เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับ เกณฑ์การประเมินเพื่อจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐ ตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ การกำกับดูแลองค์การที่ดี (Organizational Governance : OG) แก่หน่วยงานนำร่อง 10 แห่ง ซึ่งจัดโดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ณ ห้องโพธิ์สามต้น หอประชุมกองทัพเรือ
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือที่เรียกว่า Good Governance ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานแนวคิดในการพัฒนาระบบราชการไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยกำหนดหลักธรรมาภิบาลเอาไว้ในมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545) และ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2543 หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ก็ได้พูดถึงเรื่องหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเอาไว้อีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในระยะแรก ก็ยังมีประเด็นในเรื่องของนิยามหรือขอบเขตของธรรมาภิบาล ซึ่งในแง่วิชาการนั้นยังไม่มีข้อยุติในนิยาม ว่าครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง
อย่างไรก็ดี ที่ไกลไปกว่าคำนิยามก็คือว่า เราส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาลกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงวันนี้ ระดับความมีธรรมาภิบาลในส่วนราชการไทยของเราอยู่ระดับขนาดไหนแล้วบ้าง ก็ยังไม่มีการวัดกันอย่างจริงจัง แต่ว่าเราก็ได้ส่งเสริมในเรื่องของความโปร่งใส เรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เรื่องความคุ้มค่า ก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการผนวกในแง่ของผลรวมที่จะมามองภาพทั้งหมดร่วมกัน แล้วก็ลองจัดอันดับดูว่าขณะนี้เรามาไกลแค่ไหนแล้วในเรื่องเส้นทางของการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคราชการ ดร.ทศพร กล่าว
ดร.ทศพร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการจัดประชุมชี้แจงในเรื่องการประเมินเพื่อจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ครั้งนี้ ทางสำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่าจะไม่ใช้รูปแบบการบังคับที่จะนำไปวัดบุคคล แต่จะใช้วิธีเชื้อเชิญและสมัครใจ หน่วยงานใดที่มั่นใจว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาองค์กร ส่งเสริมธรรมาภิบาลไปค่อนข้างมากแล้ว และมีความมั่นใจก็สามารถที่จะเข้ารับการประเมินจัดระดับด้วยความสมัครใจ สำหรับปีนี้มีหน่วยงานที่สมัครใจเข้าร่วมเพื่อนำร่องในเรื่องนี้จำนวน 10 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมการขนส่งทางบก กรมการพัฒนาชุมชน กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดชัยนาท ทั้งนี้ หากหน่วยงานดังกล่าวมีความโดดเด่นในเรื่องใดก็จะยกย่องให้เป็นต้นแบบและกรณีศึกษาสำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอหลักการ แนวคิด ความเป็นมา องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินเพื่อจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดย นายไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตลอดจนแนะนำแนวทางการกรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินตนเอง และกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน โดยผู้แทนจาก บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ