Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2553 / มิถุนายน / สาระสำคัญเพิ่มเติม จากเวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 12

สาระสำคัญเพิ่มเติม จากเวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 12

 

สาระสำคัญเพิ่มเติม จากเวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 12



          
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมสัมมนา เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยมี นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นประธาน กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมสัมมนา ณ ห้องประชุมเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น

alt

          การประชุมสัมมนา เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 12 นี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคต่างๆ มาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานและโครงการ เทคนิคหรือเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ใช้ รวมทั้งรูปแบบ วิธีการของกระบวนการบริหารจัดการที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือ คำของบประมาณที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับองค์การของตนต่อไป โดยมี ดร.พรเทพ อนุสสรนิติสาร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

           1. การเกษตรเพื่อการแข่งขัน (ข้าวหอมมะลิเป็นเลิศ: พัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าสู่ความต้องการตลาด) โดย นายยรรยงค์ วิไลพงษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี และ นายสำพรต จันทร์หอม หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2

           2. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อการเกษตร (รักษ์เจ้าพระยา/ป่าสัก: พัฒนาเกษตรปลอดภัย) โดย นายณรงค์ รักร้อย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 และ นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี เป็นผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1

           3. การท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก: พัฒนาการท่องเที่ยวเป็นองค์รวมเพื่อก้าวสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน โดย นายพิชิต บุญรอด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

           4. การท่องเที่ยวอารยธรรมอิสานใต้พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสู่สากล: เส้นทาง อารยธรรมขอม (นครชัยบุรินทร์) โดย นายนิวัติ รองสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 และ นายธิติพงษ์ พิรุณ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1

alt

alt          นายยรรยงค์ วิไลพงษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ในหัวข้อ การเกษตรเพื่อการแข่งขัน (ข้าวหอมมะลิ: พัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าสู่ความต้องการตลาด) ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดจากวิสัยทัศน์ใน 3 ประเด็น คือ (1) พัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิสู่ความต้องการของตลาด (2) พัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและยั่งยืน และ (3) พัฒนาระบบสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจการค้าและเพิ่มมูลค่าการค้าขายชายแดนครบวงจร 

          จากประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว กลุ่มจังหวัดนี้มีข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น ในการพัฒนายุทธศาสตร์จึงเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ โดยวางกลยุทธ์ในการพัฒนา ดังนี้ 
          1. เพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพขบวนการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีตามมาตรฐาน GAP
          2. พัฒนาคุณภาพกระบวนการแปรรูปตามมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 
          3. พัฒนาและเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวหอมมะลิและผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวหอมมะลิคุณภาพดี

          อีกทั้งยังได้กล่าวถึงเทคนิคการทำงานเชิงบูรณาการในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีว่า ทางกลุ่มจังหวัดได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ทำให้การทำงานง่ายขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ส่วนการมอบอำนาจของกลุ่มจังหวัดนั้น ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มมอบอำนาจไปยังจังหวัดที่มีความเกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยเฉพาะบางกลุ่มจังหวัดมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ 

alt           ด้าน นายสำพรต จันทร์หอม หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มจังหวัดได้ศึกษาองค์ประกอบสู่ความเป็นเลิศของข้าวหอมมะลิไว้ 5 ประเด็น ดังนี้ (1) ภูมิประเทศ (2) ภูมิอากาศ (3) ภูมิสังคม (4) การผลิต และ (5) การตลาด นอกจากนี้กลุ่มจังหวัดยังได้ตั้งเป้าไว้ 3 ประเด็นเกี่ยวกับ (1) การเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ (2) คุณภาพที่ดีของผลผลิต และ (3) เพิ่มมูลค่าและคุณค่าของข้าวหอมมะลิ โดยกลยุทธ์ของกลุ่มจังหวัด คือ การทำข้าวสารเป็นข้าวกล้องงอก เนื่องจากมีมูลค่าที่สูงกว่าข้าวสารปกติ 

           จากนั้นได้กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการ 3 ห่วงของการมีส่วนร่วมในการทำงานของกลุ่มจังหวัด ดังนี้
            ร่วมคิด เป็นการคิดร่วมกันเพื่อให้เกิดโครงการบูรณาการ เช่น ข้าวครบวงจร โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วย เช่น เกษตรพาณิชย์ กรมการข้าว ภาคเอกชน ฯลฯ 
            ร่วมทำ เป็นการร่วมกันทำกันในทุกขั้นตอนและทุกระดับ ทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายการตลาด 
            ร่วมรับผลประโยชน์ มีการรับผลร่วมกันทั้งผลบวกและลบ 


alt           นายณรงค์ รักร้อย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อการเกษตร (รักษ์เจ้าพระยา/ป่าสัก: พัฒนาเกษตรปลอดภัย) ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 นั้นมี 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

          1. การปรับโครงสร้างการผลิตและยกระดับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม
          2. การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อม
          3. การปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวให้สมดุลและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
          4. การพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ และ ยกระดับคุณภาพชีวิต
          5. การพัฒนาระบบการเกษตรให้มีผลผลิตที่ปลอดภัย 
          6. การบริหารจัดการ การเชื่อมโยงคมนาคมและบริการระหว่างภาค (Logistics)

           การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ประกอบด้วยแผนของกลุ่มจังหวัด 8 โครงการที่มีความครอบคลุมในทุกประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งจากการดำเนินการพบปัญหาว่าไม่มีหน่วยงานใดสามารถรับผิดชอบเชื่อมโยงกันได้ ทำให้มีการปรับปรุงทบทวนใหม่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่สอง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับกลยุทธ์การทำงาน ทั้งการสร้างจิตสำนึก กลไกในการป้องกัน การสร้างกลไกในการควบคุมและแก้ไข 

           ส่วนแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นยุทธศาสตร์เดิม โดยเน้นการพัฒนาในเชิงกลยุทธ์ และให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่เป็นปัจจัยหลักร่วมกัน ได้แก่ การกำหนดความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมที่เสนอนั้นเน้นการฟื้นฟูแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก โดยมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีความต่อเนื่อง รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลให้กับทางกลุ่มจังหวัดรัวย

alt          ส่วน นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมเรื่องคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักที่เกิดความเสื่อมโทรมเพราะการระบายน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ลำพังเพียงจังหวัดเดียว ดังนั้น จึงควรมีการวางแผนพัฒนาการเกษตรร่วมกันตั้งแต่ระดับชุมชน และระดับจังหวัด 

          ส่วนทางกลุ่มจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาดินเสื่อมในภาคกลาง ที่เกิดจากการใช้สารเคมีในปริมาณมาก รวมทั้งปัญหาการขาดตลาดรองรับสินค้าเกษตรปลอดภัย ดังนั้นจึงควรมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มจังหวัดพัฒนาการผลิตอาหารปลอดภัยสู่ตลาดโลกต่อไป โดยจัดทำโครงการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสัก ซึ่งโครงการนี้ยังได้งบประมาณทั้งในปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 อีกด้วย

alt

alt          นายพิชิต บุญรอด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ การท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก: พัฒนาการท่องเที่ยวเป็นองค์รวมเพื่อก้าวสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 5 จังหวัดที่มีลักษณะทางภูมิประเทศ ภูมิสังคมใกล้เคียงกัน ทำให้วิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดนี้มุ่งเน้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลกและประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่

           จังหวัดระนองเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Healing)
           จังหวัดพังงาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ กิจกรรมดำน้ำ 
           จังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กิจกรรม Adventure 
           จังหวัดตรังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 
           จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการประชุมระดับโลก 

          จากวิสัยทัศน์และจุดเด่นของการท่องเที่ยวที่สำคัญดังกล่าว ได้นำมากำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว ดังนี้ 

          1. การพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยว สินค้าและบริการให้เชื่อมโยงและเกื้อหนุน ซึ่งกันและกันในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและนานาชาติอย่างยั่งยืน

          2. การพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการเพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวเดิมและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพบนฐานอัตลักษณ์และภูมิปัญญา

          3. การพัฒนากลไกการจัดการการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่ง อันดามันแบบพหุภาคี

          ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ประเด็นนี้อยู่บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัด รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยการบริหารความหลากหลายทางทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีอยู่ ซึ่งต้องใช้เทคนิคการบริหารอย่างลงตัว เพื่อให้ทุกจังหวัดได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน 

          สำหรับแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 นั้นมีการศึกษาเพื่อการดำเนินการในการพัฒนาสาขาการเกษตรให้มีความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมทั้งมีการจัดทำข้อมูลให้มีความชัดเจน ทันสมัย โดยการปรับข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ข้อมูลในทิศทางเดียวกัน และสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้

          ส่วนแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 มีศูนย์กู้ภัยทางทะเลเป็น Best Practice ในการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นเป็นการบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อม การคืนธรรมชาติสู่อันดามัน การเฝ้าระวังวิกฤติบริหารความเสี่ยง การเชื่อมโยงการคมนาคมการผลิตอาหารของประเทศไทย ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ได้สร้างรายได้โดยตรง จึงอยากขอฝากทางสำนักงาน ก.พ.ร. และ ก.น.จ. ว่า บางครั้งในการพิจารณาโครงการจะเป็นไปตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดไว้ในตัวชี้วัดว่าต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยว ร้อยละ 15% ไม่ได้ เนื่องจากการท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอน และมีความละเอียดอ่อนสูง

          นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงปัญหาในการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีทั้ง 3 ระดับ ดังนี้
           ระดับนโยบาย การที่มุ่งแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างของจังหวัด ทำให้นโยบายไม่ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งนโยบายขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง 
           ระดับบริหาร กฏหมายจะมีการปรับเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้การดำเนินงานขาดความต่อเนื่อง และ เชื่อมโยงกัน 
           ระดับปฏิบัติการ เป็นปัญหาด้านบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ส่วน outsource ที่จ้างมานั้นต้องมีความสามารถในการติดต่อประสานงานเชื่อมโยงกันด้วย 

alt          ด้าน นายนิวัติ รองสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ การท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสู่สากล: เส้นทางอารยธรรมขอม (นครชัยบุรินทร์) จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มจังหวัดนี้ ได้แก่ การเป็นประตูสู่อีสาน เพื่อเป็นประตูเชื่อมโยงในระดับประเทศ และการเป็นประตูอีสานสู่สากล เพื่อเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มจังหวัดนี้ 

          ส่วนการตั้งประเด็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดมี 4 ประเด็น ได้แก่

          1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร เป็นการส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยการผลิตรวม ทั้งการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพได้มาตรฐาน

          2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไหม เป็นการวิจัย พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไหม รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

          3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพัฒนาสินค้าและบริการเครือข่ายที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว 

          4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพและทักษะฝีมือแรงงานสู่สากล เป็นการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

          จากนั้นได้กล่าวเพิ่มเติมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไหมว่า ปัจจุบันไหมพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มหายไป เนื่องจากมีระบบอุตสาหกรรมไหมโรงงานเข้ามา ดังนั้นทางกลุ่มจังหวัดจึงมีโครงการพัฒนาไหมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยพัฒนาในระดับชุมชนสู่ตลาดสากล ซึ่งในปีนี้จะมีการฟื้นฟูไหมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการพัฒนาคุณภาพไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การพัฒนาการฟอกย้อม โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาดูแลเรื่องกระบวนการบำบัดน้ำเสียจากการผลิตไหม และกระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการตลาด ส่วนในปีต่อๆ ไป จะมีการพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ไหมสู่สากลทั้งในระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาค ระดับเอเซียน และระดับโลก

          ส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร เรื่องข้าวหอมมะลิ จัดให้มีการอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต โดยจังหวัดเจ้าภาพต้องแบ่งให้แต่ละจังหวัดจัดอบรมเผยแพร่ให้ความรู้ และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จากนั้นมีการวัดปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยทาง OSM จะเป็นผู้ตามดูว่าบรรลุตัวชี้วัดหรือไม่ 

alt          ด้าน นายธิติพงษ์ พิรุณ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแต่ละจังหวัดที่มีอยู่มากำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มจังหวัด ซึ่งทางกลุ่มจังหวัดต้องการให้มีความเชื่อมโยงกันในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวภายใต้เส้นทางขอม จึงได้นำชื่อของจังหวัดทั้ง 4 ในกลุ่มจังหวัดมากำหนดเป็นชื่อ นครชัยบุรินทร์ ซึ่งมีจุดเด่นทางด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมขอม โดยแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2553 นั้นทางกลุ่มจังหวัดได้รับงบประมาณ 23 ล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษารูปแบบเส้นทางของนครชัยบุรินทร์ว่าควรพัฒนาในด้านใดบ้าง ส่วนแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2554 มีการพัฒนาเพิ่มเติมจากแผนฯ พ.ศ. 2553 โดยตั้งโครงการป้ายบอกเส้นทางสู่อารยธรรมขอม และมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ของท้องถิ่น 

          นายธิติพงษ์กล่าวทิ้งท้ายถึง การจัดสรรงบประมาณที่มาจากนโยบายภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีว่า ไม่ควรมีการจัดสรรงบประมาณให้เท่ากันทั้ง 4 จังหวัด แต่ควรจัดสรรตามความสำคัญก่อน - หลังของพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และสำหรับการจัดทำศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเส้นทางขอมนั้นจะจัดสรรงบประมาณให้เท่ากันทุกจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับกลุ่มจังหวัดนี้

          การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้จึงเป็นการผลักดันให้ส่วนราชการและจังหวัด เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเครื่องมือด้านบริหารความรู้มาใช้ร่วมกับเครื่องมือการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชนในที่สุด 

          ทั้งนี้ สามารถเข้าชมวีดิทัศน์การประชุมสัมมนาฯ ได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th

 
alt

 

ลลิดา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 10:02:10 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 10:25:55
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th