เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 เวลา 10.00 น. ที่ห้อง 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 4/2552 ได้พิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์ และแนวทางทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด และคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
การประชุมฯดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ได้มีมติเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด และคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เสนอ และเห็นชอบให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ก่อนที่จะเริ่มต้นจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เพื่อปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (อ.ก.น.จ.) ด้านแผนและด้านงบประมาณ ทั้ง 5 คณะ ไปเป็นแนวทางในการทบทวนปรับปรุงแผนฯ
ทั้งนี้ อ.ก.น.จ. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ได้เสนอความเห็นว่า เพื่อให้การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2556) และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีความชัดเจน ควรกำหนดเป็นแนวทางหลักเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งจัดทำปฏิทินการจัดทำแผนฯ เป็นดังนี้
1. แนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด/แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และการจัดทำโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ยังคงยึดหลักการและสาระสำคัญตามกรอบแนวทางที่ ก.น.จ. ได้เคยมีมติไว้แล้ว แต่ปรับปรุงเพิ่มเติมในแนวทางของลักษณะโครงการที่จะนำมาจัดทำเป็นคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ให้มีคุณภาพและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยโครงการที่ดำเนินการโดยจังหวัด/กลุ่มจังหวัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะจัดทำเป็นคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะต้องอยู่ในแนวทาง ดังนี้
เป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน สร้างรายได้ การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เฉพาะ หรือพื้นที่พิเศษ อาทิ การค้าชายแดน และการพัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ความจำเป็นของโครงการ ต้องเป็นโครงการที่วยพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหาย หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและสร้างรายได้ให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ความเหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการ ด้านเทคนิค (วิธีการหรือรูปแบบที่ใช้ในการดำเนินการ) ด้านกายภาพ (ความพร้อมของพื้นที่ดำเนินงาน บุคลากร การบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการ) ด้านงบประมาณ (ความสมเหตุสมผลของวงเงินกับประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ) ด้านระยะเวลาที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบทางลบในการดำเนินโครงการ
ความคุ้มค่า ผลลัพธ์หรือประโยชน์ของโครงการที่คาดว่าจะได้รับทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยเฉพาะในส่วนของผลประโยชน์ที่กระทบในส่วนของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาและกระจายความเจริญเติบโตระหว่างจังหวัด
2. กำหนดปฏิทินการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยกำหนดวันที่ในการดำเนินการในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน เพื่อเป็นกรอบเวลาในการดำเนินการของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดดังกล่าว จะส่งผลให้แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 มีคุณภาพ เกิดการพัฒนาในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมากขึ้น สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 นี้ รัฐบาลมีแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นงบพื้นฐานที่จัดสรรให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดในสัดส่วนที่เท่ากัน และส่วนที่สองจะเป็นงบประมาณที่จัดสรรตามคุณภาพของโครงการที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้แต่ละจังหวัดปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดใหม่ โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพียง 1 - 2 ประเด็นที่มีความชัดเจนเท่านั้น และเน้นกระบวนการดำเนินงานให้เสร็จตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง อาทิ จังหวัดนครราชสีมา ถ้าต้องการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านผ้าไหม ก็ให้ทำเฉพาะผ้าไหม ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ผลิต การออกแบบอิงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการทำตลาดในประเทศจนถึงตลาดส่งออก ซึ่งจะทำให้การดำเนินการในแต่ละยุทธศาสตร์มีคุณภาพ ชัดเจน และสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวในที่สุด
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ