1 ทศวรรษ องค์การมหาชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
และสังคมไทย
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับ 28 องค์การมหาชน จัดงานวันองค์การมหาชน ครั้งที่ 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ 1 ทศวรรษองค์การมหาชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง องค์การมหาชนกับอนาคตของประเทศไทย และมี เลขาธิการ ก.พ.ร. (นายทศพร ศิริสัมพันธ์) กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเป็นมาของการออกพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ว่าเป็นผู้ผลักดันการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนกับผู้ทำคลอด แต่ไม่ได้เลี้ยงดูเด็กคนนี้ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา
ถ้าเป็นพ่อแม่ก็ต้องยอมรับตามตรงว่ามีทั้งลูกที่ถูกใจและไม่ถูกใจ สำหรับองค์การมหาชนที่เห็นว่ามีศักยภาพ อาทิ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ฯลฯ ขณะที่อีกหลายองค์การยังมีปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและตอบสนองความต้องการของประเทศ เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงต้องทบทวน อาทิ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ที่มีเนื้องานภายใน 5-6 อย่าง และพบว่ามีปัญหาข้อกฎหมายมาก ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาแยกงานออกมาทำ 2 ส่วน โดยจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนใหม่ 2 แห่ง ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนว่าองค์การมหาชนไหน หากทำแล้วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็สามารถยุบเลิกได้ เพราะองค์การเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อความคล่องตัว และทำงานตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องควบรวมและยุบเลิกได้
มีผลสัมฤทธิ์ในการจัดตั้ง มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการต่อสาธารณะ สามารถตอบสนองประชาชนได้ดีกว่าการจัดตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจภายในงานการประชุมวันองค์การมหาชน ครั้งที่ 2 1 ทศวรรษ องค์การมหาชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ประกอบด้วยการสัมมนา หัวข้อ 1 ทศวรรษ องค์การมหาชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่าน คือ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ (กรรมการพัฒนาระบบราชการ) ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล (ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี (ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนา องค์ความรู้)และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) และมี
ดร.อรพินท์ สพโชคชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้ให้มุมมองต่อองค์การมหาชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ กล่าวว่า องค์การมหาชนเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เพื่อให้งานบริการที่เป็นนโยบายของรัฐเฉพาะด้าน หรืองานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องการประสิทธิภาพสูง สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดกับกฎ ระเบียบราชการ ทำงานตอบสนองเป้าหมาย หรือนโยบายของรัฐด้านการให้บริการสังคมและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นงานที่เอกชนทำแทนไม่ได้ หรือบริหารในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีองค์การมหาชน ทั้งหมด 28 แห่ง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานขององค์การหาชนนั้น ได้มีการประเมินผลโดยทีมกลางเพื่อศึกษาถึงปัญหา และแนวทางการแก้ไข และยังคงมั่นใจว่าองค์การมหาชนได้มีบทบาทเป็นกลไกของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย

จากวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรูปแบบองค์การมหาชน นั้น ทาง มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล สรุปถึงผลงานของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถจัดหารายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมามีที่ผ่านมามีรายได้ถึง 278,000 ล้านบา และยังเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการช่วยเหลือเหตุที่เกิดจากวิกฤติทั้งการเมืองและภัยธรรมชาติ ซึ่งสำนักงานฯ เองมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สึนามิ และการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เป็นต้น สำหรับโครงการที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการกำลังสนับสนุน คือโครงการ ปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ชุมชนได้เรียนรู้และน้อมนำแนวพระราชดำริที่มีอยู่ถึง 4,000 โครงการไปปฎิบัติ รวมถึงโครงการที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดสัมมนาหรือท่องเที่ยวในประเทศ

สำหรับมุมมองของวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี (ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้) และศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) กล่าวถึงมุมมองที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาองค์การ มหาชนให้ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของสังคม สรุปดังนี้
การจัดตั้งองค์การมหาชน ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรคำนึงถึงภารกิจของตนเอง และการกำหนดระเบียบ ข้อบังคับให้เหมาะสมกับองค์การของตนเอง ต้องไม่มีกฎ ระเบียบ ที่มากจนเกินไป ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของการจัดตั้งองค์การมหาชน ประกอบด้วย 1) ความชัดเจนในเรื่องภารกิจขององค์การมหาชน 2) สมรรถนะขององค์การ 3) ผู้กำหนดนโยบาย (Board) 4) ภาวะผู้นำของผู้บริหาร 5) การกำกับ ติดตาม 6) กฎ ระเบียบที่เหมาะสมกับองค์การ
สุดท้าย นายสมพล เกียรติไพบูลย์ กล่าวปิดท้ายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้องค์การมหาชนสามารถทำงานและตอบสนองต่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนั้น มีอยู่ 3 แนวทาง คือ

1. ต้องตอบให้ได้ว่าหน่วยงานนี้เหมาะสมกับการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนหรือไม่
2. ควรมีการทดลองงานเพื่อดูความเหมาะสมก่อนที่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนขึ้นมา
3. ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ โดยกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการขึ้นใหม่ กำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิให้เข้มงวด และควรมีระบบการสรรหาที่เหมือนภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ หรือบริหารความเสี่ยง เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงเช้าและบ่าย คือ การสัมมนาหัวข้อ การปฏิรูปการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน ศ.ดร. ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ และดร.ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ /หัวข้อย่อยด้านการศึกษา เรื่อง ประเมินคุณภาพภายนอก โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ศ.เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร และคุณสมนึก พิมลเสถียร
หัวข้อ องค์การมหาชน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจมั่นคง โดย ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ นายสิน สื่อสวน นายวรวุฒิ บุญเพ็ญ พลเอกเธียรศักดิ์ พะลายานนท์ และพ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท /หัวข้อ องค์การมหาชน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจมั่นคง โดย ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ นายสิน สื่อสวน นายวรวุฒิ บุญเพ็ญ พลเอกเธียรศักดิ์ พะลายานนท์ และพ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท /หัวข้อย่อยด้านสังคมและเศรษฐกิจ เรื่อง การส่งเสริมธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร โดย ดร.รุ่งเรือง สิ้มชูปฏิภาณ์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย คุณชนินทร์ วานิชวงส์ ดร. กมล จิราพงษ์
หัวข้อ เทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในทศวรรษหน้า โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผศ. ดร.สมพร จองคำ นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ และ ดร.รอยล จิตรดอน/ หัวข้อย่อยด้านเทคโนโลยี เรื่อง เศรษฐกิจชาติมีปัญหา องค์การมหาชนกับการเกษตรช่วยได้อย่างไร โดย ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ คุณอภิวัมน์ เศรษฐรักษ์ คุรสุทัศน์ ปลื้มปัญญา
นอกจากการเสวนาทางวิชาการแล้วยังมีการจัดนิทรรศการ แสดงสินค้าและการบริการ โดยมีองค์การมหาชนทั้ง 28 แห่ง ออกบู้ธเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทการทำงานของแต่ละองค์การรวมถึงแผนงานการทำงานในอนาคต
สุดารัตน์ (สลธ.) / ข้อมูล
นวลจันทร์ (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 15 กรกฎาคม 2552 11:52:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 15 กรกฎาคม 2552 11:52:09