คิดอย่างไร ทำอย่างไร ให้เป็นองค์การสร้างสรรค์
(Creative Organization)
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 สวัสดิการสำนักงาน ก.พ.ร. จัดอบรมหลักสูตร คิดอย่างไร ทำอย่างไร ให้เป็นองค์การสร้างสรรค์ (Creative Organization) โดยมี ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารเทคโนโลยี วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรในการบรรยาย ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์
หลักสูตรการอบรมของสวัสดิการสำนักงาน ก.พ.ร.
จัดขึ้นเพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการบริหารงานสมัยใหม่
และเสริมสร้างความรู้ให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน
รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรแรกของปี 2553 นี้
เป็นการอบรมหลักสูตร คิดอย่างไร ทำอย่างไร ให้เป็นองค์การสร้างสรรค์ (Creative Organization)ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในโลกของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และองค์การสร้างสรรค์
โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ และ หน่วยงานภาคเอกชน สนใจเข้าร่วมการอบรม
ในปัจจุบัน
หลายประเทศได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นการสร้าง
รายได้จากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา สำหรับประเทศไทยเอง
การนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงตามแนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นั้นถูกนำมาเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การอบรมครั้งนี้วิทยากรได้กล่าวถึง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)ว่าเป็นนโยบายการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่งคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่าง
ต่อเนื่อง โดยมีแรงผลักดันหลักจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์
แนวความคิดใหม่ในการออกแบบสินค้าและบริการให้เชื่อมโยงกับจุดแข็งหรือต้นทุน
เดิมที่มี ทั้งทางด้านมรดก วัฒนธรรม ทางด้านกายภาพ
และทางด้านองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางสังคมที่สั่งสมมานาน โดยใช้ส่วนประสม ATP (A: Aesthetic สุนทรียะ, T: Technology เทคโนโลยี, P: Process กระบวนการ) ได้อย่างลงตัว และครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมใน 3 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1คือ การต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry)
ที่มีศักยภาพสูงให้โตขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ งานฝีมือและงานออกแบบ
แฟชั่น ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระจายเสียง ศิลปะการแสดง ธุรกิจโฆษณา
ธุรกิจการพิมพ์ สถาปัตยกรรม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สื่อดิจิทัล และแอนิเมชัน
มิติที่ 2คือ การผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวที่ผสมผสานมรดกวัฒนธรรมและเทคโนโลยี
(Cultural-Technology Integration)
โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นทุนทางประวัติศาสตร์
รวมถึงการสร้างเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจต่อนักท่องเที่ยว
มิติที่ 3คือ การต่อยอดภาคอุตสาหกรรมการผลิต บริการ และการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น
ซึ่งการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ (Value Creation)
นั้นเป็นการใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี
ผนวกกับจุดแข็งในด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม
และวิถีชีวิตความเป็นไทย
ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ที่สามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง
สำหรับ
กิจกรรมในการอบรมนั้น เป็นการประเมินศักยภาพความคิดสร้างสรรค์
การฝึกทักษะความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงระบบ
(System Thinking)
เพื่อสร้างความเข้าใจในการวิเคราะห์ปัญหาและการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยว
ข้องกับปัญหา
และดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
(Creative Problem Solving) อย่างเป็นระบบและ เป็นขั้นตอน ดังนี้
1. การค้นหาความจริง (Fact finding) เป็นการหาข้อสรุปในการระบุขอบเขตข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในการแก้ปัญหาของการดำเนินงาน
2. การค้นหาปัญหา (Problem finding) เป็นการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันถึงปัญหาที่กำลังกล่าวถึง
3. การค้นหาแนวคิด (Idea finding)เป็นการผลักดันให้เกิดความคิดที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหา
การสรุปหาสมมติฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา
จัดลำดับความคิดหลักและความคิดรองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและการแก้ไขปัญหา
4. การค้นหาแนวทางการแก้ปัญหา (Solution finding)เป็นการสรุปและจัดเรียงความคิดเป็นกลุ่ม
และหาข้อสรุปร่วมกันถึงแนวคิดที่สามารถดำเนินการได้จริง ความจำเป็น
ความเร่งด่วน ข้อจำกัดด้านทรัพยากรองค์กร
5. การวางแผนการดำเนินงาน (Action planning)เป็นการระบุผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมที่จะสามารถวัดผลได้
ซึ่งการระบุผลลัพธ์นั้น ควรคำนึงถึงความเฉพาะ (Specific)
วัดได้ในเชิงปริมาณ (Measurable) เห็นพ้องต้องกัน (Agreed)
อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง (Realistic) และสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสม
(Timely)
ในช่วงท้าย วิทยากรได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการผลักดันให้เป็นองค์กรที่มีการคิดสร้างสรรค์ได้
โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะการคิดในระดับบุคคล โดยการสร้างทักษะการเรียนรู้
และสร้างลักษณะนิสัยในการสังเกต ตั้งคำถาม ลองคิด
ต่อยอดองค์ความรู้จากแหล่งอื่น แล้วนำมาทดลองใช้กับการดำเนินงาน
หรือการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการพัฒนาลักษณะการเป็นผู้นำที่เปิดโอกาสให้กระตุ้นการแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการคิดสร้างสรรค์ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและองค์กรต่อไป
ลลิดา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2553 10:46:12 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2553 10:46:12