การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของ
การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปี 2552
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2552 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม และสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ :ความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐประจำปี พ.ศ. 2552 โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการ โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมกว่า 500 คน ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 4 โรงแรมรามาการ์เด้นส์
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในการบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐสู่ความเป็นเลิศ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยทำให้การทำงานของภาครัฐ สามารถพัฒนาตนเองและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของหน่วยงานได้ โดยเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผลการประเมินขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศมีอันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย
เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวต่อไปอีกว่า การที่จะทำงานในภาครัฐให้ดี มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีส่วนร่วม เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำงานอย่างมีประสิทธิผล แล้วก็ยึดหลักกฎหมายที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอภาคเที่ยงธรรม ประเด็นเหล่านี้คือหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good Governance นั้น ยังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังเป็นคำถามใหญ่ก็คือ จะมีวิธีการอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์เรื่องธรรมาภิบาลได้ และมีเครื่องมืออะไรที่เป็นเทคนิควิธีการทางการบริหาร ที่สามารถทำให้การบริหารงานภาครัฐเป็นการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ก็พบว่าประเทศต่าง ๆ ใช้ Framework ที่ชื่อว่า Malcolm Baldrige Framework เป็นเครื่องมือเทคนิคในการดำเนินการดังกล่าว
สำหรับหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ได้นำ Framework นี้เข้ามาใช้ด้วย โดยในครั้งแรกตั้งใจจะให้มีการแจกรางวัลเหมือนกับ Malcolm Baldrige โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทภาคราชการไทย แต่ก็พบว่าการดำเนินการดังกล่าว ได้สร้างภาระในเชิงการจัดทำเอกสารค่อนข้างมาก ต่อมา ก.พ.ร. โดยท่านสมภพ อมาตยกุล ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการให้เหมาะสม โดยนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการปรับปรุงองค์กร เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้นำมาใช้ในการประเมินตนเอง ว่ามีการนำองค์การอย่างไร มีจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุงที่ตรงไหนบ้าง ซึ่งวิธีการดังกล่าวเปรียบเสมือนกับเป็นการตรวจสุขภาพของตนเอง เพราะถ้าเราไม่ตรวจสุขภาพดูแล้ว ก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนี้สุขภาพของเราเป็นอย่างไร ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดภาระเรื่องที่จะต้องเขียนเอกสารรายงานต่าง ๆ ได้พอสมควร
เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสุขภาพองค์กร ประกอบด้วยเกณฑ์ 7 หมวด คือ
หมวด 1 การนำองค์กร
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์
หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ
หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ
เมื่อผลการตรวจสุขภาพองค์กรปรากฏผลออกมา หากเรามีการประเมินด้วยความเป็นจริง องค์กด้กราฟผลการดำเนินการในแต่ละหมวด แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อไป ว่าวันนี้องค์กรเราอยู่ระดับไหน องค์กรเราเด่นเรื่องอะไรบ้าง และเมื่อเปรียบเทียบกันกับส่วนราชการอื่น (Benchmark) แล้ว เรามีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกบ้าง
เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้ทัศนะในช่วงท้ายของการบรรยายไว้ว่า สิ่งที่ผมกำลังให้กำลังใจทุกท่านและพวกเรา ก็คือว่าทั้งหมดนี้คือความพยายามที่จะหาเครื่องมืออะไรบางอย่างมาทำให้ระบบราชการของเราดีขึ้น รวมทั้งทำให้การทำงานในภาคราชการของเราสามารถตอบโจทย์เรื่องธรรมาภิบาลได้ แน่นอนที่สุดอาจจะมีเครื่องมือที่ดี หรือมีวิธีการอื่นๆ ซึ่งอาจจะดีกว่านี้ในอนาคต เจตนารมณ์ของการนำเครื่องมือ PMQA มาใช้คือ อยากให้เป็นกระจกเพื่อมาสะท้อนว่าเราอยู่ในระดับไหน แล้วเราก็ช่วยกันปรับปรุง โดยมีเส้นชัยก็คือประโยชน์สุขของประชาชน นั่นก็คือหัวใจของเราที่จะสร้างเสริมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในระบบราชการไทย
นอกจากนี้ การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่อง ความสำเร็จของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับรางวัลดีเยี่ยม (Winner) United Nations Public Service Awards สาขาการปรับปรุงการให้บริการ (Improvement the delivery of service) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 หน่วยงานทั่วโลกที่ได้รับรางวัล ในปี พ.ศ.2552 มาถ่ายทอดความรู้และเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ จนสามารถคว้ารางวัลระดับโลกที่ไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้กับระบบราชการไทยเท่านั้น แต่ยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย
จากนั้น ในภาคบ่าย เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ ในหัวข้อ ก้าวแรกแห่งความสำเร็จของการพัฒนาองค์การ ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประกอบด้วย
นายบุญวัฒน์ ชีช้าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
|
นายรณยุทธ์ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
|
นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร |
นางสาวพจนา สุจำนง หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ตรวจราชการ กรมการพัฒนาชุมชน |
โดยมี รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมดำเนินการอภิปรายด้วย
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 1 กันยายน 2552 14:46:58 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กันยายน 2552 14:46:58