การประชุมเครือข่ายนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 และ 2
เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 เลขาธิการ ก.พ.ร. (นายทศพร ศิริสัมพันธ์) เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 และ 2 ณ โรงแรมนารายณ์ซึ่งเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการเพื่อสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และสมรรถนะสูงเข้ารับราชการและพัฒนาให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานภาครัฐมีความสามารถในการเป็นทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนา/วางแผน และนักปฎิบัติ ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้จบหลักสูตรจำนวน2 รุ่น 78 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในรุ่นที่ 3
การจัดประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่จบโครงการและแยกย้ายกันไปปฏิบัติราชการในส่วนราชการต่างๆ ได้กลับมาพบปะสังสรรค์ พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบราชการ
ในมุมมองของตนเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ทั้ง 2 รุ่น ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความคาดหวังของทั้งส่วนบุคคลและ
ส่วนราชการ นอกจากนั้น การมาพบปะกันวันนี้จะทำให้ นปร. ได้ให้ข้อคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคในการทำงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขร่วมกัน รวมถึงการเปิดช่องทางแบบ outside in ที่จะให้ นปร. รุ่นที่ 1 และ 2 เสนอแนวทางการเติมเต็มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ และเสนอแนะแนวทาง นวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาระบบราชการอีกด้วย
ช่วงท้าย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้บรรยายเรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบราชการ
โดยสรุป คือ การปฏิรูปใหญ่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ที่จะต้องทบทวน และปรับบทบาทภาครัฐ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ภารกิจของส่วนราชการ
ที่จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ภารกิจงานที่ยังคงดำเนินงานอยู่ต่อ โอนถ่ายให้ภาคส่วนอื่น และยุติบทบาท หรือเลิกดำเนินการ สำหรับภารกิจที่ยังดำเนินการต่อ แบ่่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญ และภารกิืจสนับสนุน ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนในปัจจุบันระหว่างภารกิจหลัก และภารกิจที่จะต้องยุติ หรือเลิกดำเนินการนั้น คือ 60 : 40 ซึ่งสัดส่วนที่ควรจะเป็นคือ 70 : 30
สำหรับการพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่ถือเป็นประเด็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้มีการกำหนดตำแหน่ง Chief Performance Officer ขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้เพื่อทำหน้าที่บริหารการเปลี่ยนแปลงในภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงรัฐบาลของนาย Gordon Brown ของประเทศอังกฤได้เน้นให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศด้วย นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้้กล่าวถึงกระบวนการวิเคราะห์ที่เรียกว่า PDCA (Plan Do Check Act) ซึ่งเป็นเครื่องมืือในการบริหารราชการแผ่นดินที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ฝึกฝนให้ นปร. เรียนรู้ และเข้าใจมาโดยตลอด คือการทำอะไรต้องมีการวางแผน และปฏิบัติตามสิ่งที่วางแผนไว้ เมื่อปฏิบัติแล้วต้องตรวจสอบความก้าวหน้า หากไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ต้องนำมาปรับปรุง แก้ไข นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึง PMQA ที่เป็นเครืองมือหนึ่งซึ่งได้ทำการตรวจวินิจฉัย (diagnose) ส่วนราชการ ผลการวิเคราะห์ส่วนราชการโดยภาพรวมพบว่า เรื่องความผาสุก และความพึงพอใจของบุคลากรภาครัฐมีปัญหา ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวว่าหน้าที่ของ นปร. คือ การวิเคราะห์และผลักดันให้มุมมองเหล่านี้สามารถปฏิบัติ และดำเนินการให้ดีขึ้นอีก
สุดท้าย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ฝากอีกเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาระบบราชการ คือ เรื่องการบูรณาการที่ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.ร. กำัลังดำเนินการในส่วนที่เป็น Joint KPI ที่จะเริ่มดำเนินการในเรื่องข้าวและ เรื่อง เอดส์ ซึ่งถือเป็นอีกโจทย์ที่จะต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จ
สุดารัตน์ (สลธ.) / เรียบเรียง & ถ่ายภาพ กลุ่มสื่อสารฯ / จัดทำ
|
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 8 กันยายน 2552 15:55:30 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 กันยายน 2552 15:55:30