ระบบราชการต้องเป็นเสาหลักของบ้านเมือง
เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ คอลัมน์เวทีทัศนะ ได้ลงบทความที่เป็นการสรุปสาระสำคัญของ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่เป็นเสมือนคัมภีร์ที่ใช้ในการทำงานของข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของระบบราชการที่ต้องเป็นเสาหลักของบ้านเมือง ซึ่งเนื้อหาในบทความดังกล่าวได้รวบรวมจากการบรรยายและคำกล่าวของ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. และในวันนี้ OPDC News ขอนำเนื้อหาของบทความดังกล่าวมาแบ่งปันให้เราไ้ด้อ่านกันค่ะ
การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดจากแนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good Governance ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก จากการผสมผสานระหว่างสองกระแสแนวความคิด คือ การบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) และกระแสความเป็นประชาธิปไตย (Democratization)
ในการพัฒนาระบบราชการไทย ก็ได้นำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ในเรื่องต่างๆ มาใช้ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 3/1 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ (Efficiency) ความคุ้มค่าของเงิน (Value-for-money) ประสิทธิผล (Effectiveness) คุณภาพ (Quality) ภาระรับผิดชอบต่อผลงาน (Accountability) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) การตอบสนองความต้องการของประชาชน (Responsiveness) การกระจายอำนาจ (Decentralization) และหลักนิติรัฐ (Rule of law)
โดยมาตรา 3/1 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้การบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม มาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินการ
โดยในเวลาต่อมาได้มีการออก พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งระบุถึงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 5 ปีแล้วของการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. จึงสรุปผลการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 แบ่งออกเป็น 9 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งวางหลักว่าต้องการจะบรรลุใน 7 หลัก ได้แก่ เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการในทันต่อสถานการณ์ ประชาชนได้รับความสะดวก ตอบสนองความต้องการและมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
หมวดที่ 2 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ดังมาตรา 7 และมาตรา 8 ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการเพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการคิดอย่างรอบคอบเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวยังต้องขยายผลต่อไป
หมวดที่ 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ดังมาตรา 9 ได้นำหลักการบริหารวงจรคุณภาพ (PDCA : Plan-Do-Check-Act) มาใช้ เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานในภาคราชการ และมาตรา 10 ที่เน้นในเรื่องของการบริหารราชการแบบบูรณาการ ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย จึงได้มีความพยายามที่จะหาวิธีในการบูรณาการ โดยระบบพื้นที่นั้นได้เริ่มมีระบบการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการเกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าจะสามารถเชื่อมโยงการบูรณาการต่างๆ ได้
นอกจากนี้ยังมี มาตรา 11 ในเรื่องการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ โดยการใช้ความรู้เข้ามาช่วยในการบริหารงาน และปรับตัวองค์กรให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการความรู้ในระบบราชการแล้ว
หมวดที่ 4 การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ เน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า โดยกำหนดให้มีการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยหรือต้นทุนตามฐานกิจกรรม (มาตรา 21) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคิดคำนวณความคุ้มค่า (มาตรา 22) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองดำเนินการ เนื่องจากมีการขยายไปสู่การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจ ซึ่งบางภารกิจก็ยากที่จะคำนวณในเชิงของความคุ้มค่า
หมวดที่ 5 การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีหัวใจสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ การกระจายอำนาจ (มาตรา 27, 28) การปรับปรุงขั้นตอนระยะเวลาการทำงาน (มาตรา 29) และการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม (มาตรา 30, 31, 32) ซึ่งทั้ง 3 เรื่องก็ได้มีการดำเนินการแล้ว เริ่มจากการมอบอำนาจ/การกระจายอำนาจในการบริหาร ซึ่งทำได้ระดับหนึ่งแล้ว
ในเรื่องของการปรับปรุงขั้นตอนและลดระยะเวลาการปฏิบัติงาน ดูเหมือนจะเป็นหน้าเป็นตาของระบบราชการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนราชการทั้งหลายได้ช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ โดยทุกส่วนราชการได้มีการลดระยะเวลาในกระบวนการทำงานต่างๆ ลงได้ดีมากพอสมควร
ในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม ได้มีการดำเนินการไปค่อนข้างมาก หลายรูปแบบ ทั้งระดับกระทรวง ระดับจังหวัด อาทิ ศูนย์บริการร่วมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ศูนย์บริการร่วมรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง และได้รับความชื่นชมว่าทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะประชาชนได้รับความสะดวกในการขอรับบริการของภาครัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตามงานที่ให้บริการในศูนย์บริการร่วมยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และมีเพียงไม่กี่งานบริการ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องระบบ e-Government และการมอบอำนาจข้ามหน่วยงาน ที่ทำให้ยังไม่สามารถทำงานแทนกันได้
หมวดที่ 6 การปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเห็นส่วนราชการที่เล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว จึงให้มีการทบทวนบทบาทขนาด ภารกิจ ทบทวนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมกลไกตลาด กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการออกกฎระเบียบคุมราคาหรือโควต้าการผลิตต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็พบปัญหาอยู่บ้าง เพราะมีบางส่วนราชการโตขึ้น จึงต้องมาทบทวนกันใหม่ว่าภารกิจใดที่ภาครัฐควรเลิกทำ แล้วให้เอกชนดำเนินการแทน ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดกันในหลักการหรือในเชิงวิชาการได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะทำได้ยาก เพราะอาจจะกระทบต่อตำแหน่งงานของข้าราชการ
หมวดที่ 7 การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายอย่าง เช่น การลดขั้นตอน การประกาศระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงการให้บริการ ความโปร่งในในการปฏิบัติราชการ เน้นในเรื่องของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
หมวดที่ 8 การประเมินผลการปฏิบัติราชการ หลักธรรมาภิบาลบอกไว้ว่าต้องมีการแสดงภาระรับผิดชอบต่อประชาชนได้ ดังนั้นจึงเป็นความพยายามที่จะให้การทำงานในภาคราชการสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ได้มีการวางแผนแล้ว จึงได้มีระบบวัดผล มีการสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา และนำไปผูกโยงกับการให้เงินรางวัลประจำปีซึ่งมีกำหนดไว้ในมาตรา 48 และมาตรา 49 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ด้วย
หมวดที่ 9 บทเบ็ดเตล็ด กำหนดให้นำหลักการต่างๆ ในพระราชกฤษฎีกานี้ไปใช้กับหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นด้วย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 52) องค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ (มาตรา 53)
เหล่านี้ คือภาพทั้งหมดของการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จบางส่วนที่ดำเนินการเร็วเกินไปและมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไข โดยสรุปแล้ว คิดว่าเจตนารมณ์ที่ต้องการจะทำให้ระบบราชการไทยดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องสำคัญ โดยมุ่งหวังว่า ระบบราชการจะต้องเป็นเสาหลักของบ้านเมือง และสิ่งที่เราต้องทำให้ดีคือ ทำให้เสาหลักนี้เป็นเสาหลักที่ไม่ผุ เสาหลักที่ไม่โอนเอียง และเป็นเสาหลักที่ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งภารกิจนี้ใหญ่เกินกว่าที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะทำได้โดยลำพัง แต่เป็นภารกิจที่ทุกคนในระบบราชการต้องช่วยกันทำ ช่วยกันเปลี่ยน และออกแบบระบบราชการใหม่ให้ดีและเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของผู้คน!
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 29 มิ.ย. 52 หน้า A8
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 20 กรกฎาคม 2552 08:52:39 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 20 กรกฎาคม 2552 08:52:39