ธนาคารโลกขยับไทยขึ้นอันดับ 12 ประเทศน่าประกอบธุรกิจ
ตั้งเป้าติด 1 ใน 10 ของโลก
ผลสำรวจธนาคารโลก ไทยเลื่อนอันดับดีขึ้น จาก 13 ขึ้นสู่อันดับที่ 12 ระบุ เป็นผลจากการที่หน่วยงานราชการได้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการให้บริการ มีการแก้ไขกฏหมาย กฏ ระเบียบ ลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ และจัดระบบการให้บริการที่มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 ที่ธนาคารโลกประจำประเทศไทย สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับธนาคารโลก กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จัดการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอรายงานผลการวิจัยเพื่อจัดอันดับความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประจำปี 2553 (Doing Business 2010) ผ่านระบบ Teleconference จากกรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเสนอรายงานฯ โดย Ms. Sylvia Solf, Program Manager for Doing Business Report, International Finance Corporation (IFC) พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามรายละเอียดและประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ
สำหรับผลการวิจัยในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ เป็นอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขยับสูงขึ้นจากปี 2552 ที่อยู่ในอันดับ 13 จาก 181 ประเทศ โดยประเทศสิงคโปร์ยังครองแชมป์อันดับที่ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 3 ญี่ปุ่นอันดับลดลงจาก 12 มาอยู่ในอันดับที่ 15 เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ลงมาอยู่อันดับที่ 23 จาก 20 ส่วนจีนหล่นไปอยู่ที่อันดับ 89 จาก 83 เป็นต้น โดยตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้ประเทศไทยมีคู่แข่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็สามารถดำเนินการพัฒนาจนประสบความสำเร็จ ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังจากการประชุมรับฟังการนำเสนอรายงานผลการวิจัยของธนาคารโลกแล้ว เป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. นางปราณี ภาษีผล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยของธนาคารโลกในการจัดอันดับความสะดวกหรือความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยที่เพิ่มขึ้น 1 อันดับ จาก 13 ขึ้นมาอยู่ที่ 12 ถือเป็นข่าวดีของประเทศที่ได้รับการประเมินดีขึ้น โดยธนาคารโลกได้รายงานว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฏหมาย กฏ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ ดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ และจัดระบบการทำงานที่สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน/ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศการลงทุน
อันดับของประเทศไทยในแต่ละปี
ปี |
อันดับ |
จำนวนประเทศ |
2005 |
20 |
145 |
2006 |
20 |
155 |
2007 |
18 |
175 |
2008 |
15 |
178 |
2009 |
13 |
181 |
2010 |
12 |
183 |
เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวต่อไปว่า เพราะผลการศึกษาและวิจัยของธนาคารโลกในปี 2548 ได้กระตุ้นให้ไทยต้องหันมามองตัวเองว่า ได้อันดับที่ 20 จากทั้งหมด 145 ประเทศทั่วโลกนั้น มีเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์และสำนักงาน ก.พ.ร. จึงประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานบริการในแต่ละด้านตามประเด็นการวิจัย 10 ด้านของธนาคารโลก ซึ่งส่งผลให้ไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ยังกล่าวด้วยว่า ในองค์ประกอบสำคัญในการปรับปรุงตามดัชนีชี้วัดทั้ง 10 ด้านนั้น ส่วนที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญที่สุดคือ การเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดย สำนักงาน ก.พ.ร. จะช่วยประสานงานและร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ปรับปรุงงานบริการ ด้วยเจตนาให้ไทยมีขั้นตอนลดลง และกฎระเบียบเหมาะสมมากขึ้น เพื่อช่วยใหข้าไปอยู่ในสิบอันดับแรกของโลก (Top Ten) ให้ได้ แต่สำหรับปีหน้า ซึ่งจะเป็นการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ประจำปี 2554 เราจะพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะวันนี้ไม่ใช่มีไทยเพียงประเทศเดียว ขณะที่ไทยปรับ ประเทศอื่นเขาก็ปรับด้วยเช่นกัน ใครปรับมากกว่าก็ได้คะแนนสูงกว่า ที่ผ่านมา มีเสียงวิจารณ์ภาคราชการไทย ว่ามีระเบียบขั้นตอนมาก ทำให้การจดทะเบียนประกอบธุรกิจใช้เวลานาน จึงได้พยายามปรับปรุงร่วมกับทุกส่วนราชการ โดยลดเวลาและขั้นตอนลง เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการประกอบธุรกิจให้ง่ายและเร็วขึ้น
การที่เราหันไปใช้และเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นออนไลน์มากขึ้น พร้อมๆ กับการบูรณาการส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยให้การปรับปรุงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นอีกตัวแปรและเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เราปรับปรุงตัวเองให้ได้อันดับดีขึ้น ซึ่งจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อ ก.พ.ร. และนำเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป ดร.ทศพร กล่าวในที่สุด
ด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่ไทยได้ขยับอันดับขึ้นอีก 1 อันดับนั้น เป็นเพราะไทยได้รับการพิจารณาว่าโดดเด่นในเรื่องของการปรับปรุงด้านศุลกากร ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย แม้จะเริ่มได้ไม่เต็มที่ แต่ทำให้จำนวนขั้นตอนและวันลดลง
ส่วนที่ไทยสามารถปรับปรุงจนทำให้ได้อันดับดีขึ้นในปี 2553 นั้น ดูจากรายงานของธนาคารโลก ระบุว่า ไทยสามารถทำให้การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจมีขั้นตอนลดลง และเวลาสั้นลงเหลือเพียง 1 วัน ในภาพรวมอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ทำให้ไทยดูดีกว่าคนอื่น ที่สามารถจดทะเบียนได้ง่ายกว่า การลดขั้นตอนช่วยเพิ่มเครดิตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในรายงานของธนาคารโลกยังบอกอีกว่า การจัดอันดับไม่ได้สำคัญต่อการลงทุนเท่ากับความต่อเนื่องของการปฏิรูปหรือว่าปรับปรุง กฎ ระเบียบในความง่ายของการทำธุรกิจ ประเทศไหนที่นักลงทุนเขาเห็นว่ามีความต่อเนื่องในการทำสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจและเข้ามาลงทุน ดร.กิริฎา กล่าว
ขณะที่นางปราณี ภาษีผล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลข้อมูลให้ถูกต้อง รักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน ซึ่งการลดระยะเวลาต้องดูประกอบหลายส่วนเพื่อช่วยคุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการที่ประเทศไทยได้อันดับที่ 12 ของโลกถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั้งภูมิภาค
สำหรับรายงานผลการจัดอันดับความสะดวกหรือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่จัดทำขึ้นในแต่ละปี มีดัชนีชี้วัด 10 ด้าน ประกอบด้วย การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การจ้างงาน การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการปิดกิจการ โดยการเผยแพร่รายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business 2010 เป็นการเผยแพร่ผ่านระบบ Teleconference จากกรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศที่ร่วมรับฟังพร้อมกับประเทศไทย คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งนี้ รายงานผลการจัดอันดับความสะดวกหรือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจฉบับนี้ ธนาคารโลกได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเป็นจำนวนมากที่นำรายงานดังกล่าวไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 21 กันยายน 2552 10:10:06 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 21 กันยายน 2552 10:10:06