ติวเข้ม นปร. รุ่นที่ 4 สู่ข้าราชการมืออาชีพ
เมื่อวันที่ 2 - 5 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้เปิดปฐมนิเทศนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 4 ภายใต้กิจกรรมการจัดประชุมสัมมนาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์การปฏิบัติราชการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักบริหารเลือดใหม่ที่เข้ามาพัฒนาระบบราชการไทย ณ โรงแรม เดอะ ไทด์ รีสอร์ท หาดบางแสน จ.ชลบุรี และ โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 4 - 5 มีนาคม 2553 ณ โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ นั้น ถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์การปฏิบัติราชการแก่นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารของส่วนราชการและหน่วยงานเอกชนร่วมบรรยายพิเศษ
นายพลากร สุวรรณรัฐ ฯพณฯ องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กับการพัฒนาประเทศ ว่าการจะก้าวไปสู่การเป็นข้าราชการที่ดีนั้น จะต้องมีทัศนคติที่ดี มีการประพฤติปฏิบัติตนที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม สรุปในชั้นต้นว่า ข้าราชการที่ดี ก็คือ มีความเก่งและมีความดีด้วย ซึ่งการจะเป็นข้าราชการที่เก่งและดีด้วย จะต้องมีหลักจริยธรรมหลักคุณธรรมกำกับ
นายพลากร กล่าวว่า พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ให้กับประชาชน เมื่อประมาณ 28 ปีที่แล้ว เมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 มีหลักคุณธรรมที่ทุกคนควรศึกษาและน้อมนำไปปฏิบัติมี 4 ประการด้วยกัน
ประการแรก การรักษาสัจจะ ความจริงใจต่อตนเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติอยู่ในความสัตย์นั้น ในความดีนั้น
ประการที่สาม การอดทน อดกลั้น ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์ สุจริต ไม่ว่าด้วยประการใด
ประการที่สี่ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต
คุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ โดยส่วนตัวผมถือว่ายังมีความทันสมัย แม้จะผ่านมา 28 ปีแล้ว แต่ก็สอดคล้องกับสภาวะของบ้านเมือง ของสังคม โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา ทรงฝากไว้เป็นแนวคิดให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งพวกเราเป็นข้าราชการ สามารถน้อมนำมาปฏิบัติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ นายพลากร กล่าว
นอกจากนี้ ฯพณฯ องคมนตรี ยังได้ฝากข้อคิดในการเป็นข้าราชการที่ดีให้กับนัก
บริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 อีก 3 ประเด็น คือ
1. การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง การเป็นข้าราชการที่ดีจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม ข้าราชการที่ดี จะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ข้าราชการที่ดีต้องหนักแน่นมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่กระทำการสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อหวังความก้าวหน้าในราชการ
2. การประยุกต์ใช้หลักวิชาอย่างเหมาะสม รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจ และนำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้อย่างมีศาสตร์และศิลป์ โดยการประยุกต์วิทยาการหรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศเรานั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการรับราชการเหมือนกัน
3. การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำราชการก็คือการทำงานร่วมกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และกับประชาชน ดังนั้น การจะสื่อสารกับคนทุกฝ่ายก็ต้องรู้จักปฏิบัติตนอย่างมีศิลปะ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และที่สำคัญต้องดำรงยึดมั่น ยืนหยัดใน
สิ่งที่ถูกต้องตามทำนองครองธรรม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กับการทำงานเพื่อประชาชน ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรมากพอที่จะสร้างความสุขให้แก่คนไทย แต่ต้องมีนักบริหารและนักยุทธศาสตร์ ทำงานเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่เป้าหมายให้สังคมมีสันติสุข และเป็นประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลก ซึ่งต้องเริมด้วยการทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมและพัฒนาประชาธิปไตยโดยรวม
การสร้างเจดีย์ต้องสร้างจากฐานราก คือสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ส่วนตัวเจดีย์ คือระบบต่างๆ ในสังคม รวมถึงระบบราชการ ต้องวางกลไก เชื่อมโยงกับฐานของเจดีย์และยอดเจดีย์ ขณะที่ยอดเจดีย์นั้น ผมหมายถึงการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ถ้าเราสร้างเจดีย์จากทั้งสามส่วนนี้ได้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีดุลยภาพและสันติสุข ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เราควรขยายไปให้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงภูมิสังคมในพื้นที่นั้นๆด้วย
นพ.ประเวศ ยังชี้ว่า การใช้ความรู้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เป็นจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ หรือจุดระเบิดนิวเคลียร์ภายในตัวมนุษย์จะเป็นพลังที่แรงมากในการผลักดันทิศทางสังคมไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ที่สุดในโลก โดยพลังจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ต้องเริ่มจากการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในตัวเอง มีพลังสร้างสรรค์ และเป็นสุข ดังนั้น อย่าใช้ความรู้หรืออำนาจไปเปลี่ยนแปลง แต่ให้ใช้หัวใจนำการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีสิ่งที่ต้องแก้ไขมาก ทั้งเรื่องความเท่าเทียมกัน และช่องว่างรายได้ เห็นได้จากลูกคนจนเจ็บป่วยตายมากกว่าลูกคนรวย 3 เท่า นี่คือความไม่เป็นธรรม
เมื่อ นปร. เข้าสู่ระบบราชการแล้ว ต้องเตือนตัวเองเสมอ เพื่อไม่ถูกระบบราชการกลืนกินไป โดยขอให้มีสติรู้ตัว และไม่หลงลาภ ยศ สรรเสริญ และมีเมตตา มีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี จึงจะทำงานใหญ่ได้ ส่วนการเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนนั้น นปร. ต้องใช้หลักสุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน และเคารพในความเท่าเทียมกัน ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์จะทำให้ทำงานกับชุมชนได้ง่าย เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับปัญหาของชุมชนแล้ว พยายามสะท้อนปัญหาเหล่านั้นไปสู่ระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของชุมชนต่อไป ซึ่งปัจจุบัน ชุมชนหลายแห่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น และมีแผนชุมชน นปร. มีหน้าที่สนับสนุนและขยายผลให้ชุมชนทั่วประเทศมีความเข้มแข็ง นพ.ประเวศ กล่าว
ทั้งนี้ การถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์การปฏิบัติราชการแก่นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารของส่วนราชการและหน่วยงานเอกชนร่วมบรรยายอีกหลายท่าน
โดย ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการบริหารโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ได้บรรยายถึง ทิศทางการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่สู่ทศวรรษใหม่ ว่า นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่... ผมอยากมองรุ่นใหม่ในความหมายที่ว่า เป็นบุคคลในรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงผลักดันให้ระบบราชการและให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลานี้ มีสิ่งต่างๆ ที่เป็นแรงกดดันมากระทบประเทศไทยมากมาย เพื่อที่เราจะได้ปรับตัว และรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ หน้าที่ของ นปร. คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศเราขับเคลื่อนไปได้ และสามารถทรงสถานะรักษาเสถียรภาพทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น โครงการ นปร. ส่วนหนึ่งก็เป็นโครงการที่เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยกันคิด เป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการบ้านเมือง ต้องสะท้อนให้เห็นเป้าหมาย คิดวิธีการ แล้วลงมือทำ แล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวต่อไปอีกว่า การที่ นปร. ได้ไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาส ได้พบเห็นประสบการณ์ต่างๆ อย่างเช่น จะได้ไปศึกษาเรียนรู้งานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะทำให้ได้ทราบถึงปัญหา เริ่มตั้งแต่โครงสร้าง เรื่องสิทธิ ปัญหาความยากจน ซึ่ง นปร. ในฐานะเป็นข้าราชการคนหนึ่งจะได้ทำอะไรเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กับการบริหารมหานคร ว่า อาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความพิเศษตรงที่ต้องใช้จิตวิญญาณ เป็นงานที่ต้องทำเพื่อสังคม จะมุ่งหวังผลกำไรไม่ได้ ปัจจุบันสังคมโลก และสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบต่างๆ ในสังคม ทั้งนี้ อยากฝากให้ นปร. ตั้งสติ คิดให้ดี มองอะไรเป็นภาพรวม มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เปิดหูเปิดตาให้กว้าง ปรับปรุงทัศนคติและมุมมองของตัวเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พร้อมนำความรู้ความสามารถไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น นปร. จะต้องเรียนรู้ วางยุทธศาสตร์ชีวิตตัวเองให้ดี จัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ และใช้เพื่อให้เกิดประโย/p>
นางสาวมรกต เจนมธุกร นักการทูตชำนาญการ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวบรรยายเรื่อง นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กับประเทศไทยในสังคมโลก ว่า สิ่งที่อยากฝากเป็นข้อคิดไว้สำหรับนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ คือจะต้องมี ความอดทน เพราะสิ่งที่จะเปลี่ยน ไม่สามารถเปลี่ยนได้เลยในทันที บางครั้งต้องหาน่านฟ้าใหม่ อย่าไปติดกับแบบเดิมๆ ให้ใช้หลักคิด 4 หลัก คือ คิดตาม คิดต้าน คิดต่อ และคิดเติม
- คิดตาม เพื่อจะได้รู้เขา และเพื่อจะเข้าใจประเด็นเปลี่ยนแปลง
- คิดต้าน เพราะทุกคนไม่ได้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง ลองเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา จะได้นำมาปรับปรุงแผนของเรา
- คิดต่อ นำมาต่อยอด ปรับปรุงแผนของเราได้หรือไม่
- คิดเติม ถ้าฟังแล้วนำมาบวกเพิ่มอีก จะทำให้แผนของเราสวยหรูขึ้นไปกคิดตาม คิดตั้ง คิดต่อ คิดเติม
นางสาวมรกตยังเน้นย้ำว่า บทบาทในฐานะข้าราชการ คือ การสร้างฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง คนที่ช่างฝัน มักใช้คำว่า ควรจะ แต่ข้าราชการจะฝันเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ทำ คือ เป็นนักปฏิบัติ เป็นนักบริหาร ไปเปลี่ยนในสิ่งที่คิดว่าไม่ดี อยากให้ดีขึ้น หรือ ดีกว่า เหมือนอย่างที่สิงคโปร์ทำให้ดีขึ้น ทั้งทางภาครัฐและเอกชน
นายสมประสงค์ บุณยะชัย รองประธานกรรมการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวบรรยายเรื่อง ภาคเอกชนกับการพัฒนาข้าราชการ ว่า ภาคราชการและภาคเอกชนมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับประเทศ ฉะนั้นจึงมีความรู้สึกยินดีที่มีโครงการ นปร. เกิดขึ้น เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการนำข้าราชการเข้าไปฝึกงานในภาคเอกชน ทำให้ข้าราชการมีความเข้าใจในการทำงานของภาคเอกชน ซึ่งเมื่อ นปร. ได้ออกไปปฏิบัติราชการจริง จะได้มีแนวทางและแง่คิดในการทำงาน
นายสมประสงค์ ได้กล่าวอีกว่า ความคิดที่ตั้ง นปร. เป็นความคิดที่มีความทันสมัยมาก ในการเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติที่ดี และส่งเสริมเป็นพิเศษ ให้การฝึกอบรมที่มีความแตกต่าง และไม่ใช่การเจริญเติบโตชนิดไต่เต้าตรงๆ ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคตถ้ามีจำนวนมากพอ จะทำหน้าที่เป็น Change agent ซึ่ง นปร.จะ change ให้ประเทศมีความเจริญขึ้น ซึ่งภาคราชการมีพัฒนาการมานานมาก ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่มีโรงเรียนข้าราชการจริงๆ เกิดขึ้นในสมัย ร.5 โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และเปลี่ยนมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัย ร.6 เป็นการให้ความรู้ในลักษณะของวิชาการ ความมุ่งหมายที่จะสร้างโรงเรียนผลิตข้าราชการนั้น จึงเริ่มจางหาย ในขณะที่อย่างอื่นที่เทียบเคียงกันได้ยังคงอยู่ เช่น โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ ฉะนั้นการที่มี นปร. เป็นการสร้างข้าราชการยุคใหม่ แต่ไม่ใช่ข้าราชการทั่วๆ ไป เป็นข้าราชการที่จะเป็นนักบริหาร ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง
อยาก ให้ นปร. ทำงานกับความคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และเป็นการวางทัศนคติให้กับตัวเองสำหรับการรับราชการในอนาคต โดยส่วนตนในฐานะภาคเอกชนมีความรู้สึกชื่นชมมากที่ ก.พ.ร. ริเริ่มโครงการนี้ นายสมประสงค์กล่าว
กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)
ในช่วงท้ายของกิจกรรมการปฐมนิเทศ ได้มีกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 เพื่อให้สามารถประมวลความรู้ จากประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งภาคบรรยาย และภาคปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 2 - 5 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ เพื่อให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 ได้แสดงออกทางความคิดในการกำหนดคุณลักษณะของความเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 จำนวน 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เสนอคุณลักษณะของ นปร. ว่า เปรียบดัง ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสง แสดงถึงคุณสมบัติที่ดีของ นปร. 3 ประการ ได้แก่
1. มี vision thinking คือ วิสัยทัศน์กว้างไกล ความคิดนอกกรอบอย่างเป็นระบบ
2. เป็นนักพัฒนา และนักวางแผนที่ดีพร้อมทั้งมีการพัฒนาใน งานที่ทำอยู่เสมอ
3. เป็นนักปฏิบัติงานที่เก่ง ดี มีความรู้ จริยธรรม ความซื่อสัตย์ และมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน นอกจากนี้ต้องเป็นบุคคลที่กล้าแสดงออก มีความอดทน เสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความพอเพียง ปฏิบัติงานได้ทุกอย่าง
นปร.รุ่นที่ 4 กลุ่ม 1 ได้กล่าวสรุปว่า ดวงอาทิตย์ คือ ความสามารถของ นปร. ที่มีคุณสมบัติทั้งสามประการ สามารถพัฒนาความคิดนอกกรอบ มาสู่การปฏิบัติงานได้อย่างดี ทำงานเป็นทีม และมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า รัศมีของแสงอาทิตย์ แสดงถึงการส่องแสงไปสู่ประชาชน เปรียบเหมือนกับ นปร. ที่ได้ทำงานให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
กลุ่มที่ 2 เสนอคุณลักษณะของ นปร. ว่า นปร. คือ ข้าราชการที่ไม่ธรรมดา แต่อยู่ในรูปคนธรรมดา ประกอบด้วยส่วนต่างๆ 11 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือ สมองที่แสดงให้เห็นว่ามีมันสมอง มีความคิด และความพยายามสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ส่วนที่สอง เป็นวงกลมเล็กๆ ลอยอยู่ข้างสมอง คือ Dream หรือ ความฝันที่มีจินตนาการและความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ความฝันนั้นได้ ส่วนที่สาม คือ ตา นปร.ต้องมีวิสัยทัศน์ ส่วนที่สี่ คือ หู ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทั้งประชาชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ส่วนที่ห้า คือ ปาก ต้องมีความสามารถในการติดต่อประสานงาน ต้องกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ส่วนที่หก คือ คอ น.ป.ร. ต้องมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน เพื่อโค้ง(รับ)ได้ทุกสถานการณ์ ส่วนที่เจ็ด คือ หัวใจ นปร. ต้องมีใจรักคิดที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตนเพียงผู้เดียว ส่วนที่แปด คือ มือ ต้องลงมือปฏิบัติจริง ส่วนที่เก้า คือลำตัว ในการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ตั้งแต่รากหญ้าสู่ยอด ส่วนที่สิบ คือ ขา ที่พร้อมก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ และสุดท้าย คือ เท้า ที่ต้องติดดินตลอดเวลาอย่าหยิ่งผยองคิดว่าเป็นข้าราชการแล้ว จะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น
นปร. รุ่นที่ 4 กลุ่ม 2 สรุปว่า นปร. คือ คนๆ หนึ่งที่สามารถใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้สารพัดประโยชน์และมีจุดสมดุล คือพร้อมที่จะพัฒนาข้าราชการที่ดีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้ในอนาคต
กลุ่มที่ 3 เสนอคุณลักษณะของ นปร.ว่า นปร. คือ ข้าราชการที่เป็นนักบูรณาการ เป็นผู้ที่คิดวางแผน ปฏิบัติงาน และการประเมินผล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นสามารถทำงานได้ดีต่อทุกสภาวะงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็น Facility ที่ตั้งอยู่บนจริยธรรม เพื่อรับใช้ประชาชน
กลุ่มที่ 4 เสนอคุณลักษณะของ นปร. ว่า นปร. ต้องมีคุณสมบัติ 4 พ. ในการเป็นข้าราชการพันธ์ใหม่ ดังต่อไปนี้
1. พ คือ พร้อมคิดในสิ่งใหม่
2. พ คือ เพียร (พรแสวง) พร้อมริเริ่ม สร้างสรรค์
3. พ คือ พรสวรรค์ ทุกคนเกิดมาจากพรสวรรค์โดยจะมีความช่ำชองและแสวงหาเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี
4. พ คือ เพื่อประชาชน
กลุ่มที่ 5 เสนอคุณลักษณะของ นปร. ว่า ต้องมีคุณสมบัติตรงตามตัวอักษรน ป ร
น หมายถึง นปร. เป็นนักวางแผน และปฎิบัติงานได้ดี ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งสอนได้
ป หมายถึง นปร. ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสามารถคิดนอกกรอบตลอดเวลา พร้อมพัฒนาระบบราชการไปได้ด้วยดี พร้อมเป็นนักคิดอย่างบูรณาการและช่วยเหลือประชาชน และมีความพร้อมปรับปรุงตัวเองและผู้อื่น ให้ปฏิบัติดี และปฏิบัติชอบ
ร หมายถึง นปร. เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา และรักประชาชนพร้อมทำงานเพื่อประชาชน
หลังจากที่ นปร. รุ่นที่ 4 แต่ละกลุ่มได้อธิบายถึงลักษณะของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่แล้ว อาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร และ นายสุธรรม ส่งศิริ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิมเติมว่า คุณสมบัติของการเป็น นปร. ที่ดี ต้องสามารถอยู่ได้ทุกสถานการณ์อย่างดีที่สุด โดยต้องอ่อนน้อม ถ่อมตน เรียกง่าย ใช้คล่อง ไม่ต้องสั่ง แต่ต้องมีความคิดเอง และทำเอง นอกจากนี้ นปร. ต้องเป็นนักทำงานที่ดี ตลอดระยะเวลา 22 เดือนสามารถเรียนด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ที่ดีทำให้ นปร. สามารถ Keep thinking ต่อไปในการใช้ชีวิต และสามารถดึงศักยภาพออกมาได้ ดังนั้นพื้นฐานทุกคนต้องมีความรู้ โดยกลับไปฟื้นฟูความรู้ เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีต่อไป
เหล่านี้ ...เป็นเพียงก้าวเริ่มต้นของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 เท่านั้น ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ จะมีส่วนช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลคุณภาพที่จะเข้ามาเป็นข้าราชการรุ่นใหม่ของระบบราชการไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบราชการและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า และเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในยุคการแข่งขันบนโลกไร้พรมแดนทุกวันนี้
กลุ่มสื่อสาร (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 มีนาคม 2553 14:13:13 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 25 มีนาคม 2553 15:20:15