สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงกรอบการประเมินผล
การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยภารกิจการพัฒนาองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ขึ้น ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ
ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม
เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จัด
ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 14 แห่ง
เกี่ยวกับการจัดทำระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เหมาะสม
และสอดคล้องกับหลักการของกรอบการประเมินผลฯ
ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวชี้แจงถึงแนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 สรุปความได้ดังนี้
จาก
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547
ที่เห็นชอบการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.
เสนอ ซึ่งกำหนดให้มีระบบการประเมินผลหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน
โดยแบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 : องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
ระยะที่ 2 :
หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะซึ่งมีภารกิจในการให้บริการ
สาธารณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. 2542 จำนวน 8 แห่ง ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีใช้บังคับ
เพื่อเตรียมดำเนินการประเมินผลในระยะที่ 2
ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากภายนอก
(บริษัททริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
ศึกษาและยกร่างกรอบและแนวทางการประเมินผลหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราช
บัญญัติเฉพาะ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือการประเมินผลของหน่วยงานกรณีศึกษา :
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)
จากนั้นได้นำกรอบการประเมินผลฯ และแนวทางการนำกรอบการประเมินผลฯ ไปปฏิบัติ
เสนอต่อที่ประชุม ก.พ.ร. และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วตามลำดับ
โดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552
ได้พิจารณาเห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัด
ตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ
และแนวทางการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้ง
ตามพระราชบัญญัติเฉพาะไปปฏิบัติ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
โดยกลุ่มเป้าหมายของการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานไปใช้เป็นแนวทางใน
การประเมินผล คือ หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 14
แห่ง
หลักการสำคัญของการประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พระราชบัญญัติเฉพาะ
1. มีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสะดวกต่อการนำไปประยุกต์กับองค์การมหาชนต่าง ๆ
2. มุ่งเน้นการวัดผลองค์การอย่างสมดุล เช่น
สมดุลระหว่างผลด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน
สมดุลระหว่างผลการดำเนินงานภายในและภายนอกองค์กร ปัจจัยขับเคลื่อน
และผลลัพธ์ เป็นต้น
3. เป็นเครื่องมือถ่ายทอดนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
องค์การมหาชนสามารถใช้ติดตามควบคุมความสำเร็จผ่านการวัดผลที่เป็นระบบและได้
มาตรฐาน
4.
มุ่งเน้นความสำคัญของการประเมินผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
พันธกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์ภาครัฐ
และการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรมากกว่าการประเมินผลด้านการ
เงิน
5. มุ่งเน้นการวัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่า
6. มุ่งเน้นการประเมินด้านการบริหารจัดการองค์กร
ทำให้องค์การมหาชนมีการกำกับดูแลที่ดี
และมีระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล
เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาศักยภาพองค์กรให้เติบโตได้อย่าง
ยั่งยืนในอนาคต
สำหรับกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 นั้น จะแบ่งออกเป็น 4 มิติ ดังนี้
มิติด้านผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจ (20 - 40%)
มิติด้านผู้มีส่วนได้เสีย (10 - 20%)
มิติด้านประสิทธิภาพ (15 - 35%)
มิติด้านการกำกับดูแลและพัฒนาองค์กร (10 - 20%)
แนวทางการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะไปปฏิบัติ
1.
หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะดำเนินการจัดให้มีการประเมิน
ผลการปฏิบัติงานตามกรอบการประเมินผลฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
เป็นต้นไป โดยจัดจ้างผู้ประเมินอิสระจากภายนอก และใช้งบประมาณของหน่วยงาน
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร.
ร่วมให้ความเห็นในการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินอิสระ
จากภายนอก
2.
คณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดให้มีการประเมิน
ผลการปฏิบัติงานตามกรอบการประเมินผลฯ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
ในระยะเริ่มแรกจะยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลจาก
ก.พ.ร. เพื่อทำหน้าที่เจรจาข้อตกลงผลการปฏิบัติงาน
ความเหมาะสมของตัวชี้วัด น้ำหนัก ค่าเป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนน
รวมทั้งการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อตกลง
ดังเช่นในกรณีของส่วนราชการ จังหวัด สถาบันการศึกษา และองค์การมหาชน
หรือรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งมีคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ดี
ให้หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะรายงานการกำหนดตัวชี้วัด
ค่าเป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนนตามกรอบการประเมินผลต่อ ก.พ.ร.
และรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานไปยัง ก.พ.ร. ภายใน 3
เดือนหลังสิ้นสุดปีงบประมาณ
3. ก.พ.ร.
ประมวลรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระ
ราชบัญญัติเฉพาะในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว
เพื่อเสนอแนะรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วย
งานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะต่อไป
จากนั้นเป็นการนำเสนอ กรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดย นายสมชาย ไตรรัตนภิรมย์ จากบริษัททริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีรายละเอียดและตัวอย่าง ดังนี้
มิติด้านผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจ (20 - 40%)
หลักการ: ประเมินผลสัมฤทธิ์ทั้งด้านผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome)
ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์จัดตั้งและพันธกิจ วิสัยทัศน์ ทิศทางองค์กร
นโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งระดับองค์กรและภาครัฐ
กลุ่มตัวชี้วัด เช่น
ผลสัมฤทธิ์ด้านวิจัยพัฒนา ด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และด้านการให้บริการและการส่งเสริมด้านสาธารณสุข
เป็นต้น
ตัวอย่าง :
- มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของผลผลิต (ด้านตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน)
ต่อจำนวนพนักงาน หรือจำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงาน (วัด Labor Productivity)
- อัตราที่ลดลงของระยะเวลาเฉลี่ยในการให้บริการ
(วัดเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนสิ้น
สุดกระบวนการ)
- จำนวนผู้ป่วยต่อแพทย์ผู้ให้บริการ
- จำนวนบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่อจำนวนนักวิจัย (วัดประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากร)
- อันดับการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ของประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
- ร้อยละของงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคมเทียบกับจำนวนงานวิจัยทั้งหมดที่พัฒนาได้
มิติด้านผู้มีส่วนได้เสีย (10 - 20%)
หลักการ: ประเมินความสำเร็จในการตอบสนองต่อความคาดหวัง และความต้องการของรัฐบาล
ผู้มีส่วนได้เสียทางตรง ซึ่งได้แก่ ผู้ใช้บริการหลัก พนักงาน พันธมิตร
และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐฯ
ซึ่งได้แก่ สังคมและประเทศโดยรวม เป็นต้น
กลุ่มตัวชี้วัด เช่น
ความพึงพอใจ ทัศนคติ และภาพลักษณ์ของผู้มีส่วนได้เสียต่อองค์กร /
การบริหารข้อร้องเรียน และการสร้างโครงข่ายความร่วมมือกับพันธมิตร เป็นต้น
ตัวอย่าง :
- ร้อยละความสำเร็จในการนำผลการประเมินความพึงพอใจไปปรับปรุงและดำเนินการ
- ระดับผลสำรวจภาพลักษณ์และความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร
- ระดับความสำเร็จในการจัดทำ Customer Experience Management
(CEM) เพื่อสร้างความจงรักภักดีของผู้ใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์
ที่มีต่อหน่วยงาน
มิติด้านประสิทธิภาพ (15 - 35%)
หลักการ : ประเมินประสิทธิภาพกระบวนการภายในและประสิทธิภาพทางการเงิน
1) ประเด็นประเมินประสิทธิภาพการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการ
หลักการ: ประเมินผลการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐฯ
แบ่งออกเป็น ประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานหลัก
และประสิทธิภาพของกระบวนการสนับสนุน
กลุ่มตัวชี้วัด เช่น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการให้บริการ อัตราที่ลดลงของความล่าช้าในการให้บริการ และอัตราที่ลดลงของบริการที่ผิดพลาด เป็นต้น
ตัวอย่าง :
- การยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร
- ร้อยละของโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถส่งรายงานความก้าวหน้าได้ทันเวลา
- การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล การยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัทที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช.
2) ประเด็นประเมินการบริหารงบประมาณและการเงิน
หลักการ: ประเมินความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่า ของการใช้งบประมาณ
และทรัพยากรทางการเงินในการผลผลิตและผลลัพธ์สูงสุด
และโดยการจัดการทางการเงินที่ดีทั้งด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย
และบริหารกระแสเงินสด จะส่งผลให้องค์การมหาชนฯ
มีทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้บรรลุได้ตาม
พันธกิจอย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น
กลุ่มตัวชี้วัด: ด้านการเพิ่มความคุ้มค่าทางการเงิน / การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน /
การประหยัดต้นทุน/ค่าใช้จ่าย และ การสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ดี
ตัวอย่าง :
- ร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามแผนงานที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
- ร้อยละความสำเร็จของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
- ร้อยละของเงินรายได้จากการดำเนินงานของ สวทช. เทียบกับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก สวทช.
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อผลสำเร็จตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
มิติด้านการกำกับดูแลและพัฒนาองค์กร (10 - 20%)
หลักการ : ประเมินประสิทธิภาพ และความเพียงพอของการกำกับดูแลและบริหารองค์กรในระยะสั้น รวมถึงพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรในระยะยาว
1) ประเด็นประเมินการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการ
1.1) บทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
1.1.1) กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี
1.1.2) กำหนดให้มีการติดตามและทบทวนระบบงานที่สำคัญ
1.1.3) ติดตามผลการดำเนินงาน
1.1.4) ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารที่รองจากผู้บริหารระดับสูงสุด 1 - 2 ระดับ
1.1.5) การประชุมคณะกรรมการ
1.1.6) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
1.2) การพัฒนาตนเองของคณะกรรมการ
1.2.1) การประเมินตนเองแบบทั้งคณะ
1.2.2) การส่งเสริมความรู้ความสามารถของคณะกรรมการทั้งหมดและกรรมการใหม่
2) ประเด็นการประเมินอื่น ๆ ด้านการพัฒนาองค์กร
ตัวอย่าง
2.1) การบริหารจัดการองค์กร (ในระยะแรก)
- การจัดทำแผนงานเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาองค์กร
- จำนวนนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นได้
- การจัดการด้านการเรียนรู้ขององค์กร (Knowledge Management)
- การพัฒนาองค์การสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)
- การฝึกอบรมพนักงาน
- การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการจัดการองค์กร
- การแก้ไขกฎ ระเบียบ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาองค์กร
- การสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
2.2) การบริหารจัดการองค์กรเพื่อการเติบโตในระยะยาว (ในระยะถัดไป)
- การประเมินระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน
- การประเมินระบบการบริหารความเสี่ยง
- การประเมินระบบการบริหารจัดการสารสนเทศ
- การประเมินระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล
ในช่วงท้ายของการประชุมเป็นการตอบข้อซักถาม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้บริหารของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะทั้ง 14 แห่ง โดยมี นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นผู้ตอบข้อซักถามและร่วมแสดงความคิดเห็น
หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ 14 แห่ง
1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 3. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 4. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) 5. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 8. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 9. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) 10. คุรุสภา 11. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 12. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 13. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 14. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) |
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2552 11:36:20 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2552 11:36:20