Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2553 / กุมภาพันธ์ / นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 รายงานตัวเข้าร่วมโครงการฯ

นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 รายงานตัวเข้าร่วมโครงการฯ

นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4
รายงานตัวเข้าร่วมโครงการฯ




          เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดให้มีการรายงานตัวเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 4  ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.  โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธาน ร่วมด้วย  นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  และ นพ.รณภพ ปัทมะดิษ รักษาการหัวหน้าฝ่ายโครงการ นปร.
 

alt


alt          ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้โอวาทกับ นปร. รุ่นที่ 4 โดยกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ และกล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า จากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ การเพิ่มบทบัญญัติเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) ไว้ในมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการปรับระบบราชการให้มีหลักธรรมาภิบาล มากขึ้น นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)  และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)  เพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ระบบราชการมีธรรมาภิบาลมากขึ้น

          จากนั้น ในปี 2546 ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการพัฒนาระบบราชการ โดยการนำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในภาคราชการ  อาทิ  การบริหารเชิงยุทธศาสตร์  การกำหนดให้มีตัวชี้วัดและการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ การประเมินผลและให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การปรับปรุงการให้บริการประชาชน เป็นต้น

alt

          ในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้น ต้องเริ่มที่ตัวผู้นำ ดังนั้น ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงจึงได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการและจังหวัดเพื่อเสริมสร้างความรู้ความ เข้าใจเพื่อให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวทันกระแสของโลกแห่งการ เปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์นั้น จะต้องมีทีมงานเข้ามาช่วยทำงานด้วย  ก.พ.ร. จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างทีมงานที่จะมาช่วยผู้บริหารของส่วนราชการ/จังหวัด ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยจัดทำโครงการหนึ่งขึ้นโดยประยุกต์จากโรงเรียนนักบริหารแห่งชาติ (Ecole nationale d'administration : ENA) ของประเทศฝรั่งเศส ที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมุ่งหวังที่จะดึงให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงมาผ่านหลักสูตรพิเศษ ก่อนจะจบออกไปทำงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของภาคราชการของประเทศ ฝรั่งเศสได้

alt

           นอก จากนี้ ก.พ.ร. ยังได้ศึกษาโครงการของประเทศต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย   รวมทั้งศึกษาความเป็นมาในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ   ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5   และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6   ที่ได้มีการจัดระบบการศึกษาสำหรับฝึกหัดข้าราชการพลเรือน  และเตรียมคนเข้าสู่ระบบราชการ

alt          นี่จึงเป็นที่มาของการจัดทำ โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ซึ่ง ก.พ.ร. ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นจึงได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2548 และดำเนินการต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ โดยกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ รุ่นละ 60 คน

          อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4ได้ถูกตัดลดงบประมาณลงเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้องลดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการลง เหลือเพียง 35 คน และจะใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้ตามโครงการ 22 เดือน โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้แบบผสมผสานทั้งด้านวิชาการ การฝึกปฏิบัติราชการกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน

           ใน ช่วงท้าย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวกับ นปร. รุ่นที่ 4 ว่า นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ได้รับการคาดหวังจากสังคมไว้มาก  จึงขอให้ทุกคนมีความตั้งใจแน่วแน่  มุ่งมัน  และภูมิใจในสิ่งที่จะทำ  เพื่อเปลี่ยนสังคมและบ้านเมืองให้ดีขึ้น  มีจิตสาธารณะที่จะเข้ามาเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำงานเพื่อประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบราชการ และขอให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจและปรารถนาที่จะทำ

alt


          จากนั้น ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ได้ชี้แจงรายละเอียดของหลักสูตรฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

alt          1. เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งถือเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ให้เป็นข้าราชการที่ดี และมีคุณสมบัติเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่มีสมรรถนะครบครันในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) โดยสามารถเป็นได้ทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Thinker) นักพัฒนาและวางแผน (Developer & Planner) และนักปฏิบัติ (Operator) อย่างสมดุล

          2. เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีขีดสมรรถนะและคุณสมบัติในการปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยผู้บริหาร และผู้บริหารในภาครัฐ ในการริเริ่มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในการบริหารภาครัฐต่อไป

          3. เพื่อให้มีการรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหาร ภาครัฐในระหว่างผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เพื่อให้มีการบริหารองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งความรู้ที่เก็บไว้ในตัว (Tacit Knowledge) และความรู้ที่เปิดเผย (Explicit Knowledge) เพื่อเสริมสร้างขีดสมรรถนะในการบริหารภาครัฐของไทย

alt

           สำหรับระยะเวลาและกิจกรรมการ เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ จะใช้เวลาทั้งสิ้น 22 เดือน โดยแบ่งออกเป็นการเรียนรู้ภาควิชาการ 9 เดือน และการเรียนรู้การบริหารจัดการจากการปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 13 เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          การเรียนรู้ภาควิชาการ ระยะเวลา 9 เดือน
          1. หมวดวิชาการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
          2. หมวดวิชาบริบทและความท้าทายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
          3. หมวดวิชานโยบายสาธารณะ กระบวนการ การวิเคราะห์และพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์
          4. หมวดวิชาการบริหารจัดการภาครัฐและบริหารการเปลี่ยนแปลง
          5. หมวดวิชาการพัฒนาภาวะผู้นำ ทักษะ และความเป็นข้าราชการที่ดี

          การเรียนรู้การบริหารจัดการจากการปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 13 เดือน
          1. การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค 3 เดือน
          2. การเรียนรู้ระบบบริหารงานของหน่วยงานกลางในการบริหารนโยบาย 1 เดือน
          3. การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในราชการบริหารส่วนกลาง 3 เดือน
          4. การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในการฝึกงานในภาคธุรกิจเอกชน 3 เดือน
          5. การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในต่างประเทศ 3 เดือน

alt
          
โดย การเรียนรู้นั้นจะสลับสับเปลี่ยนกันไประหว่างการเรียนรู้ภาควิชาการและการ เรียนรู้จากการปฏิบัติราชการ และมีการสอบประเมินผลในช่วงระหว่างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ด้วยตนเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการด้วยกัน และหลังจากสิ้นสุดการเรียนรู้ทั้งหมดตลอด 22 เดือนแล้ว จะมีการสอบประเมินเป็นผู้ผ่านโครงการฯ ก่อนจะเข้ารับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการที่มีความสำคัญเชิง ยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป



alt

          
จากนั้นเป็นการชี้แจงระเบียบเบื้องต้นที่ควรรู้ในการเป็นข้าราชการ โดย นางดารุณีย์ เผ่าสุวรรณ ผู้ อำนวยการกลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานเลขาธิการ ก่อนจะให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 4 ได้กรอกเอกสารการบรรจุเข้ารับราชการเป็น นักพัฒนาระบบราชการ สังกัดสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่ง นปร. รุ่นที่ 4 จะเริ่มการเรียนรู้ตามโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นไป




alt


alt

          อนึ่ง สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4ไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 โดยได้พิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 35 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ แบ่งออกเป็น 1) กลุ่มบุคคลทั่วไปที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา จำนวน 16 คน 2) กลุ่มบุคคลจากภาคเอกชน  หน่วยงาน  หรือองค์การระหว่างประเทศ  จำนวน 18 คน  และ  3) กลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ จำนวน 1 คน
 


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2553 11:01:15 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2553 11:04:54
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th