เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักติดตามและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงนำร่อง และส่วนราชการ ขึ้น ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับส่วนราชการในการดำเนินการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยมี นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประชุม ทั้งนี้ มีผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกระทรวงนำร่องและส่วนราชการเข้าร่วมกว่า 600 คน
นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การจัดประชุมชี้แจงในครั้งนี้ สืบเนื่องจากในการประชุม ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 ได้ให้ความเห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับส่วนราชการในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดการประชุมชี้แจง กรอบการประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ในภาคเช้าเป็นการชี้แจงกรอบฯ ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงนำร่อง ส่วนในภาคบ่ายเป็นการชี้แจงกรอบฯ ของส่วนราชการอื่นๆ
โดยกระทรวงนำร่องประกอบด้วย
- กระทรวงการคลัง และส่วนราชการระดับกรมในสังกัด จำนวน 9 กรม
- กระทรวงพลังงาน และส่วนราชการระดับกรมในสังกัด จำนวน 5 กรม
- กระทรวงอุตสาหกรรม และส่วนราชการระดับกรมในสังกัดและในกำกับ จำนวน 8 กรม
- กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการระดับกรมในสังกัด จำนวน 9 กรม
รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรอบการประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในส่วนของกระทรวงนำร่องนั้น ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงนำร่องในการกำหนดตัวชี้วัด รายละเอียดการประเมินผลและดำเนินการประเมินผลเอง โดยที่มีกรอบกติกาแต่เพียงกว้างๆ ทั้งนี้ สำหรับกรอบการประเมินผลฯ ในส่วนของกระทรวงนำร่อง มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ตัวชี้วัดที่เป็นภาคบังคับซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยอยู่แล้ว ได้แก่ ตัวชี้วัดเรื่องอัตราการเบิกจ่าย การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน ฯลฯ
สำหรับกรอบการประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของส่วนราชการ ยังมีมิติในการประเมินที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับมิติในการประเมินของปี พ.ศ. 2552 คือ มิติที่ 1 ด้านประสิทธิผลตามแผนปฏิบัติราชการ มิติที่ 2 ด้านคุณภาพการให้บริการ มิติที่ 3 ด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ และ มิติที่ 4 ด้านการพัฒนาองค์การ ซึ่งในเรื่องของตัวชี้วัดนี้ เราได้มีส่วนราชการที่เป็นเจ้าภาพตัวชี้วัด ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลในเรื่องของตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการขับเคลื่อนระบบการตรวจราชการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติราชการ ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติ อีกส่วนราชการหนึ่งได้แก่ กรมบัญชีกลางในฐานะเจ้าภาพตัวชี้วัดร้อยละของอัตราการเบิกจ่าย ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการจัดทำต้นทุนต่อหน่วยผลผลิต และตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการตรวจสอบภายใน
ทั้งนี้ กรอบการประเมินผลฯ ของส่วนราชการ จะแบ่งออกเป็น 4 มิติ เช่นเดียวกับกรอบการประเมินผลฯ ของกระทรวงนำร่อง แต่น้ำหนักและประเด็นการประเมินผลในแต่ละมิติจะแตกต่างกัน โดย กรอบการประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของส่วนราชการ จะมีรายละเอียด ดังนี้
มิติที่ 1 ด้านประสิทธิผล ตามแผนปฏิบัติราชการ |
มิติที่ 2 ด้านคุณภาพ การให้บริการ |
มิติที่ 3 ด้านประสิทธิภาพ ของการปฏิบัติ |
มิติที่ 4 ด้านการพัฒนา องค์การ |
- ผลสำเร็จตามแผนฯ กระทรวงและนโยบาย พิเศษของรัฐบาล - ผลสำเร็จตามแผนฯ กลุ่มภารกิจ - ผลสำเร็จตามแผนฯ / ภารกิจหลักของ ส่วนราชการระดับกรม หรือเทียบเท่า |
- ความพึงพอใจ - การป้องกันการทุจริต |
- การรักษามาตรฐาน ระยะเวลาการให้บริการ - การบริหารงบประมาณ และการจัดทำต้นทุน ต่อหน่วย - การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน - การพัฒนากฎหมาย |
- การบริหารจัดการองค์กร |
ร้อยละ 50 |
ร้อยละ 20 |
ร้อยละ 10 |
ร้อยละ 20 |
อักสรณ์ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ