นับจากที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำหลักเกณฑ์และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือ PMQA โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของหน่วยงาน สู่มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ
วันนี้เป็นที่น่ายินดีที่กรมการพัฒนาชุมชุน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) และได้รับการประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในปี 2551 ได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งถือเป็นส่วนราชการระดับกรมเพียงหน่วยงานเดียวที่สามารถผลักดันจนประสบผลสำเร็จที่ดีเยี่ยม สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นควรให้จัดทำ สกู๊ปพิเศษ สัมภาษณ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อนำเสนอแนวทางในการดำเนินการของกรมการพัฒนาชุมชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นตัวอย่างทางเลือกของการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งทีมงานได้รับความอนุเคราะห์จาก นายไพรัตน์ สกลพันธุ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางกอบแก้ว จันทร์ดี รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) กรมการพัฒนาชุมชน ให้เข้าพบและสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552
อะไรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่ทำให้กรมการพัฒนาชุมชน ได้ก้าวสู่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
ปัจจัยแรก คือ เกิดจากการสร้างจิตสำนึกของข้าราชการ เพราะถ้าข้าราชการมีจิตสำนึกในการที่จะทำงานโดยยึดหลัก ข้าราชการคือผู้ให้บริการประชาชนแล้ว ผลที่ได้ก็คือการทำงานที่มุ่งประโยชน์สุขให้กับประชาชน และในประการต่อมาคือความพึงพอใจในหน่วยงาน ความพึงพอใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความพึงพอใจในรูปลักษณ์ โครงสร้างของอาคาร พอใจในที่ทำงาน แต่ว่าพึงพอใจในวิสัยทัศน์ขององค์กร ว่าองค์กรนั้นมีวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างไร และเมื่อวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้นทำให้ทำงานได้อย่างมีความสุข การทำงานก็จะสำเร็จ อย่างกรมการพัฒนาชุมชน มีวิสัยทัศน์ว่า กรมการพัฒนาชุมชนต้องการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ฉะนั้นคนที่อยู่ในองค์กรเกิดความรู้สึกว่าถ้ามาทำงานที่กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้ เขาก็จะเกิดความพึงพอใจ และอยากทำงาน |
|
นายไพรัตน์ สกลพันธุ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน |
ผู้บังคับบัญชา เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะนำองค์กรสู่ความสำเร็จ
เมื่อเกิดความพึงพอใจตรงนี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือสร้างแรงกระตุ้น คือไม่ใช่ว่าทำงานไปเรื่อยๆ แล้วก็อยากประสบความสำเร็จ บางครั้งคนเราต้องสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน แรงกระตุ้นในการทำงานก็คือ การที่เรามีผู้บังคับบัญชาที่จะให้ความสนใจในการทำงาน คำว่าผู้บังคับบัญชานั้นไม่ใช่เพียงแต่ว่าผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจในตัวเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ผู้บังคับบัญชาจะต้องวางแนวทางในการทำงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา วางแนวทางที่จะทำให้เขาทำงานมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่เขาต้องการ หรือสู่จุดหมายปลายทางขององค์กร ฉะนั้นนี่แหละที่จะเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้การทำงานขององค์กรประสบความสำเร็จ
วางเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน
กรมการพัฒนาชุมชน ประสบความสำเร็จตรงนี้ก็เพราะว่ามีวิสัยทัศน์ และมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน โดยมุ่งมั่นส่งเสริม |
ให้ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนพึ่งตนเองได้ และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ดังนั้น การพัฒนาองค์การจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งบุคลากรของกรมทุกระดับ ต้องร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นองค์กรที่เก่งและดี สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
บุคลากรของกรมฯ มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการอำนวยการ คณะทำงานประเมินผล และคณะทำงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มีความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการทำงาน มีเป้าหมายและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ที่สำคัญ คือ ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาหน่วยงาน ทุกคนรู้ว่าเป้าหมายในการทำงานคือการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ผลงานของเราก็ออกมาในทางที่ดี แล้วก็จะเป็นแนวทางเดียวกัน นี่ก็คือทำให้คนในองค์กรของเรามีความสำเร็จในการทำงาน |
 นางกอบแก้ว จันทร์ดี รองอธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน
|
กรมการพัฒนาชุมชนได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง จากการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของกรมการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ 2551 กรมฯ ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ได้แก่
หนึ่ง |
กรมฯ มีโอกาสในการตรวจสุขภาพของตนเอง จากการประเมินองค์กรด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่า เรามีจุดแข็ง จุดอ่อน อะไรบ้าง และเรามีอะไรที่เป็นโอกาสในการปรับปรุง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ |
สอง |
 เกิดนวัตกรรมในการทำงานที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ เช่น มีแผนแม่บทลูกค้าสัมพันธ์ ที่ทำให้กรมฯ สามารถ ทำงานร่วมกับประชาชนและภาคีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความพึงพอใจ  มีโครงการริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน (IPA)  มีแผนพัฒนาองค์การที่สามารถบูรณาการเข้ากับงานประจำทั้งระบบ และเป็นแผนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน  มีระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัย มีรูปแบบการขับเคลื่อนค่านิยมของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน (ABCDEF) ที่เหมาะสมกับพื้นที่  มีการพัฒนาระบบแฟ้มข้อมูลประวัติบุคคลและผลงาน (PORTFOLIO) ของบุคลากรครบทุกคน  มีแผนพัฒนาทรัพยากรรายบุคคล (IDP) |
เป้าหมายในอนาคต
จากการประเมินผลที่ได้คะแนนเต็ม เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะว่าเราได้แชมป์ และเราจะต้องรักษาแชมป์ ซึ่งการรักษาแชมป์ยากกว่าการชิงแชมป์ แต่ก็บอกว่าทุกคนอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพราะฉะนั้น จึงได้ให้แนวทางในการทำงานว่า ต่อนี้ไปนอกจากกระบวนการความคิดที่ว่าจะต้องคิดนอกกรอบให้มากขึ้น จะต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้น และจะต้องมุ่งสู่ความสำเร็จตามแนวทางที่กรมวางไว้ให้ได้ ซึ่งได้บอกว่าต่อไปนี้ พช.ได้ที่หนึ่ง ได้แชมป์มานี่ใช้คำว่า พช.เพราะฉะนั้นจะรักษาแชมป์ได้ต้องใช้คำว่า พช.3 +1 (พอ-ชอ-ยกกำลังสาม-บวก-หนึ่ง) โดย
พช.ที่ 1 การพัฒนาชุมชน เน้นการพัฒนาระบบมาตรฐานแผนชุมชน บูรณาการแผนชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างเครื่องมือการพัฒนา สู่เป้าหมายแผนชุมชนมีคุณภาพและนำไปสู่การปฏิบัติ
พช.ที่ 2 การพัฒนาอาชีพ เน้นการพัฒนา OTOP กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเดิม สร้างเสริมอาชีพใหม่ พัฒนากลไกการตลาด สู่เป้าหมายอาชีพมั่นคง รายได้เพิ่มขึ้น วิถีพอเพียง
พช.ที่ 3 การพัฒนาชาติ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณี และกีฬาพื้นบ้าน เป็นเครื่องในการสร้างจิตสำนึกความหวงแหนความรักชาติ รักแผ่นดิน เพื่อให้สังคมมีความสมานฉันท์
สงบ สันติ และสามัคคี
บวกหนึ่ง เป็น พช. ที่ 4 คือ การพัฒนาผู้นำชุมชน ได้แก่ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครพัฒนาชุมชน กลุ่มองค์กรและเครือข่ายการพัฒนาชุมชน ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการชุมชน เพื่อสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของชุมชนที่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้น พช.3 +1 (พอ-ชอ-ยกกำลังสาม-บวก-หนึ่ง) ก็คือตัวเร่งที่จะทำให้เรารักษาแชมป์ไว้ได้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวในที่สุด
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย คือตัวอย่างของการนำองค์การอย่างมีวิสัยทัศน์ ที่ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญในการปรับวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการ และถือเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งของผู้บริหารที่มีบทบาทในการชี้นำทิศทางขององค์การ กำหนดวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ และกระตุ้นให้บุคคลากรมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุวิสัยทัศน์ บทบาทในการสร้างความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ในการคิดค้นระบบงานและเทคนิคบริหารเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงบทบาทในการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อผลักดันให้บุคคลากรได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการปฏิบัติงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และบทบาทการเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานให้กับบุคลากร ซึ่งหลักการบริหารงานนี้เอง จึงทำให้กรมการพัฒนาชุมชนก้าวสู่ความสำเร็จ กับ 5 คะแนนเต็ม ในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ประจำปี 2551


คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) กรมการพัฒนาชุมชน
ทีมงานขอขอบคุณท่านอธิบดีฯ (นายไพรัตน์ สกลพันธุ์) รองอธิบดีฯ (นางกอบแก้ว จันทร์ดี) และคณะทำงานฯ ที่สละเวลาอันมีค่ามาพูดคุยถึงปัจจัยความสำเร็จ ที่ทำให้กรมการพัฒนาชุมชนสามารถผลักดันการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐได้สำเร็จตามเป้าหมาย
ค่านิยมการทำงานของกรมการพัฒนาชุมชน |
|
A : Appreciation : ชื่นชม C : Creativity : สร้างสรรค์ E : Empathy : เข้าใจ |
B : Bravery : กล้าหาญ D : Discovery : ใฝ่รู้ F : Facilitation : เอื้ออำนวย | |
สุดารัตน์ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ