เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ กับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 - 7 พฤษภาคม 2552 ณ หอประชุมกองทัพเรือ
โดยการประชุมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมนั้น มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง การสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ปัญหาที่กระทบต่อประเทศไทยในปัจจุบันยังถูกมองว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ มีการเคลื่อนไหวข้ามประเทศ เช่น ปัญหาสถาบันการเงิน ปัญหาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม โอกาสในการแก้ไขหรือบรรเทาความรุนแรงที่เกิดจากปัญหาดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีการให้ความสำคัญในเชิงพื้นที่และท้องถิ่น โดยการแก้ไขปัญหานั้น สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผลักดันจากส่วนกลางเป็นหลัก เช่น การค้าขาย และการท่องเที่ยวตามชายแดน
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนมีผลต่อโอกาสและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่การสร้างความเชื่อมั่นจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เนื่องจากความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนมีความมั่นใจในกลไก ขีดความสามารถ และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหลาย ๆ ปัญหาไม่่สามารถแก้ไขได้โดยส่วนกลาง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรน้ำ ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ปัจจุบันการปกครองสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องเข้าใจถึงบทบาทและขีดความสามารถในแต่ละระดับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า อำนาจและงบประมาณยังกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง แต่มีความจำเป็นที่จะต้องกระจายไปยังท้องถิ่น โดยปัจจุบันงบประมาณได้ถูกจัดสรรให้กับส่วนท้องถิ่นเพียง 25% แม้ว่าเป้าหมายที่ควรจะเป็นคือ 35%
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการว่า รัฐบาลไ้ด้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบทบาทของส่วนภูมิภาคผ่านจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนั้น มีส่วนสำคัญในการเป็นแกนประสานระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไว้ 18,000 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการบริหารเชิงพื้นทea-based Management) ที่มีความเฉพาะตัวนั้น มีความสำคัญ เนื่องจากการนำนโยบายและมาตรการต่าง ๆ มาผลักดันโดยส่วนกลางเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยส่วนกลางจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายพื้นฐาน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการศึกษาและเรียนฟรี 12 ปี แต่ต้องการให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด รวมทั้งท้องถิ่นนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร มาดำเนินการเสริมเนื้อหาเฉพาะทาง เช่น ภาษา ทักษะ วัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต ที่สอดคล้องกับพื้นที่ทั้งปัญหาและความต้องการ
ทั้งนี้ จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดสามารถมีบทบาทเป็นตัวแทนของส่วนกลางในการทำงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อาทิ นโยบายด้านยาเสพติด ซึ่งส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาทและกำหนดแนวทางการแก้ไขและป้องกัน
สำหรับสิ่งท้าทายต่อการทำงานแบบบูรณาการนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลักการและหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ต้องอาศัยการหาประโยชน์ร่วมกัน (Win-win) จำเป็นต้องทำงานเป็นเครือข่ายที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องเริ่มตั้งแต่การจัดการต้นน้ำ การกักเก็บ การกระจายและจัดส่งน้ำ และการใช้น้ำ ซึ่งแต่ละส่วนจะแยกจากกันไม่ได้
การผลักดันให้เกิดการบริหารในรูปแบบที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก ทำให้บทบาทของส่วนท้องถิ่นและภูมิภาคสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนโยบายหลัก 7 ด้าน จากส่วนกลาง คือ แหล่งน้ำ การขนส่ง (Logistic) การศึกษา สุขภาพ การท่องเที่ยว ทุนสังคมและองค์ความรู้ และพื้นที่พิเศษ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่นโยบายการศึกษามาจากส่วนกลาง แต่โครงการสนับสนุนมาจากส่วนกลางและท้องถิ่น หรือกรณีนโยบายประกันสุขภาพจากส่วนกลาง แต่มาตรการในการดำเนินการจะต้องมีความเฉพาะตัวและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาค เนื่องจากแต่ละที่ก็มีประเด็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน
ความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทย ขึ้นอยู่กับการกระจายอำนาจที่ต้องเป็นรูปแบบการกระจายโอกาส และการกระจายการมีส่วนร่วม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการร่วมกันทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น พร้อมกับการให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยความสำเร็จในการสร้างความเพื่อมั่นประเทศไทย คือ ความพึงพอใจและความภาคภูมิใจในพื้นที่
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ นั้น จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยในวันแรก (6 พฤษภาคม 2552) เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยเชิญผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และภาคประชาสังคมมาร่วมอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ นอกจากนี้ยัีการมอบนโยบายโดย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในวันที่สองของการประชุม (7 พฤษภาคม 2552) ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ นอกจากจะมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีการมอบนโยบายการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคอีกด้วย
สำหรับสรุปประเด็นการมอบนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน สาระสำคัญของการอภิปรายและการบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งสรุปประเด็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ และแนวทางการดำเนินงานต่อไป สามารถติดตามอ่านได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยเข้าไปที่ www.opdc.go.th
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร / ข้อมูล & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ