เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนาผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง และหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ระดับกระทรวง กรม เรื่อง ภาครัฐกับการแสวงหาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ขึ้น โดยมี รศ.ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องเรดิสันบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเรดิสัน ถนนพระราม 9
การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง และหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ของส่วนราชการระดับกระทรวง กรม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นของบทบาทภาครัฐกับการแสวงหาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยเชิญผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมเสนอแนวความคิดในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเชิญผู้แทนส่วนราชการมาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาหน่วยงานของตนเอง
รศ.ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมสัมมนาว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ การบริหารบ้านเมืองช่วงจากนี้ไปในอนาคตจะซับซ้อนและลำบากมากขึ้น รัฐไม่สามารถจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เพียงฝ่ายเดียวเหมือนเมื่อก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคท้องถิ่น เพื่อร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการบริหารบ้านเมืองแบบมีส่วนร่วม (Collaborative Governance) และในรูปแบบเครือข่ายทั้งในแนวตั้ง Vertical (ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น) และแนวนอน Horizontal (ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ฉะนั้นหลังจากนี้ พวกเราจะบริหารแบบใช้ KPI อย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเป็นสะพานเชื่อมใจดึงให้ทุกภาคส่วนมาเป็น partner ที่ดี และให้ความร่วมมือแก้ปัญหาของชาติร่วมกัน
จากนั้นเป็นการนำเสนอแนวความคิดเรื่อง ภาครัฐกับการแสวงหาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมี รศ. ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวย้อนไปยัง 40 ปีที่ผ่านมาว่า ภาพพจน์ระหว่างพ่อค้าและข้าราชการมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่เมื่อครั้นในยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง การเปลี่ยนแปลงเริ่มชัดเจนมากขึ้น การทำงานโดยฝ่ายเดียวปราศจากพันธมิตรย่อมไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ ทางหอการค้าไทยจึงมีแนวคิดว่า รัฐควรมีหน้าที่หลัก 3 ข้อ คือ
1. ให้บริการประชาชนขั้นพื้นฐาน
2. หน้าที่ Facilitator ในการอำนวยความสะดวกกับนักธุรกิจ
3. หน้าที่ Regulator ในการควบคุมนักธุรกิจให้มีการจัดการธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมองว่า ปัจจุบันข้าราชการเล่นบทบาทการเป็น Regulator เกินไป เพราะมีอำนาจในการควบคุมประชาชน แต่เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป ภาคเอกชนจึงเห็นว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวนั้นควรจะมีการลดบทบาทไป และควรปรับเปลี่ยน และเพิ่มบทบาทในสองข้อแรกให้มากขึ้น อีกทั้งในแง่ของกฎหมายก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการเอื้อต่อภาคเอกชนในการทำธุรกิจและเป็นพลังส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และ 2 ทำให้เกิดปัญหาสังคมหลายด้าน เช่น การเข้ามาทำงานในเมืองทำให้ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดและครอบครัว NGO จึงได้เริ่มเข้ามาแทรกซึมในสังคม ซึ่งผลกระทบของแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวนั้น เกิดจากความไม่เข้าใจของข้าราชการและประชาชน จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยเป็นลักษณะ Confront ก่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไป หลังจากปี พ.ศ. 2535 เกิดกระแส New Social Movement โดยเน้นเรื่อง Collaboration คำว่า ประชาสังคม จึงได้เกิดขึ้นในครั้งนั้น
นายแพทย์พลเดชได้ให้ข้อเสนอแนะว่า
1. ภาครัฐต้องถามตนเองก่อน ว่าต้องการให้ประชาชนแข็งแรงจริงหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการให้ประชาชนแข็งแรง เพียงเพราะเกรงว่าประชาชนจะหัวแข็ง ปกครองยาก ดังนี้ควรที่จะต้องมีการปรับทัศนคติกันเสียใหม่ เพราะถ้าประชาชนแข็งแรงแล้ว ก็จะมีจิตสาธารณะที่จะช่วยสังคม ส่งผลให้สังคมเข้มแข็ง อีกทั้งความแข็งแรงของประชาชนจะทำให้สามารถทำภารกิจแทนรัฐได้ในหลายๆ เรื่อง และรัฐต้องหันมาให้ความสนใจกับประชาชนที่อ่อนแอด้วย
2. รัฐต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่ แม้ว่าตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และ 10 และในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้บัญญัติคำว่า มีส่วนร่วม ไว้ แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง จึงเรียกว่า การมีส่วนร่วมแบบเป็นรูปแบบ ส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นมีประโยชน์ แต่ต้องเป็นการมีส่วนร่วมแบบเชิงคุณภาพ ข้าราชการควรตระหนักในการมีส่วนร่วมแบบเชิงคุณภาพ โดยการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพนั้นเริ่มที่การสนับสนุนประชาชนที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งประชาชนที่อ่อนแอ ประชาชนมีจิตสาธารณะ มีองค์กรสาธารณประโยชน์ เน้นให้ประชาชนที่เข้มแข็งเข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกับรัฐ (สร้าง partner) หาแนวร่วม ภาคีที่เข้มแข็งเพื่อเป็นเครือข่ายกับภาครัฐเพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
ด้าน นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มองว่า ความเข้มแข็งของท้องถิ่นขึ้นอยู่กับนโยบายต่างๆ ของรัฐ ซึ่งทุกวันนี้การบริหารพัฒนาในส่วนท้องถิ่นนั้นยังไม่ตรงจุดที่ต้องการของท้องถิ่นชัดเจน อันเนื่องมาจากการบริหารงานที่กระทรวงมีการกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจยังไม่มีความเข้าใจในท้องถิ่นนั้นลึกซึ้งอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ความร่วมมือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจาก
- ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับการเมือง ที่เป็นการทำงานของการเมืองคนละกลุ่ม
- การทำงานที่ไม่ประสานความร่วมมือกัน ไม่มีการพึ่งพา
- การปกป้องและหวงอำนาจของกระทรวง ประชาชนเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐได้ยาก โดยเฉพาะส่วนกลาง
- ทุกกระทรวงทำงานอิสระต่อกัน ไม่มีการประสานงานระหว่างกระทรวง ขาดการบูรณาการ
- ประชาชนไม่สามารถเข้าตรวจสอบการทำงานภาครัฐได้ หรือทำได้ยาก เข้าถึงยาก ขั้นตอนกระบวนการมีมาก
นายประภัสร์กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้โอกาสท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการออกนโยบาย
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เดิมภารกิจส่วนใหญ่ของรัฐนั้น รัฐจะดำเนินการเองทั้งสิ้น โดยรัฐมีหน้าที่หลักอยู่ 4 ประการ คือ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การรักษาความสงบสุข และการยุติธรรม/กฎหมาย
ทุกวันนี้ในการดำเนินชีวิตของคนไทยถูกกฎหมายควบคุมมากถึง 700 ฉบับ ซึ่งในมุมมองของรัฐนั้น กฎหมายเหล่านั้นส่งผลดีต่อการปกครอง แต่ในภาคเอกชนมองว่า เป็นการริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการค้าขายบางประการ นอกจากนี้ กฎหมายของรัฐได้เข้ามามีบทบาท 3 ประการ คือ ควบคุม กำกับ และส่งเสริม แต่ระบบกฎหมายของไทยนั้น เน้นการควบคุมเป็นหลัก จึงเห็นว่า ควรที่จะปรับเปลี่ยนให้เน้นการส่งเสริม สนับสนุน และการกำกับ แทนการควบคุม ซึ่งนายปกรณ์ได้ยกตัวอย่าง OECD ที่มองว่าการพัฒนาประเทศมิใช่ภารกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงได้เน้น public participation มากขึ้น เพื่อปรับบทบาทภารกิจของรัฐใหม่ มีการถ่ายโอนภารกิจที่เหมาะสมให้ภาคเอกชน เพื่อให้โอกาสทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
นายปกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาประเทศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากรัฐรับไปทำหน่วยงานเดียวทั้งหมดจะไม่เกิดการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศ มี 3 แบบ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ซึ่งในความร่วมมือนั้น ทัศนคติที่มีทิศทางเดียวกันนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการก่อให้เกิดความร่วมมือได้
- ร่วมทำ ต้องปรับบทบาทภารกิจ ให้มี partner ในการทำงาน โดยร่วมทำกับท้องถิ่น คือ มอบอำนาจให้ท้องถิ่น โดยมีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ ร่วมทำกับเอกชน โดยให้มีกฎหมายร่วมทุน ทำงานร่วมกันได้ และร่วมทำกับภาคประชาสังคม/ชุมชน โดยการให้ชุมชนมีส่วนร่วม ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- ร่วมคิด เพื่อให้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร โดยการรับฟังความคิดเห็น
- ร่วมตัดสินใจ ต้องมีการทำประชามติ ประชาพิจารณ์ มีการตราเป็นกฎหมายที่ชัดเจน
นายปกรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยแท้จริงแล้ว เรามีกฎหมายหลายๆ ข้อในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เปิดช่องทางที่จะให้รัฐร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยอาศัยความมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งนี้ สามารถสรุปการอภิปรายในช่วงท้าย ตามมุมมองของแต่ละภาคส่วน ได้ดังนี้
ภาคเอกชน ภาคเอกชนพร้อมแล้วที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาล และยอมรับว่าสังคมต้องดีด้วย ธุรกิจภาคเอกชนจะสามารถอยู่ได้ยั่งยืน แต่โครงสร้างและทัศนคติของภาครัฐยังเป็นอุปสรรคปัญหาที่สำคัญในตอนนี้ รัฐควรจะมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถทำงานได้สอดล้องกับภาคเอกชน
ภาคประชาสังคม รัฐต้องไม่มองประชาชนเป็นผู้อ่อนแอ ผู้อยู่ใต้การปกครองเกินไป รัฐควรให้ความช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสมโดยไม่ทอดทิ้ง และเข้าถึงในส่วนที่ประชาชนต้องการจริงๆ พัฒนาให้เป็นสังคมที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งตัวเองได้ในอนาคต และร่วมเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาชาติร่วมกันต่อไป
ภาคท้องถิ่น รัฐต้องเข้าใจประชาชน เข้าใจท้องถิ่น ต้องรู้เขารู้เรา ให้โอกาสท้องถิ่นร่วมกันคิดร่วมกันทำในการแก้ไขปัญหา และรัฐควรปรับทัศนคติในการทำงาน และเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ
ในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอกรณีตัวอย่างการปรับบทบาทภารกิจภาครัฐของส่วนราชการ โดยมี อ.ปาริชาต ศิวะรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
กระทรวงวัฒนธรรม
นายสมชาย หลายเสียง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า งานของกระทรวงคือ สืบค้น อนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างความตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ ตอบสนองผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม คุณค่า และมูลค่าของวัฒนธรรม การส่งต่อวัฒนธรรม และขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการสร้างภาคีทำงานร่วมกันกับหลายๆ ฝ่าย เพื่อสามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ อาทิ สภาวัฒนธรรมภาค สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมตำบล ศูนย์วัฒนธรรมประจำศูนย์การศึกษา วัด ศาสนสถาน และจากภาคประชาสังคม เป็นต้น โดยมีกระบวนการการแสวงหาความร่วมมือและทำงานร่วมกัน เริ่มจากขั้นตอนแรกคือ กำหนดพันธกิจกระทรวง ขั้นตอนต่อไปคือ Identify stakeholder และหลังจากนั้น มีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันกับผู้ที่มีส่วนได้เสียในส่วนงานนั้น เพื่อที่จะสามารถเดินไปทิศทางเดียวกัน และค่อยเข้าสู่การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วน core position ที่รับมอบต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. กระบวนการติดตามประเมินผลของ ก.พ.ร. ควรจะลดลงบ้างเพื่อไม่สร้างภาระให้แก่กระทรวง
2. การออกแบบระบบงานควรแบ่งเป็นส่วนที่กระทรวงต้องทำเอง ร่วมมือกับกระทรวงอื่น และส่งเสริมให้ภาคีอื่นทำงานในส่วนรายละเอียด กระทรวงทำหน้าที่เฉพาะในส่วนงานหลักที่สำคัญ
3. การทำงานต้องไม่ยึดหลักวิชาการมากเกินไปจนละเลยข้อเท็จจริง เพราะยิ่งยึดหลักวิชาจะยิ่งทำให้ห่างจากประชาชนมากขึ้น
4. ควรจะมีการกระจายงาน และข้าราชการลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น
5. ศึกษาว่าการบริการสาธารณะรูปแบบใดที่ส่วนกลาง ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นจะต้องทำให้มีการตัดช่วงการตัดสินใจให้สั้นลง การทำงานจะถึงประชาชนได้รวดเร็วและตอบสนองได้มากขึ้น ลดขั้นตอนการทำงาน
กระทรวงศึกษาธิการ
นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 11 และ 13 กล่าวว่า รัฐควรปรับบทบาทภารกิจ ลดภารกิจที่ไม่จำเป็นลง โดยในด้านการศึกษาของไทย รัฐควรส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในด้านจัดการการศึกษาให้มากขึ้นกว่านี้ กล่าวคือ โรงเรียนของรัฐจะต้องลดขนาด และเพิ่มบทบาทให้แก่โรงเรียนเอกชน หน่วยงานกลางต้องกระจายอำนาจทั้งเงิน คน บริหารงานทั่วไป วิชาการ แต่ที่เป็นอยู่กระจายไปแค่การบริหารงานทั่วไป และวิชาการ และเห็นว่า การที่รัฐจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เหล่านั้น รัฐจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานใหม่ และปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำงานใหม่ เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับเทคโนพระจอมเกล้า ในการอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์โรงงานให้ได้มาตรฐาน และการร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาสุขภาพ มีแนวทางในการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพ ระดับบริหารทำหน้าที่วางนโยบายเพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินงาน ศูนย์ปฏิบัติราชการระดับกระทรวง สู่ระดับปฏิบัติการ อีกทั้งให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก โดยมีทีมสาธารณสุขประจำในพื้นที่ เช่น สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย ที่ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยว่า การทำงานร่วมกันหลายๆ ฝ่าย ให้ผลดีกว่าทำงานกระทรวงเดียว โดยตัวอย่างที่ผ่านมาล่าสุดคือ การป้องกันไข้หวัด H1N1 ซึ่งกล่าวว่าในช่วงแรกนั้น กระทรวงทำงานเพียงกระทรวงเดียว แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเปิด มีการเดินทางเข้าออกกันจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรับภาระในการป้องกันเชื้อหวัดนี้ได้ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมมือป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ อาทิ ท่าอากาศยาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายธงไชย ชำนาญกิจ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาของกระทรวงคือ เป็นกระทรวงที่มีบุคลากรมาจากหลายหน่วยงาน ทำให้การบริหารงานเป็นไปได้ยาก ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน ทั้งในเรื่องกฎหมาย ความพร้อมของบุคลากร ความต้องการของผู้รับบริการ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ วาระพิเศษ การไม่ต่อเนื่อง/การปรับเปลี่ยนผู้บริหารทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก
โดยในการทำงานนั้น กระทรวงจะทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงเป็นสำคัญ ต้องมีการกำหนดหน้าที่ของส่วนภูมิภาค จังหวัดให้ชัดเจน ต้องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาทำงานร่วมกัน แต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปบังคับ สั่งการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากนัก ซึ่งในการทำงานต้องทำอย่างเหมาะสม สร้างภาคีร่วมกันกับท้องถิ่นที่มีความสามารถในการทำงาน ต้องมีการกระตุ้น สนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานกลาง แสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินงานนางใกับหลายๆ ฝ่าย เช่น ในเรื่องการปรับปรุงและรักษาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวิกฤตนั้น กระทรวงได้ทำงานร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
ภัทธิรา & สุภาวดี (กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร) / สรุปประเด็น
สุคนธ์ทิพย์ (สลธ.) / ภาพ