สัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 เรื่อง
ปรับบทบาทภาครัฐ...เปลี่ยนการบริหารประเทศไทย
เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 เรื่อง ปรับบทบาทภาครัฐ...เปลี่ยนการบริหารประเทศไทย ณ ห้องเจ้าพระยา ชั้น 2 หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีผู้บริหารของส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์การมหาชน รวมไปถึงภาคเอกชน ข้าราชการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม
เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของการพัฒนาระบบราชการ นับตั้งแต่ที่ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารราชการแบบเดิม มาสู่ระบบการบริหารราชการที่มุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 ขึ้น ในหัวข้อ ปรับบทบาทภารกิจ...เปลี่ยนการบริหารประเทศไทย
การประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียติจาก ศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี มาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทิศทางการบริหารกิจการบ้านเมืองของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งสาระสำคัญของการปาฐกถาแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เครื่องมือที่จะปรับเปลี่ยนประเทศหรือเครื่องมือคุณธรรม และ ความรับผิดชอบต่อสังคม
ศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า เราไม่ได้ดูบริบทที่ทะลุถึงกันจากอดีตถึงปัจจุบัน และไม่ได้เรียนรู้จากอดีตเท่าที่ควร และไม่ได้มองการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันสู่อนาคต ซึ่งคนไทยจะเก่งกับการรับมือกับวิกฤตการณ์ แต่ขาดการวางแผน Plan Crisis Management
การจัดการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ประมาทในทุกสภาวะ เรียนรู้อยู่เสมอ และสรุปบทเรียนตลอด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องวิเคราะห์เหตุปัจจัยและผลกระทบ โดยแบ่งประเภทเหตุปัจจัย เป็นเหตุปัจจัยภายนอก/เหตุปัจจัยภายใน เหตุปัจจัยที่ปรับได้/เหตุปัจจัยที่ปรับไม่ได้ เหตุปัจจัยที่จัดการได้/เหตุปัจจัยที่จัดการไม่ได้ และจัดการโดยพยายามเปลี่ยนเหตุปัจจัยที่จัดการไม่ได้เป็นเหตุปัจจัยที่จัดการได้ หากไม่วิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยจะทำให้มีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่รู้ถึงที่มาและขนาดของปัญหา
การเปลี่ยนแปลงเป็นวงจรขาขึ้น ขาลง ซึ่งต้องจัดการโดยสร้างระบบข้อมูลข่าวสารและระบบติดตามตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลง กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับขาขึ้น ตลอดจนกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับขาลง เพราะฉะนั้น เราต้องทราบว่าเศรษฐกิจและการเมืองของเราอยู่ขาขึ้นหรือขาลง ซึ่งการเมืองอยู่ในขาลงแน่นอนเพราะทุกคนเกิดความทุกข์ จึงต้องคิดว่าจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการปรับประชาธิปไตยของบ้านเมือง
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นกว้างไกล รวดเร็ว และรุนแรง การจัดการคือ ต้องติดตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับสากล ระดับภูมิภาคเพื่อนบ้าน และระดับในประเทศ จากนั้นต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับผลกระทบจากแนวโน้มเหล่านี้ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ ซึ่งต้องมาคิดกันว่าใครจะเป็นผู้จัดทำ War Room เรื่องคอรัปชัน ศีลธรรม และเรื่องอื่น ๆ และใครจะเป็นผู้ติดตาม หรือจะให้คนต่างชาติมาทำให้ ซึ่งมีน้อยมากและไม่ได้ลงลึกที่สำนึกของคนไทย
การวิเคราะห์แนวโน้มสากลและแนวโน้มภายในที่มากระทบกับความมั่นคงและต้นทุนของชาติ ซึ่งแนวโน้มสากลต้องดูการขยายอำนาจของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ระบบอำนาจหลายขั้ว ภาวะโลกร้อน การขยายตัวของเมือง การก่อการร้าย อันส่งผลต่อความมั่นคง สำหรับแนวโน้มภายในนั้น ตัวอย่างเช่น แนวโน้มของประชากรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552 สัดส่วนประชากรของประเทศในวันทำงานมีมาที่สุด ประชากรวัยเด็กจะลดลง จากปี พ.ศ. 2533 มี 14 ล้านคน อีกไม่กี่ปีอาจเหลือเพียง 7 ล้านคน แล้วโรงเรียนที่มีอยู่กว่า 30,000 โรงเรียน จะทำอย่างไร
นอกจากนี้ ควรมีการสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกันในสังคม เพราะความแตกต่างและแปลกแยกจะนำไปสู่ปัญหาหลัก ๆ ของบ้านเมือง เช่น เราเน้นการส่งออกแต่ละเลยภาคเกษตรมากเกินไป ดังนั้น การจะมี BOI ด้านการเกษตรหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องคิดต่อไป หรือตัวอย่างเรื่องค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเคยยกย่องคนดีเป็นยกย่องคนรวย
ประเทศไทยมีต้นทุนมหาศาล แต่เราลืมเอาต้นทุนเหล่านั้นมาตั้งอยู่ในบัญชีของประเทศ ต้นทุนของชาติคือสถาบันหลัก ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันประชาชน สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันชาติ ต้องสร้างความเป็นชาติไทย ผลประโยชน์ของชาติ และความอยู่รอดของชาติ สร้างความภูมิใจในความเป็นคนไทย ความเข้าใจในความเป็นไทย ให้เกิดความผูกพันเพื่อแผ่นดิน ความเสียสละเพื่อชาติ สร้างให้คนรักชาติเหมือนประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิสราเอล
สถาบันประชาชน ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ความั่นคงของครอบครัวไทย คุณธรรมประจำตระกูล สถาบันชุมชน สร้างองค์ประกอบของความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ให้พลังชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ
สถาบันศาสนา ประเทศไทยมี 5 ศาสนาหลัก ๆ แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องคำสอน แต่ก็มีความเหมือน คือ หลักคำสอนหรือศาสนธรรม ที่ทุกศาสนาเน้นความสัตย์จริง ความเคารพในมนุษย์ และความรักควาเมตตา โดยสังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับศาสนธรรมมากกว่าพิธีกรรม
สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเสาหลักในความเป็นปึกแผ่นและความอยู่รอดของชาติในช่วง 700 - 800 ปีที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งทั้งในยามสงบและยามวิกฤติ ผูกพันเชื่อมโยงกับสถาบันชาติ ประชาชน และสถาบันศาสนาอย่างแน่นแฟ้น
ในเรื่องของเครื่องมือที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ หรือเครื่องมือคุณธรรมนั้น ท่านองคมนตรีได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม มากล่าวถึง ว่าพระปฐมบรมราชโองการมีทั้งเป้าหมายและวิธีการ เป้าหมายคือ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และวิธีการคือ จะครองแผ่นดินโดยธรรม ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้
คนที่มีคุณธรรม คือ ผู้ซึ่งมีวาจาและการกระทำที่สะท้อนความดี ความจริง ความงาม ส่วนคนที่ไร้คุณธรรม คือ ผู้ซึ่งมีวาจาและการกระทำที่สะท้อนความชั่ว ความเท็จ ความอัปลักษณ์ ซึ่งสิ่งที่กำกับคุณธรรม คือ
1. ศาสนธรรม เป็นข้อบัญญัติที่แต่ละศาสนากำหนดให้ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุขแห่งสาธารณชน
2. จริยธรรม เป็นข้อบัญญัติที่กำหนดขึ้นอให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติ (จริยธรรมทั่วไป) หรือข้อบัญญัติที่สมาชิกขององค์กรวิชาชีพกำหนดขึ้นสำหรับให้สมาชิกขององค์กรปฏิบัติ (จริยธรรมวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ) ทั้งนี้ เพื่อความสันติสุขของหมู่คณะ
3. นิติธรรม เป็นข้อบัญญัติที่บ้านเมืองกำหนดกฎหมายเพื่อใช้บังคับราษฎร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการบ้านเมือง และเพื่อประกันความเที่ยงธรรมให้กับประชาชน
4. ธรรมาภิบาล เป็นข้อบัญญัติที่องค์การกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารองค์การให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีหลักความรับผิดชอบร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อความยั่งยืนขององค์การ โดยโครงสร้างของธรรมาภิบาลประกอบด้วย
ระดับที่ 1 : เจ้าขององค์กร (จัดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์ใด)
ระดับที่ 2 : คณะกรรมการนโยบาย (แปลงวัตถุประสงค์เป็นนโยบายองค์กร)
ระดับที่ 3 : ผู้บริหาร (แปลงนโยบายองค์กรเป็นนโยบายบริหาร)
ระดับที่ 4 : ผู้ปฏิบัติ (แปลงนโยบายบริหารเป็นแผนปฏิบัติ)
ซึ่งทั้ง 4 ระดับจะต้องมี 1) ความรับผิดชอบ (responsibility) คือพันธะสัญญาที่จะปฏิบัติงาน และ 2) ความรับผิดรับชอบ (accountability) คือ พันธะสัญญาที่จะรับผิดต่อผลเสียหาย และรับชอบต่อผลดี อันเนื่องมาจากปฏิบัติงานนั้น ในระบบราชการมีการกำหนดความรับผิดชอบ แต่มักไม่ดูความรับผิดรับชอบ (output, outcome, impact) ดังนั้น จึงควรหันมาให้ความสนใจเรื่องการประเมินที่เป้าหมาย ความรับผิดชอบ และความรับผิดรับชอบให้มากขึ้น
5. คุณธรรมประจำตระกูล เป็นกฎเกณฑ์สังคม ที่สมาชิกหรือสังคมได้ถ่ายทอดกันมาเป็นมารยาท
สุดท้าย ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม ได้กล่าวถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ Corporate Social Responsibility: CSR ว่า เป็นการดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในและภายนอกองค์กร เพื่อทำให้องค์กรสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
การสร้างพลัง ความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องเริ่มตั้งแต่แบเบาะด้วยการสร้างความเข้าใจ เห็นตัวอย่าง ร่วมกิจกรรม ริเริ่มกิจกรรม มีการสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบในทุกภาคส่วน และเริ่มพลังผ่านสื่อมวลชน องค์กรเครือข่าย กฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ หน้าที่ของแต่ละบุคคลจะมีสิ่งสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ต้องสร้างตัวเองให้มีความเจริญรุ่งเรือง สามารถทำงาในแนวทางของตัวเอง เพื่อที่จะเลี้ยงตัวเองได้ และอีกหน้าที่หนึ่งคือ ช่วยส่วนรวมให้อยู่ดีกินดี
ในช่วงท้ายของการปาฐกถาพิเศษ ท่านองคมนตรีได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่คนไทยในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงเน้นย้ำให้คนไทยเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ประพฤติตนด้วยความสุจริต และมุ่งมั่นทำงานที่เป็นประโยชน์แท้จริง รวมทั้งส่งเสริมการทำสิ่งที่ดีงาม ให้เห็นความดีว่ามีคุณค่า แม้หลายสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ค่านิยมในความดีเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง และความสุขจะเกิดจากการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
นอกจากการปาฐกถาพิเศษของท่านองคมนตรีแล้ว ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 ยังมีการเสวนาเรื่อง ปรับบทบาทภาครัฐ...เปลี่ยนการบริหารประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า รศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ SIGA (Sasin Institute for Global Affairs) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) โดยมี ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่อง การกำกับดูและองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยผู้บริหารส่วนราชการและจังหวัดนำร่อง โครงการการจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ นายนัทธี จิตสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายจำลอง โพธิ์สุข ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และเรื่อง การกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชน โดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม ประธานกรรมการตรวจสอบ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมี รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสำหรับนักบริหาร สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ดำเนินรายการ ปิดท้ายด้วยการบรรยายเรื่อง แนวทางการจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดย นายสมชาย ไตรรัตนภิรมย์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ นายไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
สำหรับสรุปประเด็นการเสวนาและการบรรยายในแต่ละหัวข้อ สามารถติดตามอ่านได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th
ทีมสำนักนวัตกรรมฯ / สรุปประเด็น
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:23:23 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:23:23