รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ที่ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2552 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ได้นำเสนอเรื่อง เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ในมุมมองของ เลขาธิการ ก.พ.ร. และ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
รายการในครั้งนี้ได้นำเสนอเรื่อง เชื่อมั่นประเทศประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ในบรรยากาศของงานประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อดังกล่าว ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดี ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ที่สำคัญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งมอบนโยบายในเรื่อง การสร้างความเชื่อมั่นประเทศประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
เริ่มต้นรายการด้วยการปฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า ...การบริหารราชการมีหลายระดับ เปรียบกับสามเหลี่ยมหรือปิรามิด ส่วนยอดคือส่วนกลาง ถัดมาเป็นส่วนภูมิภาค และถัดมาคือส่วนของท้องถิ่น แต่ส่วนยอดกลับมีอำนาจและงบประมาณมากที่สุด จึงเป็นที่มาให้เกิดการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การบริหารงานที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก การจัดกลุ่มจังหวัดจะคำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แล้วมาร่วมกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ ซึ่งจะทำให้แต่ละจังหวัดมองภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดนั้นๆ มีสิ่งใดเป็นตัวเสริมเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ เช่น ศักยภาพ โอกาส อย่างไร แล้วจึงทำข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการกลุ่มจังหวัดหรือจังหวัดที่มีความเป็นเอกภาพ เพื่อเป็นการหลอมรวมพลังไปสู่ความสำเร็จในเชิงของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดนั้นๆ เมื่อทำอย่างนี้เราจะเห็นภาพชัดเจน ว่าโครงการประเภทไหนที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการจัดงบประมาณ และดูว่าในแต่ละพื้นที่มีจุดเน้นตรงไหน อย่างไร แล้วมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ต้องจัดทำในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เป็นการทำงานในแนวราบ คือการเปิดกว้างให้มีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าราชการในกลุ่มจังหวัด ข้าราชการทั้งหลาย ไปจนถึงภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งยิ่งเปิดกว้างเท่าไร การบริหารงานก็จะเป็นบูรณาการ ได้ประโยชน์สูงสุดและสร้างประโยชน์สูงสุดในระดับชาติพร้อมๆ กับการสร้างสิ่งที่เป็นของตัวเองขึ้นมาในพื้นที่นั้นๆ...
จากนั้นพิธีกร คือ คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ได้สนทนากับ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ซึ่งได้เน้นย้ำว่า ...ในการพลิกฟื้นประเทศไทย ถ้าแต่ละพื้นที่คือกลุ่มจังหวัดและจังหวัดสามารถคิดยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มจังหวัดของตัวเองได้ จะเป็นอีกแรงที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าได้ และท่านนายกฯ ได้แนะนำให้มีการกลับไปร่วมกันคิดทบทวนการวางยุทธศาสตร์พัฒนาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้มีการทำงานที่เชื่อมโยงกันทั้งในภาคภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม...
นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ยังกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า เพื่อมาทบทวนความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้มีการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมาระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งยังมีการแก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบบูรณาการ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ เพื่อต้องการให้มีการทำงานในลักษณะการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน จึงจำเป็นต้องมีคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยง นั่นคือ อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนประสาน เสมือนเป็นหมุดเชื่อมภาคส่วนต่างๆ ให้ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ซึ่งตรงนี้เป็นบทบาทใหม่ของผู้ว่าราชการจังหวัด อีกสิ่งที่ท่านนายกฯ ฝากไว้คือ เรื่องยุทธศาสตร์ ทุกคนต้องเป็นเจ้าของ แต่เจ้าภาพอาจแตกต่างกันไปได้
เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวต่อว่า ... สำหรับแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาเรื่องจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการจะมีหลายส่วน เช่น การประชุมสัมมนา การจัดหลักสูตรอบรมผ่านระบบ VDO Conference ของกระทรวงมหาดไทย และจะถ่ายทอดทาง website สำนักงาน ก.พ.ร. ด้วย ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 15.00 17.00 น. โดยเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น อาจารย์วิษณุ อาจารย์บวรศักดิ์ อาจารย์สุวิทย์ อาจารย์พสุ อีกประการที่สำคัญ คือ การดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ก.น.จ. ที่มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ คือ สำนักงาน ก.พ.ร. สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย คัดเลือกกลุ่มจังหวัดมาประมาณ 5 กลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนายุทธศาสตร์ พัฒนาโครงการให้สมบูรณ์แบบ เห็นภาพชัดเจน เป็นตัวอย่างต่อไป...
จากนั้น นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ดังนี้
...เมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแล้ว สิ่งที่ต่างจากเดิมคือ ทุกหน่วยงานในภูมิภาคจะต้องทำงานร่วมกัน จริงๆ แล้วมีการทดลองนำร่องตั้งแต่ปี 2544 ใน 5 จังหวัด ก่อนจะดำเนินการทั่วประเทศในปี 2546 สิ่งที่ได้ทดลองปฏิบัติมี 3 เรื่อง คือ อย่างแรก ปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการทำงาน อย่างที่ 2 ปรับกระบวนการทำงาน ซึ่งแต่เดิมการทำงานจะฟังจากส่วนกลาง มาเป็นให้แต่ละส่วนราชการในจังหวัดมีการประชุมหารือกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานมีทั้ง 2 ส่วน ทั้งนโยบายจากส่วนกลาง และความจำเป็น ความต้องการของพื้นที่ อย่างที่ 3 ทำงานภาคบุคคล พัฒนาบุคลากร ให้ข้าราชการกับภาคเอกชนมีความพร้อมในการทำงานร่วมกัน...
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จ คือ โครงสร้างการทำงาน ส่วนกลางตั้งแต่รัฐบาลลงมายังกระทรวงต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนโดยมอบอำนาจลงไปให้ข้างล่างคิดเอง ส่วนที่สองคือ การมีส่วนร่วมของทั้งข้าราชการ ภาคเอกชน และประชาชน สุดท้ายคือ ความทันสมัย การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยมากยิ่งขึ้น
สำหรับปัญหาอุปสรรคนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ข้าราชการยังติดกับระบบเดิม และข้าราชการต่างคนต่างมีสังกัด ซึ่งจะต้องถูกวัดการทำงานจากต้นสังกัดด้วย ลักษณะงานที่ต้องทำมี 3 งานหลักๆ คือ งานตามหน้าที่ของแต่ละสังกัด งานตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ และงานตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องตัดสินใจว่างานใดเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาก่อน
เมื่อพัฒนาบุคลากรสร้างความเข้าใจ ปรับปรุงเรื่องยุทธศาสตร์แล้ว ทุกปีจะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ เรียนรู้ร่วมกันถึงปัญหาอุปสรรค และถ่ายทอดไปยังข้าราชการบรรจุใหม่ การเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของการบริหารจัดการที่ทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ... ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวทิ้งท้ายในรายการ
ธารทิพย์ & สุคนทิพย์ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ