Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2552 / สิงหาคม / เดินหน้า...พัฒนาราชการไทยเจาะลึกโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับรางวัล United Nations Public Service Awards

เดินหน้า...พัฒนาราชการไทยเจาะลึกโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับรางวัล United Nations Public Service Awards

เดินหน้า...พัฒนาราชการไทยเจาะลึกโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
กับรางวัล United Nations Public Service Awards


           รายการเดินหน้า..พัฒนาราชการไทย ที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT กรมประชาสัมพันธ์ ได้นำเสนอเรื่อง รางวัล United Nations Public Service Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่องค์การสหประชาชาติจะมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านการพิจารณาตัดสิน และประเทศไทยโดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 8 จากหน่วยงานภาครัฐกว่า 600 หน่วยงานทั่วโลก ที่สามารถคว้ารางวัลนี้ โดยได้รับในสาขาปรับปรุงการให้บริการ (Improving the delivery of service) ประเภทรางวัลดีเยี่ยม (Winner) และถือเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยได้รับรางวัลดีเยี่ยมนี้ 

                                  alt


           รางวัล United Nations Public Service Awards แบ่งเป็น 4 สาขา คือ (1) สาขาการปรับปรุงความสามารถในการตอบสนองความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการบริการสาธารณะ (2) สาขาการปรับปรุงการให้บริการ alt(3) สาขาการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยการใช้กลไกใหม่ๆ และ (4) สาขาการเสริมสร้างการบริหารจัดการองค์ความรู้ภาครัฐ สำหรับการแบ่งกลุ่มประเทศเพื่อพิจารณาตัดสินรางวัลจะแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค คือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปและอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้และประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน และ เอเชียและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้  

          คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ พิธีกรรายการได้สนทนากับ 2 แขกรับเชิญ คือ รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดย รศ.นพ.นิเวศน์ได้กล่าวถึงพัฒนาการของโรงพยาบาลว่า ...โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย และด้านการรักษาพยาบาลให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลได้มีการนำมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลมาใช้ตั้งแต่ปี 2542 ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาการบริการประชาชนให้ดีขึ้น สมดั่งคำขวัญของคณะที่ว่า ดูแลดุจญาติมิตร พร้อมดวงจิตบริการ โรงพยาบาลมหาราชฯ เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ถึง 1400 เตียง แต่ละวันจะมีผู้ป่วยมารับการรักษา 2500 - 3000 คน มีแพทย์ประมาณ 800 คน และบุคลากรสาขาอื่นๆ อีกกว่า 4000 คน ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลนั้นจะมีสำนักพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเข้ามาตรวจสอบเป็นระยะๆ โรงพยาบาลจึงต้องพัฒนาปรับปรุงงานตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว การได้รับรางวัลในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาปรับปรุงงาน พัฒนาการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานนั่นเอง...


     alt      alt 

alt
          นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในองค์กร สิ่งที่โรงพยาบาลทำมาตลอดอีกเรื่อง คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งจะต้องสร้าง Core value สร้างใจให้ทุกคนมีความรักในองค์กร เมื่อมีใจรักทุกคนก็จะตั้งใจทำงานให้องค์กร นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังเห็นความสำคัญในเรื่องการนำ IT มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันการผิดพลาด เช่น ระบบการสั่งจ่ายยาทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน เวชระเบียน การแจ้งเตือนนัดด้วย SMS หรือ POP UP เตือนเรื่องการแพ้ยา เป็นต้น

        คุณศิริบูรณ์ได้สอบถามถึงผลงานของโรงพยาบาลที่นำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติเพื่อชิงรางวัลในครั้งนี้ ว่าเป็นงานอะไร รศ.นพ.นิเวศน์ เล่าให้ฟังว่า เป็น้านระบบเครือข่าย คือ การพัฒนาบริการทางการแพทย์ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (Improving Medical Care Service through Collaborative Networks) ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายโรคหัวใจภาคเหนือตอนบน เครือข่ายอุบัติเหตุทุติยภูมิ เครือข่ายการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร และเครือข่ายการรณรงค์ลดความพิการและการตายจากการบริโภคหมูดิบ ซึ่งเรื่องเครือข่ายนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบไว้แล้ว เป็นการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเล็กไปโรงพยาบาลใหญ่ที่มีขีดความสามารถมากกว่า แต่เนื่องจากโรงพยาบาลมหาราชฯ เป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย จึงมีอาจารย์แพทย์ที่มีองค์ความรู้ มีความสามารถ ทำให้ได้ไปเติมเต็มระบบที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นคนให้ความรู้ คอยประสานงาน และเป็น พี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์มือถือกรณีมี case ฉุกเฉินเพื่อให้การรักษาเบื้องต้นก่อนส่งต่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ หรือการเตรียมการรักษาพยาบาลไว้ล่วงหน้าได้ ทั้งการเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์และทีมแพทย์ผู้รักษา กรณีได้รับแจ้งเหตุจาก call center ตรงนี้เป็นการเติมความสมบูรณ์ให้แก่เครือข่าย และทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ยินดี เพราะเป็นการช่วยชีวิตคนไข้ให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้

          หลักการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินการ และปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จจนทำให้ได้รับรางวัลมาได้นั้น นพ.วัฒนาได้ให้ความเห็นว่า ...หัวใจสำคัญคือการให้บริการโดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เขาพึงพอใจที่สุด ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้น มาจากส่วนสำคัญ 2 ประการ อย่างแรกคือ ภายในโรงพยาบาลต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทางเครื่องมือ ความพร้อมของบุคลากร ความพร้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ altอย่างที่สองคือ การสร้างความร่วมมือกับภายนอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เองต้องมีความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย และสนับสนุนให้โรงพยาบาลเหล่านั้นได้รับการพัฒนาเหมือนๆ กัน ท้ายที่สุดสิ่งที่ นพ.วัฒนา อยากจะเห็นในอนาคต คือ การที่โรงพยาบาลทั้งหมดในภาคเหนือมีการทำงานประสานเป็นหนึ่งเดียวเสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน 

          สุดท้าย นพ.นิเวศน์กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีหลักการในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การ เป็นที่รักและศรัทธาของปวงชน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จมาจากหลายส่วนด้วยกัน ประการแรกคือ จากบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเองที่ได้ทุ่มเทและเสียสละเวลาในการรักษาพยาบาล การให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนออกไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยยังพื้นที่ รวมถึงไปอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่าย ประการที่สองคือ การให้ความร่วมมือของโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ ประการที่สามคือ การที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลมาโดยต่อเนื่อง ทำให้มีต้นทุนในการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป...

           สำหรับในช่วงสกู๊ปของรายการนั้น ได้นำผู้ชมไปพบกับเหตุการณ์จริงและเหตุการณ์จำลอง ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยถึง 2 ราย โดยใช้บริการทางการแพทย์ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ต่างมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน


ธารทิพย์ (สลธ.) / เรียบเรียง   

สุคนธ์ทิพย์ (สลธ.) / ข้อมูล & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข. (สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 27 สิงหาคม 2552 10:11:20 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 27 สิงหาคม 2552 10:11:20
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th