สัมมนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
อนาคตในการบริหารคนเก่ง คนดี ของระบบราชการไทย
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยภารกิจการส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ได้จัดการสัมมนา เรื่อง นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่: อนาคตในการบริหารคนเก่ง คนดี ของระบบราชการไทย โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมกับชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ณ ห้องดุสิตธานีฮอลล์
โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนา
ประกอบด้วย ผู้บริหารจากภาคราชการและภาคเอกชน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ
และบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 250 คน
การดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ มี
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางในการดึงดูดบุคคลที่มีความรู้
ความสามารถสูงเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ
เป็นข้าราชการที่เก่งและดี
มีสมรรถนะครบครันทั้งในด้านการเป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์
นักพัฒนาและวางแผน รวมทั้งเป็นนักปฏิบัติอย่างสมดุล
และเพื่อให้มีเวทีในการรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ
การบริหารภาครัฐระหว่างผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
และนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
เพื่อให้มีการบริหารองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งความรู้ที่
สั่งสมไว้ในตัว (Tacit Knowledge) และ ความรู้ที่เปิดเผย (Explicit
Knowledge)
ทั้งนี้จะเป็นการเสริมสร้างขีดสมรรถนะในการบริหารภาครัฐของไทยอีกด้วย
การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มาร่วมบรรยายในหัวข้อ ความท้าทายและอนาคตในการบริหารคนเก่งและคนดีโดยกล่าวว่า นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) นั้น
ผ่านการทดสอบมามาก และได้รับการฝึกปฏิบัติราชการจากหลากหลายหน่วยงาน
ทำให้มีทัศนคติที่ดี และมีความมั่นใจในตัวเองสูง เมื่อ นปร.
ผ่านการพัฒนาตามโครงการนี้แล้ว
ควรพึงระลึกถึงการเป็นข้าราชการที่ดีอยู่เสมอว่า
ต้องมีความเสียสละต่อประชาชนและประเทศชาติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
ไม่หวังในลาภ ยศ สรรเสริญ รวมทั้งควรเป็นผู้ที่มีพลังในจิตใจ
มีความคิดในด้านบวก พูดจาฉะฉาน มีความตั้งใจในการฟัง
เมื่อได้รับฟังอะไรมาแล้วต้องนำมาพิจารณาถึงประโยชน์และนำมาปรับใช้กับตนเอง
ให้ได้ด้วย
จากนั้นเป็นการอภิปรายถึง ประสบการณ์โครงการ นปร. โดยมี ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมีผู้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประกอบด้วย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ นายมนินธ์ สุทธิวัฒนิต นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 และ นายเฉลิมพงศ์ ตั้งบริบูรณ์รัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ กล่าว
ถึง นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการฯ ว่า
มีการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างการเรียนรู้ภาควิชาการและการฝึกปฏิบัติราชการ
ตามภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยการฝึกปฏิบัติราชการภาครัฐนั้นเป็นการฝึกปฏิบัติราชการทั้งในส่วนภูมิภาค
ส่วนกลางและต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการเรียนลัดที่ดี
เพราะตามปกติการเรียนรู้ทั่วไปจะเรียนจากกรณีตัวอย่างและนำมาปรับใช้มากกว่า
การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การที่ นปร. ได้รับโอกาสดังกล่าวจะทำให้
นปร. เหล่านี้เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี
เป็นนักวางแผนและนักปฏิบัติการที่ดี
เป็นบันไดก้าวสู่ความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรในอนาคต
นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดี
กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ
กล่าวถึงนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ทั้งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2
ว่าเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ
เพราะมีผลงานที่สามารถพิสูจน์ความสามารถของตนเอง ตัวอย่างเช่น
ในช่วงของการฝึกปฏิบัติราชการในต่างประเทศนั้น นปร.
ปฏิบัติราชการได้เป็นที่พอใจของเอกอัครราชทูตในประเทศต่างๆ
ทั้งในด้านการเป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนา นักวางแผน
และนักปฏิบัติเป็นอย่างดี
และขอฝากเรื่องคุณธรรมโดยให้เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดี รู้รักสามัคคี
รวมทั้งมีเมตตา แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน
นายมนินธ์ สุทธิวัฒนิตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
รุ่นที่ 1 กล่าวถึงโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด
ปลัดกระทรวง อธิบดี เอกอัครราชทูต และผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนว่า
ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน วิธีคิด การตัดสินใจ
รวมถึงเทคนิคในการทำงานต่างๆ และนำมาปรับใช้กับตนเอง
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ นปร.
มีวิธีคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างจากข้าราชการปกติ
แม้ความรู้ที่มีจะไม่แตกต่างกันก็ตาม
นายเฉลิมพงศ์ ตั้งบริบูรณ์รัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 กล่าวถึง ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการฯ 3 ด้าน คือ
1. ความภาคภูมิใจที่เกิดจากการเสนอความคิดให้ทำศูนย์ดำรงธรรมแบบ
Mobile Unit
ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์กับทางหน่วยงานราชการ
ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
2. ได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากผู้บริหารระดับสูงในแต่ละภาคส่วน รวมถึงอาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
3. มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น ทั้งจากเพื่อนร่วมโครงการและอาจารย์
ทำให้สามารถติดต่อสอบถาม ขอข้อมูลความรู้ และขอคิดเห็นที่หลากหลาย
ในช่วงท้ายของการสัมมนาในครั้งนี้ ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา ได้
กล่าวทิ้งท้ายถึงนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ว่าควรยึดหลัก 3
ประการในการเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีในระบบราชการไทยที่มีการเปลี่ยน
แปลงค่อนข้างมาก ดังนี้
1. รู้ Right direction คือ
ต้องรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรที่ถูกต้อง การมีส่วนร่วมกับองค์กร
และต้องรู้ output, outcome ที่ชัดเจน
2. Right instrument คือ มีเครื่องมือที่ดี และใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องในการบริหาร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดขึ้น
3. Right timing คือ การลงมือปฏิบัติอย่างถูกที่ ถูกเวลา
ลลิดา (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 7 มกราคม 2553 09:07:39 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2553 11:30:03