Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2552 / ตุลาคม / รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอนภาครัฐกับคามร่วมมือในการขับเคลื่อน ยุทธศาสต์การพัฒนาประเทศ

รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอนภาครัฐกับคามร่วมมือในการขับเคลื่อน ยุทธศาสต์การพัฒนาประเทศ

รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ตอน

ภาครัฐกับความร่วมมือในการขับเคลื่อน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ



           รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)  เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอเรื่อง ภาครัฐกับความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้งภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ภาคราชการ และภาคประชาสังคม ได้แก่ คุณดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  คุณประภัสร์ ภู่เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  และ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


           เริ่มต้นรายการด้วยสกู๊ปสัมภาษณ์ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า การจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนได้นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความชัดเจนใน 4 เรื่อง ได้แก่ 

        1) เรื่องนโยบาย ฝ่ายนโยบายจะต้องเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการทำงานร่วมกับประชาชน เห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน ไม่ใช่ทำตามแฟชั่น

        2) เรื่องการปฏิบัติ จะเกี่ยวกับขอบเขตภารกิจใดบ้างที่รัฐควรทำเอง หรือควรทำร่วมกับประชาชน หรือควรมอบให้ประชาชนทำ เช่น งานด้านความมั่นคงเป็นหน้าที่ของรัฐ ประชาชนช่วยได้น้อยมาก แต่งานด้านพัฒนา ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เต็มที่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจมหภาคในระดับชาติและระดับภูมิภาค ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคธุรกิจได้ ส่วนเรื่องฐานทรัพยากร เรื่องทุนทางสังคม และเรื่องเศรษฐกิจรากหญ้า ภาคชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้เต็มที่ นอกจากนี้ คุณหมอพลเดชยังได้อธิบายว่า ที่เรียกว่าภาคประชาชนนั้น จะประกอบด้วยองค์กร 3 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 เป็นองค์กร NGO หรือองค์กรพัฒนาเอกชน แบบที่ 2 เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรประชาสังคม แบบที่ 3 เป็นองค์กรชุมชน 

           3) เรื่องทัศนคติของข้าราชการ ข้าราชการในทุกระดับจะต้องมีทัศนคติ มีความคิดและความเข้าใจในเรื่องการทำงานร่วมกับภาคประชาชน จะต้องมีการปรับความคิด ทัศนคติและความเข้าใจของข้าราชการทุกระดับอย่างเป็นระบบด้วย

           4) เรื่องการปรับบทบาท การทำงานร่วมกับประชาชนจะต้องทำงานเป็น partner ร่วมกัน รัฐจะต้องไม่หวงงบประมาณไว้เอง ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาชน องค์กร NGO สามารถบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากร โดยบริหารจัดการทั้งระบบได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่รู้สึกว่าถูกเกณฑ์มาร่วมกิจกรรม

           หลังจากชมสกู๊ปความคิดเห็นของนายแพทย์พลเดช ในมุมมองที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของภาครัฐอย่างไรแล้ว คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ พิธีกรรายการได้สนทนากับแขกรับเชิญท่านแรก คือ คุณประภัสร์ ภู่เจริญ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่พบในการทำงานร่วมกัน ซึ่งคุณประภัสร์แสดงความคิดเห็นว่า ...ส่วนใหญ่แล้วส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคจะหวอำนาจ เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ที่สำคัญประชาชนและส่วนราชการต่างๆ ยังไม่เข้าใจระบบโครงสร้างของท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร และมักจะมองว่าท้องถิ่นมีแต่คนทุจริต คนโกง เพราะท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีทั้งหมด 8 พันกว่าแห่ง เป็นเทศบาลประมาณ 1600 แห่ง อบต. 5000 กว่าแห่ง อบจ.เมืองพัทยา และ กทม. ใครทำผิดแค่ 2 - 3 % ก็ดูเป็นจำนวนที่มากแล้ว และมักจะมองว่าท้องถิ่นเป็นเครื่องมือของการเมือง ความคิดเหล่านี้ควรต้องปรับเปลี่ยน ควรจะมองท้องถิ่นว่าจะช่วยขับเคลื่อนสร้างบ้านเมืองอย่างไร ที่สำคัญรัฐต้องเปลี่ยนและมีความจริงใจ รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ไม่แย่งงานท้องถิ่นมาทำเองและต้องให้งบประมาณสนับสนุนด้วย ต้องมองว่าท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติเพราะใกล้ชิดประชาชนที่สุด ส่วนกลางควรเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง...

           จากนั้น คุณดุสิต นนทะนาคร ได้เสนอความคิดเห็นในฐานะภาคเอกชนว่า ปัจจุบันภาคราชการมีการปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น มีการประเมินตัวเอง มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด เป็นต้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่การทำงานของข้าราชการจะมีทัศนคติเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย สิ่งสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน คือ ความเข้าใจ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นทัศนคติเชิงบวก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ต่างฝ่ายก็ต้องเลือกทำงานกับคนดีเช่นเดียวกัน หากมองว่าทุกอย่างเลวร้ายทั้งหมดก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนงานใดๆ ได้เลย และสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ภาคเอกชนเป็นห่วง คือ เรื่องการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก สิ่งนี้จะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน การกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย เมื่อวางระบบไว้ดีแล้ว แม้ต้องเปลี่ยนคนแต่ระบบก็ยังเดินต่อไปได้ และจะปฏิบัติให้บรรลุตามแผนได้หรือไม่เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า

           สุดท้าย คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ ได้ให้มุมมองในฐานะนักกฎหมาย ถึงการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคส่วนต่างๆ โดยกล่าวเปรียบเทียบให้ฟังว่า ในสมัยโบราณภาครัฐจะทำเองทั้งหมด ต่อมาเมื่อการค้าพาณิชย์เจริญก้าวหน้าขึ้น สิ่งที่รัฐทำจะมี 4 ด้าน คือ ด้านการป้องกันประเทศ ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการอำนวยความยุติธรรม และด้านการต่างประเทศ นอกนั้นให้เอกชนทำเพราะมีความคล่องตัวกว่า แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างทุกประเทศจะเหมือนกัน คือ รัฐเข้าไปแทรกแซงในทุกเรื่อง เรียกว่า stage intervention มีการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายกว่า 700 ฉบับ และมีกฎหมายลูกบทอีกกว่า 46,000 ฉบับ สิ่งนี้หมายความว่าประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่างๆ กว่า 700 เรื่อง และรัฐต้องควบคุมดูแลเรื่องต่างๆ กว่า 46,000 กระบวนงาน รัฐจึงต้องขยายงานออกไปมากมาย ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หลายๆ ประเทศจึงมีนโยบาย delegation หรือทำกฎหมายให้น้อยเท่าที่จำเป็นหรือรัฐเข้าไปแทรกแซงให้น้อยลง

           สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ เรียกว่า การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ เน้นเรื่องการมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะสอดคตล้องกับกฎหมายในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 เช่นกัน โดยจะมีหลายมาตราที่กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สำหรับปัจจัยที่ทำให้การสร้างการมีส่วนร่วมประสบผลสำเร็จ ได้มีผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ 1) ต้องมีความตั้งใจจริง 2) ต้องมีความจริงใจ 3) ต้องเปิดเผยโปร่งใส และ 4) ต้องรับฟังความคิดเห็น การรับฟังความคิดเห็นจะแตกต่างจากประชาพิจารณ์ คือ การรับฟังความคิดเห็นเป็นมิติการมีส่วนร่วมในระดับง่าย รับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจของรัฐ รัฐต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของประชาชน ส่วนการทำประชาพิจารณ์จะต้องได้ประชามติ ผลประชามติเป็นอย่างไรก็ต้องนำไปปฏิบัติตาม จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สุดท้ายคุณปกรณ์ กล่าวว่าทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมหรือความร่วมมือเกิดผลสำเร็จ



สุคนธ์ทิพย์ (สลธ.) / ข้อมูล & ภาพ
ธารทิพย์ (สลธ.) / เรียบเรียง
วสุนธรา  (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:22:01 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:22:01
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th