ประชุมชี้แจงการดำเนินการพัฒนาคุณภาพ
การบริหารจัดการภาครัฐ
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 (part 2)
การประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่ สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้แก่ส่วนราชการระดับกรม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ (มหานาค) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ในภาคบ่ายนั้น เป็นการบรรยายเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ใน 3 ประเด็นคือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี (Organizational Governance : OG) และ การถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายระดับองค์การสู่ระดับบุคคล (Individual Scorecard)
การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) บรรยายโดย นางกลิ่นจันทน์ เขียวเจริญ ผู้ อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 6 สำนักบริการการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม โดยได้อธิบายถึงความหมายของการจัดการความรู้ องค์ประกอบต่างๆ กระบวนการจัดการความรู้ และการบูรณาการระหว่างกระบวนการจัดการความรู้ และกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
KM หรือการจัดการความรู้ซึ่งเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างกระจัด กระจาย นำมาพัฒนาและจัดให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์การเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้และสามารถ ที่จะประมวลผลความรู้ให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุดและสามารถสร้างวิสัย ทัศน์ในการที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ
สำหรับ ความรู้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit knowledge) ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ ทักษะ การเรียนรู้หรือพรสวรรค์ กับความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) คือความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถรวบรวมและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสาร รายงาน และสื่อต่างๆ
กรอบแนวคิดของการจัดการความรู้นั้น มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ
1) การกำหนดความรู้ที่จำเป็นสำหรับองค์การ
2) การถ่ายทอดความรู้ที่จับต้องไม่ได้ (Tacit Knowledge) ให้เป็นความรู้ที่จับต้องได้ (Explicit Knowledge) และมีการจัดเก็บให้เป็นระบบ
3) ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน (Sharing) แบ่งปัน สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ของความรู้ให้ใหม่และทันสมัย
4) ดำเนินการให้การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการนำกลยุทธ์ไปสู่ความสำเร็จ
ประเด็นหลักของการจัดการความรู้ในองค์กร สามารถแบ่งได้เป็น 7 ขั้นตอน คือ
1. มีการบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification) เป็นการบ่งชี้ความรู้ที่องค์กรจำเป็นต้องมี และวิเคราะห์รูปแบบและแหล่งความรู้ที่มีอยู่
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition) เป็นการสร้างและแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่กระจัดกระจายทั้งภายใน/ภายนอก เพื่อจัดทำเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการ
3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization) จะต้องมีการแบ่งชนิดและประเภทของความรู้ เพื่อจัดทำระบบให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นหาและใช้งาน
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement) มีการจัดทำรูปแบบและ ภาษา ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร นอกจากนี้ยังมีการเรียบเรียงปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการ
5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) เป็นความสามารถในการเข้าถึงความรู้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในเวลาที่ต้องการ
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) เป็นกระบวนและเครื่องมือการจัดการความรู้มีการจัดทำเอกสาร การจัดทำฐานความรู้ ชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) มีระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) และการสับเปลี่ยนงาน (Job Rotation) ฯลฯ
7. การเรียนรู้ (Learning) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการความรู้ โดยการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ เพื่อนำไปแก้ปัญหาและปรับปรุงองค์กร
จากนั้นเป็นการบรรยายในเรื่องของนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี (Organizational Governance : OG) โดย นางปานจิต จินดากุลผู้อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 2 สำนักบริการการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงความหมายและวัตถุประสงค์ องค์ประกอบและตัวอย่าง และการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีเชื่อมโยงกับเกณฑ์ PMQA
นโยบาย การกำกับดูแลองค์การที่ดี คือ การประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้าน เมืองที่ดี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยการประกาศให้ผู้บริหารของแต่ละองค์กรต้องวางนโยบายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
1) รัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2) ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3) องค์การ
4) ผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการกำกับดูแลองค์การให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีทั้งหมด 10 หลัก คือ
1. การมีส่วนร่วม
2. ความโปร่งใส
3. การตอบสนอง
4. ภาระรับผิดชอบ
5. ประสิทธิผล
6. ประสิทธิภาพ
7. การกระจายอำนาจ (เพิ่มมาในปี 2552)
8. นิติธรรม
9. มอภาค/เที่ยงธรรม
10. การมุ่งเน้นฉันทามติ
การ จัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีของหน่วยงานนั้น สามารถนำหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแต่ละข้อมาใส่ใน นโยบายหลักได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งหมด 10 หลัก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละหน่วยงานนั้นเน้นหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญในเรื่องใดบ้าง
สำหรับวัตถุประสงค์ของการนำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีมาใช้ก็เพื่อ
1. ส่งเสริมให้การดำเนินงานของหน่วยงานดำเนินงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม
2. เป็นกรอบการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และค่านิยมองค์การที่ชัดเจน
3. สร้างความศรัทธา มั่นใจ และไว้วางใจจากประชาชน เชื่อมั่นว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
หัวข้อสุดท้ายของการบรรยายคือ การถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายของระดับองค์การสู่ระดับบุคคล (Individual Scorecard) โดย นางสมพร สมผดุง ผู้ อำนวยการกลุ่มระบบการบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรภาครัฐ (GSMS) สำนักติดตามและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
การถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายของระดับองค์กรสู่ระดับบุคคล สำหรับปี 2553 นั้น ใน SP 5 ในหมวด 2 ของ PMQA ยังมีการวัดเหมือนปีที่ผ่านมา คือ ให้มีการถ่ายทอดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายระดับองค์การสู่ระดับบุคคล ทุกสำนักกอง ลงมาถึงระดับบุคคล อย่างน้อย อีก 1 สำนักกอง
ในปี 2552 ที่ผ่านมามีปัญหาที่ได้รับอยู่เป็นประจำ คือ คำว่า สำนัก/กอง ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เมื่อดำเนินการจริงจะพบปัญหาว่ามี กองเงา เตรียมแบ่งส่วนใหม่ จึงมีข้อสงสัยว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น ในปี 2553 จึงยืดหยุ่นให้ โดยทุกส่วนราชการจะมีคำสั่งมอบหมายงาน ให้นำมาเป็นตัวตั้งและปฏิบัติตาม หากส่วนราชการไม่มีกองเงา ให้ใช้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นตัวตั้ง เป็นหลักฐานให้เห็นว่าสำนัก/กองมีกี่หน่วยงานที่เทียบเท่าระดับสำนักกอง ส่วนระดับบุคคลอย่างน้อย 1 หน่วยงาน ไม่ใช่คำว่า สำนัก/กอง เพราะจะไปผูกพันกับกฎหมาย เพราะจะไม่สามารถยืดหยุ่นตามการแบ่งงานภายในได้
หากเป็นระดับบุคคล อย่างน้อย 1 หน่วยงาน จะเลือกหน่วยงานที่เป็นกองเงาหรือหน่วยงานใด ขึ้นอยู่กับความเป็นจริง โดยมุ่งเน้นความเป็นจริงในการทำงานเพื่อให้ใช้จริง และต่อเนื่องไปถึงได้ใช้ประโยชน์ในการประเมินบุคคลตามที่สำนักงาน ก.พ. ให้ดำเนินการ สำหรับในส่วนของ ADLI นั้นจะเหมือนกับของปี 2552 ทั้งหมด จะมีแตกต่างแค่เพียงความยืดหยุ่น
ส่วนแนวทางในการจัดทำตัวชี้วัดในระดับหน่วยงานและระดับบุคคล (Cascading KPIs) จะ เริ่มจากการสร้างตัวชี้วัดระดับองค์กร จากนั้นแปลงตัวชี้วัดระดับองค์กรลงสู่ตัวชี้วัดของผู้บริหารระดับรองลงไป เรื่อยๆ จนถึงตัวชี้วัดในระดับที่ต้องการ ส่วนผู้บริหารระดับสูงจะดึงตัวชี้วัดของระดับองค์กรที่ตนเองต้องรับผิดชอบมา เป็นตัวชี้วัดของตนเอง และพัฒนาตัวชี้วัดอื่นๆ ขึ้นมาเพิ่ม ทั้งนี้ สามารถจัดทำในลักษณะของ Personal Scorecard ที่ประกอบด้วยมุมมองทั้ง 4 ด้าน หรือในลักษณะของ Personal KPI
การวิเคราะห์บทบาท หน้าที่และผลงานหลัก จะ เริ่มจากการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานหรือบุคคล โดยสามารถดูได้จาก 1) Job description 2) Mission 3) Role and responsibility
จากนั้นจึงกำหนดผลงานหลักของหน่วยงานหรือบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และจัดทำตัวชี้วัดเพื่อวัดผลงานหลักของหน่วยงานหรือบุคคลนั้นๆ
ช่วงสุดท้ายของการประชุมเป็นการถาม-ตอบเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐซึ่งมีตัวแทนจากส่วนราชการต่างๆ ให้ความสนใจในการซักถามและแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th โดยเข้าไปที่หัวข้อ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เอกสารและสื่อ 2553 และสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง PMQA e-learning ก็สามารถเข้าไปศึกษาที่เว็บไซต์ www.opdc.go.th ได้เช่นเดียวกัน
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 18 ธันวาคม 2552 10:49:37 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 18 ธันวาคม 2552 15:28:22