รับฟังความคิดเห็น
การจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบการบริหารจัดการภาครัฐ
(Benchmarking)
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.00 - 16.00 น. ที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ชั้น 13 อาคาร วิทยกิตติ์ น.ส.ทัศนีย์ ดุสิตสุทธิรัตน์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุม การจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบการบริหารจัดการภาครัฐ (Benchmarking) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ โดยมีส่วนราชการเข้าร่วม 12 หน่วยงาน
น.ส.ทัศนีย์ ดุสิตสุทธิรัตน์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่อง การจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบการบริหารจัดการภาครัฐ (Benchmarking) ครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และได้รับความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการ
การประชุมที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเรื่องความพึงพอใจของผู้รับบริการในแต่ละกลุ่ม ตามลักษณะของการให้บริการ ซึ่งส่วนราชการต่างๆ จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนาองค์การของตนเอง ซึ่งการคัดเลือกกระบวนงานที่นำมาจัดทำฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พิจารณาคัดเลือกกระบวนงานที่ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประเภทดีเด่น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2551 และเป็นกระบวนงานที่มีความเหมาะสมในการนำมาจัดทำฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์การได้ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ยังได้รับเกียรติจาก น.ส.พรพิมล รัตนพิทักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ร่วมให้ข้อคิดเห็น พร้อมเสนอแนะประเด็นในการพิจารณาหัวข้อที่จะนำไปใช้ในแบบสำรวจความพึงพอใจ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มบริการ โดยมี อาจารย์ชุลีพร เปี่ยมสมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ชี้แจงร่างหัวข้อแบบสอบถามการสำรวจความพึงพอใจ พร้อมนำเสนอตัวอย่างวิธีในการตั้งประเด็นหัวข้อคำถาม ทั้งนี้ เพื่อนำไปจัดทำฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ (Benchmarking) ที่มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบการประชุม ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 กลุ่ม รวมจำนวน 14 กระบวนงาน จาก 12 หน่วยงาน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริการที่ผู้รับบริการต้องแสดงตัวและเผชิญหน้าขณะรับบริการ โดยให้ความร่วมมือทำกิจกรรมร่วมกับผู้ให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย 2 หน่วยงาน คือ
1. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า : กระบวนงานการตรวจโรค
ผู้ป่วยนอก กรณีไม่มีหัตถการและตรวจพิเศษ (บัตรใหม่)
2. โรงพยาบาลรามาธิบดี : กระบวนงานการให้บริการรักษา
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มบริการที่ผู้รับบริการเข้าสู่กระบวนการผลิตบริการตามขั้นตอน และต้องหยุดรอคอย โดยมีการนัดหมายให้มารับบริการที่ผลิตเสร็จสิ้นในช่วงเวลาอีกระยะหนึ่ง ฉะนั้น การประเมินความพอใจจะทำได้เมื่อผู้รับบริการมาตามนัดหมาย และได้รับบริการตามต้องการ ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ
1. กรมการกงสุล : กระบวนงานการให้บริการการจัดทำหนังสือเดินทาง
2. สำนักงานตำรวจสันติบาล : กระบวนงานการออกหนังสือรับรองความประพฤติให้แก่ผู้ร้องขอที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ
3. สำนักงานประกันสังคม จังหวัดปทุมธานี : กระบวนงานการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม กรณีสงเคราะห์บุตร
4. กรมอนามัย : กระบวนงานการบริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบริโภค น้ำเสีย น้ำทิ้ง น้ำในสระว่ายน้ำ
กลุ่มที่ 3 กลุ่มบริการที่ผู้รับบริการเข้าสู่กระบวนการผลิตบริการตามขั้นตอนจากจุดเริ่มต้นจนสิ้นสุดการผลิต และได้รับบริการที่เสร็จสมบูรณ์กลับไปในวันเดียวกัน ระยะเวลาการรอคอยอาจเป็นนาที หรือชั่วโมง หรือครึ่งวัน ทั้งนี้ ขึ้นกับจำนวนผู้รับบริการ และความซับซ้อนของกระบวนการผลิต ประกอบด้วย 8 หน่วยงาน คือ
1. กรมการปกครอง : กระบวนงานการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
2. กรมการขนส่งทางบก : กระบวนงานการรับชำระภาษีรถประจำปีตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522
3. สำนักงานประกันสังคม จังหวัดนนทบุรี : กระบวนงานการรับชำระเงินสมทบจากผู้ประกันตน ตามมาตรา 39
4. สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 : กระบวนงานการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม กรณี
คลอดบุตร
5. กรมที่ดิน : กระบวนงานการจดทะเบียนประเภทจำนองเป็นประกัน
6. สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ : กระบวนงานการจดทะเบียนขาย
7. กรมการขนส่งทางบก : กระบวนงานการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
8. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : กระบวนงานการให้บริการสืบค้นข้อมูลธุรกิจทางเว็บไซต์
การจัดประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการทั้ง 12 แห่งเป็นอย่างดี ในการร่วมเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นหลากหลาย ที่นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมและประมวลผลที่ได้ จัดทำเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนาองค์การ ต่อไป
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 11 สิงหาคม 2552 09:28:04 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 11 สิงหาคม 2552 09:28:04