รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน
การปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย
ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน
2552 ได้นำเสนอในตอน การปรับปรุงการให้บริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่มาของเรื่องนี้คือ รายงานวิจัยของธนาคารโลกที่จัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Doing Business 2010) โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศทั่วโลก สูง
ขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 181 ประเทศทั่วโลก
และยังเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชีย รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง
นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งในการพัฒนาระบบราชการไทย
ซึ่งรายการเดินหน้า..พัฒนาราชการไทย
ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาร่วมพูดคุยกันในประเด็นดังกล่าว
ประกอบด้วย นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร นางผานิต หล่อตระกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดร.กิริฎา เภาพิจิตร เศรษฐกรของธนาคารโลกประจำประเทศไทย และ นายสมภพ อมาตยกุล ประธานกรรมการบริษัท บี.บี.บิสซิเนสแมเนจเมนท์ จำกัด
เริ่มจากภาพบรรยากาศ งานแถลงข่าวรายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business 2010 ณ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่ง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ
ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงผลการวิจัยดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งว่า
..การจัดอันดับในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการวัดเรื่องบรรยากาศการลงทุน
แต่เป็นการดูเรื่องกระบวนการขั้นตอนของทางราชการ กฎ ระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ
จากรายงานวิจัยของธนาคารโลกเมื่อปี 2006 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 20 จาก 170
ประเทศนั้น ได้กระตุ้นให้ไทยเริ่มหันมองตัวเองมากขึ้นว่า
ควรจะปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใดได้บ้าง จนได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี
พ.ศ.2548 ให้ทางกระทรวงพาณิชย์และสำนักงาน ก.พ.ร.
ประสานกับส่วนราชการต่างๆ
ที่อยู่ในกระบวนการที่ธนาคารโลกใช้ในการประเมินจัดอันดับความยากง่ายในการทำ
ธุรกิจ โดยได้ประชุมร่วมกันในการหาจุดที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
เป็นผลให้อันดับของไทยดีขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งสิ่งที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญคือความเอาจริงเอาจังในการปรับปรุง
ตลอดจนการดำเนินการที่ต่อเนื่อง โดยที่กระทรวงพาณิชย์และสำนักงาน ก.พ.ร.
เข้ามาดูแลให้กับส่วนราชการต่างๆ
ก็มีเจตนารมณ์ที่อยากให้ประเทศไทยมีขั้นตอนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น
และได้พยายามลดกฎระเบียบบางเรื่องออกเพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ใน
อันดับ 1 ใน 10 ของเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ..
จากนั้นเป็นการสนทนาระหว่างพิธีกร คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ กับแขกรับเชิญท่านแรกคือ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร เศรษฐ
กรของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ซึ่ง ดร.กิริฎาเล่าว่า
เหตุผลหลักที่ประเทศไทยสามารถเลื่อนอันดับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 12 ได้
เนื่องจากการปรับปรุงกระบวนงานของภาครัฐในการเริ่มประกอบธุรกิจให้ทำได้ง่าย
ขึ้น
โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียนธุรกิจซึ่งได้รวมขั้นตอนการขอหนังสือบริคณห์สนธิ
กับการขอจดทะเบียนธุรกิจเป็นขั้นตอนเดียว สำหรับการพิจารณาตัดสินของธนาคารโลก พิจารณา
จากกระบวนงานให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งมี 10
ด้าน ประกอบด้วย 1) การเริ่มต้นธุรกิจ 2) การขออนุญาต 3) การจ้างแรงงาน 4)
การจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) การได้รับสินเชื่อ 6) การคุ้มครองผู้ลงทุน 7)
การชำระภาษี 8) การค้าระหว่างประเทศ 9) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ
10) การปิดกิจการ
โดยธนาคารโลกได้ทำการศึกษาจากส่วนราชการและสอบถามบริษัทกฎหมายหรือบริษัท
ตรวจสอบบัญชี เพื่อทราบถึงกฎระเบียบ ขั้นตอน
การติดต่อกับส่วนราชการในการประกอบธุรกิจว่ามีความยากง่ายอย่างไร
นอกจากนั้น ดร.กิริฎา ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้ง 10
ด้านของประเทศไทยในรายงาน Doing Business
พบว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับการจัดอันดับให้สูงขึ้นได้
หากมีการปรับปรุงบางเรื่อง เช่น
กระบวนการปิดกิจการซึ่งควรใช้เวลาให้น้อยลง
และเรื่องการจ่ายภาษีที่ปัจจุบันมีจำนวนครั้งในการจ่ายภาษีค่อนข้างสูง
รวมทั้งเห็นควรให้มีการนำระบบ e-custom มาใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น
ต่อมาเป็นการสนทนากับผู้แทนจาก 2
หน่วยงานที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงการบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา
จัดอันดับของธนาคารโลก ได้แก่ นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร และ นางผานิต หล่อตระกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เล่าถึงสิ่งที่กรมสรรพากรได้ดำเนินการว่า.. กรมสรรพากรได้
มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
โดยออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูก
สร้าง ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้ได้ขยายเวลาบังคับใช้ถึง 28 มีนาคม 2553
ผลคือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว
ส่วนเรื่องการให้บริการนั้น อธิบดีกรมสรรพากรให้มุมมองว่า
หน้าที่สำคัญของกรมสรรพากรคือให้บริการผู้เสียภาษี
ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรม
ความโปร่งใส
รวมไปถึงการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ให้มีจิตใจที่จะบริการประชาชน
ตลอดจนการปรับปรุงระบบการชำระภาษีให้สะดวกขึ้น อย่างการนำระบบ Online
มาใช้ในการยื่นแบบเสียภาษี นอกจากนั้น อธิบดีกรมสรรพากร
ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในอนาคตอยากให้มีระบบการคำนวณภาษีสำหรับผู้มีรายได้เงินเดือนอย่างเดียว
ให้ยอดภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายทุกเดือนตรงกับภาษีที่ต้องจ่ายในสิ้นปี
เพื่อให้ไม่ต้องยื่นแบบเสียภาษีอีก ทำให้ลดเวลาและลดการใช้กระดาษลง
และอีกเรื่องคือระบบ e-tax invoice
หรือการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐกับภาคธุรกิจในการออกใบกำกับ
ภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์..
ส่วนแขกรับเชิญอีกท่าน คือ นางผานิต หล่อตระกูล รอง
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เล่าถึงการปรับปรุงการทำงานของกรมฯ ว่า..
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมาย
ในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 9 วัน
ให้เหลือภายในวันเดียว
ด้วยการแก้ไขกฎหมายการปรับเปลี่ยนสถานะของการจดทะเบียน
ทำให้การแปรสภาพธุรกิจเร็วขึ้น
และตรวจสอบข้อมูลผู้ขอจดทะเบียนการค้าด้วยระบบ Online
โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากรและสำนักทะเบียนราษฎร์ นอกจากนั้น กรมฯ
ยังมีบริการอบรมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการที่
สนใจ เช่น ระบบ e-commerce ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจค้าปลีก
หรือธุรกิจบริการต่างๆ เป็นต้น รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ของกรมฯ ว่า
ปัจจุบันมีบริการ web service
ให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานอื่นที่ทำงานเชื่อมโยงกับกรมฯ
ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และในอนาคตอันใกล้ทางกรมฯ
ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดศูนย์ให้บริการแก่ผู้ลงทุนชาวต่างชาติ
รวมไปถึงการปรับปรุงสถานที่ให้บริการตามต่างจังหวัดด้วย
นอกจากนั้นยังจะทำการปรับปรุงกฎระเบียบ
เสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนการค้าให้สามารถจดทะเบียนได้ไม่
จำกัดสถานที่ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ
เพื่อขยายเครือข่ายในการให้บริการด้วย..
ต่อมาเป็นมุมมองจากภาคเอกชนบ้างว่า ในการทำงานร่วมกับภาครัฐนั้น มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และอยากให้มีการปรับปรุงในเรื่องใดเพิ่มเติม ซึ่ง ดร.สมภพ อมาตยกุล ประธาน
กรรมการบริษัท บี.บี.บิสซิเนสแมเนจเมนท์ จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า..
การบริหารงานภาครัฐปัจจุบัน
จะเห็นว่ามีการตื่นตัวและปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ ไปค่อนข้างมาก
ทำให้ไม่ค่อยพบปัญหาอุปสรรคสักเท่าไหร่
แต่ก็มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้างในเรื่องการบริการแก่ภาคเอกชน ได้แก่
ประเด็นเรื่องความสะดวกรวดเร็ว การลดขั้นตอน ความเสมอภาคในการให้บริการ
สำหรับแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการทำงานของภาครัฐนั้น ดร.สมภพ
ให้ข้อเสนอแนะว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้น
ภาครัฐควรจะพิจารณาเรื่องที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องการส่งออก
โดยที่ภาครัฐควรจะมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ทำธุรกิจส่งออกในการดำเนินการ
ต่างๆ เช่น การทำธุรกรรมส่งออก การขออนุมัติ-อนุญาต เป็นต้น
นอกจากนั้นภาครัฐควรจะมีภาวะผู้นำโดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการต้องมีแผนงานที่
จะปรับปรุงให้ชัดเจน
รวมถึงเปลี่ยนมุมมองการให้บริการโดยต้องให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
แล้วดูว่าผู้รับบริการต้องการอะไร แล้วจึงดำเนินการตามนั้น
รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมการให้บริการใหม่ๆ
มาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน..
สุคนธ์ทิพย์ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2552 13:20:07 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2552 13:33:45