หลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการจัดสรรเงินรางวัล
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีให้กับผู้ปฏิบัติงานในสังกัด
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 มีมติเห็นชอบกับผลการประเมินการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการจัดสรรเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติ และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามแนวทางที่ ก.พ.ร. กำหนดแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ไปแล้ว โดยไปชี้แจงกับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินรางวัล และสามารถจัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการจัดสรรสิ่งจูงใจการจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติ และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จะยังคงใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดิม โดยปรับปรุงวิธีการคำนวณเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติ กล่าวคือ ปรับน้ำหนักของการจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติ ซึ่งเน้นที่ผลการปฏิบัติราชการที่บรรลุเป้าหมายระดับค่าคะแนน 3.0000 เพื่อให้ส่วนราชการที่จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราชการ มากกว่าการมุ่งหวังที่ระดับคะแนน โดยปรับสัดส่วนการจ่ายเงินรางวัลสำหรับทุกส่วนราชการที่ผ่านการประเมินมีผลงานเป็นไปตามเป้าหมายที่หน่วยงานกำหนดไว้ โดยให้น้ำหนักการจ่ายรางวัลมากที่ระดับ 3.0000 คะแนน เป็นร้อยละ 90 ซึ่งทุกหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ที่ระดับคะแนน 3.0000 คะแนน จะได้รับในส่วนนี้ สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับคะแนนที่สูงกว่า 3.0000 คะแนนขึ้นไป ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าเป้าหมาย ให้มีน้ำหนักการจ่ายที่สูงกว่าร้อยละ 90 ถึงร้อยละ 100

สำหรับหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ที่นำมาเสนอในวันนี้จะเป็นในส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินรางวัลฯ ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัด โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. หน่วยงานต้องไม่นำเงินรางวัลทั้งหมดที่ได้รับไปจัดสรรโดยวิธีการหารเฉลี่ยให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลได้รับเท่ากัน แต่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ และหลักเกณฑ์ วิธีการจัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ทั้นี้ ต้องประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบโดยทั่วกันด้วย
2. เมื่อหน่วยงานได้รับจัดสรรเงินรางวัลไปแล้ว ต้องนำไปจัดสรรให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลประจำปี ได้แก่
ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ (ดำรงตำแหน่งและมีฐานเงินเดือน ณ วันที่ 1 กันยายน 2551 อยู่ ณ หน่วยงานนั้น)
2.1 สถาบันอุดมศึกษาอาจพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลที่ได้รับ ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของสถาบันการศึกษาด้วยก็ได้
2.2 ผู้บริหารในช่วงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ จะไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลนี้
3. ผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาจัดสรรเงินรางวัล ต้องได้รับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยแบ่งการประเมินเป็น 5 ระดับเช่นเดียวกับการประเมินผลฯ ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่
ระดับที่ 5 คือ มีผลการปฏิบัติราชการระดับดีเลิศหรือดีเยี่ยม
ระดับที่ 4 คือ มีผลการปฏิบัติราชการระดับดีมาก
ระดับที่ 3 คือ มีผลการปฏิบัติราชการะดับดี
ระดับที่ 2 คือ มีผลการปฏิบัติราชการะดับพอใช้
ระดับที่ 1 คือ มีผลการปฏิบัติราชการระดับที่ต้องปรับปรุง
ผู้ที่มีคะแนนประเมินผลการปฏิบัติราชการต่ำกว่าระดับ 3 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล
4. จำนวนเงินรางวัลที่ผู้มีสิทธิ์จะได้รับ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมผลักดันให้ผลงานของหน่วยงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และผลการประเมินการปฏิบัติราชการของผู้มีสิทธินั้น ๆ
5. ให้ส่วนราชการเป็นผู้จัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ที่สังกัดราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนกลางที่ปฏิบัติราชการอยู่ในภูมิภาค และให้จังหวัดเป็นผู้จัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่สังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาค
โดยที่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งและมีฐานเงินเดือน ณ วันที่ 1 กันยายน 2551 อยู่ ณ ส่วนราชการ จังหวัด หรือสถาบันอุดมศึกษาใด จะได้มีสิทธิไ้ด้รับการพิจารณาจัดสรรเงินรางวัลจากหน่วยงานนั้น สำหรับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยราชการในต่างหน่วยงาน ให้ได้รับเงินรางวัลจากหน่วยงานที่ตนมีการเบิกจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างอยู่ ณ วันที่ 1 กันยายน 2551
6. เงินรางวัลประจำปีส่วนที่ได้รับจัดสรรจากวงเงินรวม 5,550 ล้านบาท ให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา จัดสรรตามแนวทางเดิม โดยแบ่งรางวัลเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เพื่อจัดสรรเป็นรางวัลให้ผู้ปฏิบัติที่แสดงถึงความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานสร้างผลงานให้กับองค์กรร่วมกัน
ส่วนที่ 2 รางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบ ทุ่มเท และมีผลงานตามแผนปฏิบัติราชการ และตามภารกิจหลักของหน่วยงาน บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาตั้งเบิกในระบบ GFMIS ตามระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงการคลัง
การจัดสรรเงินรางวัลให้แก่สำนัก กอง หรือสำนักงาน
การจัดสรรเงินรางวัลให้แก่สำนัก กอง หรือสำนักงาน มีหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
1. ให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการฯ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดสรรเงินรางวัล และต้องประกาศหลักเกณฑ์ให้้ทราบโดยทั่วกัน
2. ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ จัดสรรเงินรางวัล โดยพิจารณาสัดส่วนเงินรางวัลที่จะแบ่งให้แก่สำนัก กอง หรือสำนักงาน ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ รางวัลสำหรับความร่วมมือกันระหว่างสำนัก กอง หรือสำนักงาน ส่วนที่สอง คือ รางวัลสำหรับสำนัก กอง หรือสำนักงานที่มีผลงานโดดเด่นในการผลักดันงานของหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย
3. การจัดสรรเงินรางวัลให้พิจารณาตามผลการประเมินของสำนัก กอง หรือสำนักงาน ซึ่งผลการประเมินของสำนัก กอง ควรให้สอดคล้องกับวิธีการประเมินระดับกรมและจังหวัด นั่นคือ มีระดับคะแนนจาก 1 - 5 โดยคะแนน 1 หมายถึง ระดับที่ต้องปรับปรุง และ คะแนน 5 หมายถึง ระดับที่ดีเลิศหรือดีเยี่ยม ทั้งนี้ สำนัก กอง หรือสำนักงานที่ได้คะแนนผลการประเมินต่ำกว่า 3 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล
4. วิธีการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีส่วนที่ได้รับจัดสรรจากวงเงินรวม 5,550 ล้านบาท สำหรับแต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน ให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา จัดสรรโดยแบ่งรางวัลเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 รางวัลสำหรับความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสำนัก กอง หรือสำนักงาน
เป็นสัดส่วนเงินรางวัลที่คณะทำงานฯ พิจารณาจัดสรรให้แต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน ในลักษณะเฉลี่ยให้ตามขนาดของสำนัก กอ งหรือสำนักงาน ซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ
(ก) เฉลี่ยตามขนาดของการสร้างผลงาน (Contribution) ของแต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงานโดยใช้จำนวนเงินเดือนของบุคลากรแต่ละสำนัก กอง เป็นตัวเลขสะท้อนถึงขนาดของการสร้างผลงาน ในกรณีนี้จะเป็นผลดีแก่สำนัก กอง หรือสำนักงานที่มีบุคลากรทำงานมานาน และมีเงินเดือนสูง ซึ่งตามหลักแล้วควรเป็นสำนัก กอง หรือสำนักงานที่สามารถสร้างผลงานได้สูงกว่าหรือมากกว่าสำนัก กอง หรือสำนักงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า
(ข) เฉลี่ยตามจำนวนคนในสำนัก กอง โดยนำเงินรางวัลสำหรับความร่วมมือมาคูณด้วยสัดส่วนจำนวนคนของสำนัก กอง ต่อจำนวนคนทั้งหมดของส่วนราชการ จังหวัด ในกรณีนี้จะเป็นผลดีแก่สำนัก กอง หรือสำนักงานที่มีบุคลากรเงินเดือนต่ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งการแบ่งเฉลี่ยแบบนี้น่าจะเหมาะสำหรับหน่วยงานที่มีบุคลากรระดับล่างจำนวนมากที่ขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลงานให้กับส่วนราชการฯ
ส่วนที่ 2 รางวัลสำหรับความรับผิดชอบ ทุ่มเท และมีผลงานตามแผนปฏิบัติราชการ และตามภารกิจหลักของส่วนราชการฯ และตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีของแต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน ที่มีผลทำให้ส่วนราชการฯ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
เงินรางวัลส่วนที่ 2 นี้ คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ จะพิจารณาจัดสรรให้แต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน ตามผลงานที่แตกต่างกันของแต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน สำหรับวิธีการคำนวณเงินรางวัลให้แต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน ให้ใช้วิธีการเดียวกับการคำนวณการจัดสรรเงินรางวัลให้แก่ส่วนราชการ จังหวัด หรือสถาบันอุดมศึกษา (ตามผลประเมินสุดท้าย)
การจัดสรรเงินรางวัลระดับบุคคล
การจัดสรรเงินรางวัลให้แก่บุคลากร มีหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
1. ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ ทำหน้าที่พิจารณา
2. ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ พิจารณาสัดส่วนเงินรางวัลที่แต่ละสำนัก กอง หรือสำนักงาน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่ว นส่วนที่หนึ่ง คือ รางวัลสำหรับความร่วมมือกันระหว่างบุคลากรภายในสำนัก กอง หรือสำนักงาน ส่วนที่สอง คือ รางวัลสำหรับบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นในการผลักดันงานของสำนัก กอง หรือสำนักงานให้บรรลุเป้าหมาย
3. การจัดสรรเงินรางวัล ให้พิจารณาตามผลการประเมินการปฏิบัติราชการของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งผลการประเมินดังกล่าว ควรให้สอดคล้องกับผลการประเมินระดับ กรม จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา นั่นคือ มีระดับคะแนนจาก1-5 โดยคะแนน 1 หมายถึง ระดับที่ต้องปรับปรุง และ คะแนน 5 หมายถึง ระดับดีเลิศหรือดีเยี่ยม ทั้งนี้ ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ได้คะแนนผลการประเมินต่ำกว่า 3 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล
4. วิธีการจัดสรรเงินรางวัลสำหรับบุคลากรแต่ละคน โดยแบ่งรางวัลเป็น 2 ส่วน เป็นดังนี้
ส่วนที่ 1 รางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติที่แสดงถึงความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานสร้างผลงานร่วมกันภายในสำนัก กองหรือสำนักงาน
เป็นสัดส่วนเงินรางวัลที่คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ พิจารณาจัดสรรให้บุคลากรแต่ละคนที่มีผลการประเมินตั้งแต่ 3 ขึ้นไป ภายในสำนัก กอง หรือสำนักงาน ในลักษณะเฉลี่ยให้ ซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ
(ก) เฉลี่ยตามขนาดของการสร้างผลงาน (Contribution) ของแต่ละคน โดยใช้จำนวนเงินเดือนของบุคลากรแต่ละคน เป็นตัวเลขสะท้อนถึงการสร้างผลงาน ในกรณีนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ที่ทำงานมานานและมีเงินเดือนสูง ซึ่งตามหลักแล้วควรเป็นผู้ที่สามารถสร้างผลงานได้สูงกว่าผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า
(ข) เฉลี่ยตามจำนวนคนในสำนัก กอง หรือสำนักงาน โดยนำเงินรางวัลสำหรับความร่วมมือ มาหารด้วยจำนวนคนที่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลทั้งหมด (ผู้ที่มีคะแนนผลการประเมินตั้งแต่ 3 ขึ้นไป) ในกรณีนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ที่มีเงินเดือนต่ำ ซึ่งการแบ่งเฉลี่ยแบบนี้น่าจะเหมาะสำหรับหน่วยงานที่มีบุคลากรระดับล่างจำนวนมาก ที่ขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลงานให้กับสำนัก กอง หรือสำนักงาน
ส่วนที่ 2 รางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบ ทุ่มเท และมีผลงานตามแผนปฏิบัติราชการ และตามภารกิจหลักของส่วนราชการฯ และตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี ที่มีผลทำให้ส่วนราชการฯ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
เป็นสัดส่วนเงินรางวัลที่คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการฯ พิจารณาจัดสรรให้แต่ละคนตามผลงานที่แตกต่างกัน ซึ่งเกณฑ์การประเมินการปฏิบัติราชการของบุคลากรควรให้สอดรับกับเกณฑ์การประเมินระดับสำนัก กอง หรือสำนักงาน นั่นคือ มีระดับคะแนนจาก 1-5 โดยคะแนน 1 หมายถึง ผลงานระดับต้องปรับปรุง และ คะแนน 5 หมายถึง ผลงานระดับดีเลิศหรือดีเยี่ยม ทั้งนี้ บุคลากรที่ได้คะแนนผลการประเมินต่ำกว่า 3 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล สำหรับวิธีการคำนวณเงินรางวัลให้บุคลากรแต่ละคนให้ใช้วิธีการเดียวกับการคำนวณการจัดสรรเงินรางวัลให้แก่สำนัก กอง หรือสำนักงาน
เงินสมทบจากเงินเพิ่มพิเศษของผู้บริหาร
นอกจากเงินรางวัล 5,550 ล้านบาท ที่ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาได้รับเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดแล้ว คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 และวันที่ 22 มกราคม 2551 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร และการจัดสรรเงินรางวัลของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ซึ่งการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จะดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยกำหนดให้จัดสรรเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร จ่ายให้กับผู้บริหารที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารเป็นรายบุคคล
ส่วนที่ 2 ร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร นำมาสมทบเพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มเติม
แนวทางการนำเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวนร้อยละ 50 มาสมทบเพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัด มีดังนี้
1. เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวนร้อยละ 50 จากตำแหน่งปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวงที่ไม่ใช่หัวหน้ากลุ่มภารกิจ อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ผู้อำนวยการศูนย์/เขต/ภาค หรือตำแหน่งผู้บริหารเทียบเท่าที่ ก.พ.ร.กำหนด ให้นำไปสมทบเพื่อจัดสรรให้กับผู้ปฏิบัติราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนกลางที่ไปปฏิบัติราชการในภูมิภาค โดยคณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของหน่วยงานต้นสังกัด เป็นผู้จัดสรรโดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด
2. เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวนร้อยละ 50 จากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ให้นำไปจัดสรรตามสัดส่วนของผลการดำเนินงานของส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชา เพื่อสมทบจัดสรรให้กับผู้ปฏิบัติราชการของส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชา โดยคณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของกรมที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เป็นผู้จัดสรรโดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด
3. เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวนร้อยละ 50 จากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ให้นำไปสมทบเพื่อจัดสรรให้กับผู้ปฏิบัติราชการในสังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคในจังหวัดนั้น โดยคณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีของจังหวัด เป็นผู้จัดสรรโดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนด
4. เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวนร้อยละ 50 จากตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ของสถาบันการศึกษา ให้นำไปสมทบเพื่อจัดสรรให้กับผู้ปฏิบัติในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับข้อเสนอแนะ หลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเงินสมทบจำนวนร้อยละ 50 มาจัดสรรเป็นเงินรางวัลให้แก่ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา มีความแตกต่างกันตามหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ส่วนราชการและสถาบันอุดมศึกษา และ 2) จังหวัด ดังนี้


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน