ดำเนินการอภิปรายโดย รศ.ดร.ก้องกิติ พูสวัสดิ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สาระสำคัญโดยสรุปของผู้อภิปรายแต่ละท่าน มีดังนี้
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความเห็นว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรมีความจำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจ และเป็นกระบวนการในการสร้างจิตวิญญาณให้องค์กร ซึ่งวิธีการสร้างวัฒนธรรมขององค์กร หรือการสร้างจิตวิญญาณให้องค์กร ต้องสร้างด้วยการลงมือปฏิบัติ ดร.อาชว์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการบริหารงานบริษัทในเครือ นั่นคือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเดิมชื่อบริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด (มหาชน) ว่าในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้น ผู้บริหารจะเน้นให้พนักงานได้มีการสื่อสารพูดจากัน สร้างความสามัคคีเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย ซึ่งวิธีการที่นำมาใช้มีหลายวิธี เช่น การตั้งชมรมตามความสนใจเพื่อให้มีการรวมกลุ่มกัน การทำกิจกรรมเพื่อฝึกให้บุคลากรรู้จักทำงานเป็นทีม กิจกรรมจับคู่เป็น Buddy หรือคู่หูกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องในการสอนงาน ถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กร สำหรับผู้บริหารเองก็ให้ความสำคัญ โดยลงไปเป็น Chief Communicator Officer หรือ CCO สื่อสารกับทุกๆ หน่วยในองค์กร รับฟังความคิดเห็นของบุคลากร รวมทั้งมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีการดำเนินการที่ต่อเนื่อง
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล่าว่า การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ ได้แก่ การสร้าง วัฒนธรรม ASSA ภายใต้ โครงการอาสาอย่างมืออาชีพ ซึ่งแนวคิด ASSA หรือ อาสา มาจากตัวย่อจากอักษรตัวหน้าของแต่ละคำ ได้แก่ Advice ให้คำแนะนำ Service ให้การบริการ Support ให้การสนับสนุน Assist ให้การช่วยเหลือ ส่วนคำว่า อาสา หมายถึง การเสนอตัวเข้ารับทำหรือทำงานด้วยความสมัครใจ ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า ASSA และมีความหมายที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ จิตวิญญาณแห่งการอาสา (ASSA) ต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย จึงจะทำให้การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรบรรลุผลสำเร็จ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการมี จิตวิญญาณของการบริการ (Service Mind) ซึ่งเปิดโอกาสให้ข้าราชการทุกคนได้มีส่วนร่วมเพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ด้วยงาน อาสาในการให้บริการประชาชน และให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงานให้มากที่สุดด้วย และจากที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2550 ก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากข้าราชการทุกระดับในสังกัด ได้พบข้าราชการที่มีจิตอาสาในการเสนอตัวทำงานเพื่อส่วนรวม ส่วนความตั้งใจของท่านอธิบดีคือ ต้องการให้ข้าราชการทำงานอย่างมีจิตวิญญาณแห่งการบริการและมีจิตสำนึกของ อาสาอย่างมืออาชีพ ให้แนวคิดนี้คงอยู่ตลอดไป มีการปรับปรุงทั้งวิธีคิดและวิธีทำงานให้ดีขึ้น โดยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวิชัย สุทธิมณีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก ถ่ายทอดเรื่องราวในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมขององค์กร กล่าวโดยสรุปได้ว่า จุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ รูปแบบการปฏิบัติงานนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยผู้อำนวยการคนเก่าคือ นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มีหลายประการ เช่น นโยบายของรัฐบาล กระแสการทำเกณฑ์คุณภาพ การฟ้องร้องผู้ให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ทางโรงพยาบาลบ้านตากตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงาน โดยตั้งตามเป้าหมายว่า โรงพยาบาลอยู่ได้ เจ้าหน้าที่มีความสุข และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการตามโยบาย 4C ซึ่งประกอบด้วย
Clean การพัฒนาด้านอาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อม
Care การบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ครบวงจร และการให้บริการที่ดี
Corporation การทำงานเป็นทีม มีความรักสามัคคี บริหารงานโปร่งใสตรวจสอบได้
Community การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมของชุมชน
ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม เสริมสร้างการเรียนรู้โดยใช้วิธี 1) การบริหาบบมีส่วนร่วม (Participation) โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน และกำหนดวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม 2) การสร้างพลัง (Empowerment) โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมตัดสินใจ 3) การเปิดใจ (Open Mind) โดยการให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่มีการขัดขวางซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีความกล้าที่จะเสนอความคิดเห็น สำหรับกระบวนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เริ่มจากการพูดคุยปรึกษากันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการสร้างองค์ความรู้จากการศึกษาดูงาน การฝึกอบรมแล้วนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นการเรียนรู้จากการกระทำด้วยการให้ปฏิบัติจริง
สำหรับการประชุมสัมมนาในภาคบ่ายประกอบด้วยการบรรยายใน 2 หัวข้อ ดังนี้