว่า 200 คน
การสานสัมพันธ์และบริหารเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังอุปสรรคปัญหา
ข้อเสนอแนะต่าง ๆ
รวมทั้งหาแนวทางตลอดจนกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบราชการแบบเครือข่ายร่วมกัน
เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข
และร่วมผลักดันการพัฒนาระบบราชการให้ดียิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง ทิศทางการพัฒนาระบบราชการไทยกับการสร้างความเชื่อมั่นในระบบราชการไทย โดยกล่าวถึงประเด็นสำคัญในเรื่องของ PERC
ซึ่งได้จัดอันดับระบบราชการไทยดีเยี่ยมเป็นอันดับ 3 จาก 12
ประเทศในทวีปเอเซีย รองจากประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกงว่า
เป็นผลจากความต่อเนื่องในการปรับปรุงและพัฒนาระบบราชการอย่างจริงจังในช่วง
หลายปีที่ผ่านมา เช่น
การลดระยะเวลาและขั้นตอนการให้บริการที่เอื้อต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ
ซึ่งสอดคล้องกับการที่ไทยได้ถูกจัดอันดับที่ดีขึ้น ในเรื่อง Doing
Business โดยอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศทั่วโลก ในปี 2553
เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม
การพัฒนาระบบราชการก็ยังต้องดำเนินต่อไป โดยโจทย์ที่ต้องดำเนินการกันต่อ
เรื่องหนึ่งคือ มาตรการทบทวนบทบาท
ภารกิจของส่วนราชการ ตามมาตรา 33
แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
พ.ศ. 2546
โดยการถ่ายโอนงานด้านตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของส่วนราชการต่าง ๆ
ให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน
ซึ่งเป็นการปรับบทบาทของภาครัฐให้คงเหลือเฉพาะส่วนภารกิจหลักที่สำคัญ
จำเป็น และมีความคุ้มค่าต่อการปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งภารกิจนี้
ถือเป็นภารกิจที่ทุกคนในระบบราชการต้องช่วยกันทำ ช่วยกันเปลี่ยน
และออกแบบระบบราชการใหม่ให้ดีเพื่อเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและนัก
ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว
หลังจากนั้นเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award) หรือ PMQA โดย นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข ผู้
อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 3 สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม
สำนักงาน ก.พ.ร.
ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกระทรวง
หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และสำนักงาน ก.พ.ร.
ได้มาสานสัมพันธ์การทำงานแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายให้กระชับมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาครัฐ
โดยยึดหลักการพัฒนาองค์การสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการใช้เทคนิค
การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
ซึ่งจะนำไปสู่การขอรับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน
และรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม/เคาน์เตอร์บริการประชาชน
รวมไปถึงรางวัลคุณภาพในระดับสากล อาทิ รางวัล United Nations Public
Service Awards ขององค์การสหประชาชาติ
ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับรางวัลในระดับดีเยี่ยมมาแล้ว
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอผลการดำเนินการ PMQA ดีเด่น ของ กรมทางหลวงชนบท โดย นายพิชัย สุขอยู่ และ กรมการพัฒนาชุมชน โดย น.ส.ขนิฏฐา กาญจนรังษีนนท์ โดยมี นายอนุชิต ฮุนสวัสดิกุล ผู้
เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ
กลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ
เป็นผู้ดำเนินรายการ ตลอดจนมีการแบ่งกลุ่มบรรยายถ่ายทอดความรู้ เสวนา
แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นโดยมีวิทยากรจากส่วนราชการที่ได้รับคะแนนการพัฒนา
คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ประจำปีงบประมาณ 2552
ที่โดดเด่นร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ ดังนี้
● หมวด 1 ด้านการนำองค์กร นำกลุ่มร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาองค์กร และพัฒนาระบบราชการไทย โดย นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร.
● หมวด 2 ด้านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ นำเสนอโดย นายนริศร์ วรรณประภา และ นายไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
● หมวด 4 ด้านการคิด การวิเคราะห์ และจัดการความรู้ นำเสนอโดย นางแววตา เรืองนภา จากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
● หมวด 6 ด้านการจัดการกระบวนการ นำเสนอโดย นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยผลจากการแบ่งกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นดังกล่าว มีผลสรุป ดังนี้
1. กลุ่มผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง มีข้อคิดเห็น ดังนี้
1.1 ผู้นำองค์กรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราชการ
1.2
ศักยภาพของข้าราชการต้องสามารถตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชน
ที่แตกต่างหลากหลาย และรักษาผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ
1.3
บุคลากรภาครัฐต้องได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้มีความทันสมัย
คิดริเริ่ม
พร้อมปรับเปลี่ยนให้ทันกับระบบราชการและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
และต้องวัดขีดสมรรถนะของข้าราชการด้วยผลของงาน
มิเช่นนั้นในอนาคตระบบราชการจะไม่ได้คนดีที่คาดหวังที่จะเป็นที่พึ่งของ
ประชาชน
1.4 ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการให้มากยิ่งขึ้น
1.5 ควรมีการบูรณาการการทำงานแนวขวางของ 4 หน่วยงานหลัก คือ
สำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.
และสำนักงาน ก.พ.ร.
1.6 ระเบียบ ข้อบังคับ ในการปฏิบัติราชการควรมีความยืดหยุ่นตามภารกิจของแต่ละส่วนราชการ
2. การนำเสนอกรณีตัวอย่างและแบ่งกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง PMQA ของส่วนราชการที่ประสบผลสำเร็จ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสรุปได้เป็นวิธีการดำเนินงานให้สำเร็จ (How to do and How to success) ดังนี้
2.1 วิธีการดำเนินการให้สำเร็จ
1) หมวด 1 : การนำองค์กร ผู้
บริหารถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการ จึงต้องสร้าง แผนผังทิศทาง
เป้าหมายองค์กรที่เชื่อมโยงให้เห็นเป้าประสงค์ไปจนถึงผลผลิต ผลลัพธ์
และตัวชี้วัดจนถึงบุคคล ที่ชัดเจน ง่ายต่อการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
และการติดตามตรวจสอบของฝ่ายบริหาร
2) หมวด 2 : การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ต้องใช้แผนงบประมาณเป็นตัวตั้ง
และบวกเพิ่มส่วนที่เป็นนโยบายพิเศษในการดำเนินงาน
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริง และนำไปถ่ายทอดในระดับสำนัก กอง
และบุคคล ต้องมองภาพรวมและคิดให้ง่าย ทำให้ง่าย
ไม่ต้องใช้วิชาการที่ซับซ้อนให้คิดเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สามารถนำไปปฏิบัติ
ได้จริงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น
3) หมวด 4 : การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ มีวิธีดำเนินการในภาพรวมคือ วิเคราะห์งานขององค์กรที่กำหนดไว้ในหมวด 4
ต้องมีข้อมูลใดบ้าง โดยให้หัวหน้าหมวดและเลขานุการหมวด 4 ตีความ ADLI
ในแต่ละรหัสของหมวด 4 ตามเกณฑ์ PMQA
และดึงเจ้าของงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการขององค์กรมาร่วมกันวิเคราะห์
ที่สำคัญคือ ต้องมีกระบวนการทำจริงและมีหลักฐาน
จากนั้นก็จัดทำเป็นแผนการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงถ่าย
เป้าหมายการดำเนินงานลงสู่ผู้ปฏิบัติงาน
และจัดทำมาตรฐานการกำกับสร้างความพร้อมใช้ของระบบสารสนเทศในรูปแบบของ
เครื่องมือและเอกสารในการปฏิบัติการ
และการตรวจสอบการใช้ระบบและทดสอบระบบตามคู่มือ
เพื่อนำไปใช้ได้จริงตามเกณฑ์การวัด
4) หมวด 6 : การจัดการกระบวนการ มี
เทคนิควิธีการทำงานใหม่
โดยตั้งคณะทำงานเป็นชุดเดียวแต่มีผู้แทนในสำนักกองเป็นผู้รับผิดชอบเป็นราย
หมวด 6 หมวด ที่ตรงกับเกณฑ์ PMQA และนำเทคนิคของ blueprint for change
มาใช้
โดยหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารเป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อสามารถเชื่อมโยงการทำ
งานเป็นเสมือนเครือข่ายภายใน และประชุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง PMQA
ในครั้งเดียวไม่แยกกันทำ โดยการมองภาพรวมและเชื่อมโยง
เน้นการมีส่วนร่วมของฝ่ายบริหาร
โดยใช้กรอบของผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดของกรมเป็นตัวชี้วัดเพื่อการเลื่อน
เงินเดือนด้วย
2.2 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1) ผู้บริหารให้การสนับสนุนด้วยความจริงใจและจริงจัง
2) ศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจเกณฑ์อย่างเชื่อมโยง
มองเกณฑ์ให้ทะลุ
สอดคล้องกับการทำงานและนำไปปฏิบัติให้กลมกลืนกับเนื้องานและแผนงบประมาณของ
ส่วนราชการ
โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีการทำงานเป็นทีมในภาพรวม
3) ให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างหมวดและภายในหมวด ที่ส่งผลต่อผลลัพธ์และการทำตามกำหนดเวลา
4) มีคณะทำงานเพื่อประเมิน Site Visit หรือตรวจสอบให้
Feedback ในเวลาที่เหมาะสม และก่อนผู้ตรวจประเมินจะเข้าตรวจล่วงหน้า 2
เดือน โดยจัดให้มีห้อง Operation Room
ที่ผู้รับผิดชอบทั้งหมดรวมอยู่ภายในห้องเดียวกัน
5) ศึกษาเครื่องมือต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.พ.ร.
จากเว็บไซต์อย่างละเอียดถี่ถ้วนและนำมาปรับใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ
อย่างเหมาะสม
6)
มีการสร้างความเข้าใจโดยจัดทำเป็นคู่มือที่อ่านง่ายและถ่ายทอดแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ทั้งองค์กรให้เข้าใจวิธีการใช้ โดยมุ่งการสื่อสาร 2 ทาง
และมีระบบข้อมูลสารสนเทศเป็นเครื่องมือสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพตรงตามเกณฑ์
ของ PMQA
โดยมุ่งเน้นว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงานแต่เป็นการดำเนินการจากสิ่งที่ต้อง
ปฏิบัติอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกิจกรรมในช่วงเย็นเป็น กิจกรรมพัฒนาใจและกาย โดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ เพื่อให้คณะทำงานการบริหารเครือข่ายได้ทำความรู้จักกันให้มากขึ้น
ในช่วงค่ำเป็นกิจกรรมสังสรรค์ของกลุ่มผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO) และกลุ่มพัฒนาระบบบริหารระดับกระทรวง กรมต่าง ๆ
สำหรับวันที่ 2 กรกฎาคม เป็นการสรุปผลจากการประชุมสัมมนา และเป็นเวทีเสวนาสร้างสรรค์กับคณะทำงานการขับเคลื่อนการบริหารเครือข่ายในการพัฒนาระบบราชการแบบบูรณาการ เรื่องวิธีการทำงานแบบเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ สานสัมพันธ์และบริหารเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ ในครั้งนี้ นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
เพราะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Chief
Change Officer) จากหลายส่วนราชการ ระดับกระทรวง อาทิ
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
สำนักงาน ก.พ.ร. มุ่งหวังว่า
การร่วมมือและร่วมสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการซึ่งกันและกันนี้
จะช่วยเพิ่มสมรรถนะที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ
ของส่วนราชการและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นนทญา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
ศิวาพร (สำนักเผยแพร่ฯ) / ข้อมูล
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 5 สิงหาคม 2553 10:53:26 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 5 สิงหาคม 2553 10:53:26