ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการแจ้งและเสนอชื่อส่วนราชการที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวในระดับดีเด่น สมัครเข้ารับการประเมินเพื่อรับรางวัล United Nations Public Service Awards ตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องมาถึงปี 2552 โดยในปี 2551 โรงพยาบาลยโสธร ได้รับรางวัล Finalist สาขา Improving the delivery of service และล่าสุดในปีนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สามารถคว้ารางวัลดีเยี่ยม (Winner)ในสาขาการปรับปรุงการให้บริการ (Improving the delivery of service)โดยเป็น 1 ใน 8 หน่วยงานจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลดีเยี่ยมของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 หน่วยงานที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย โดยเป็น 5 ใน 28 หน่วยงานจากทั่วโลกที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งได้รับการพิจารณาว่า เป็นหน่วยงานที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนได้โดดเด่น คือ กรมการกงสุล กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา และเคาน์เตอร์บริการประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
รางวัล UN Public Service Awards เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council-ECOSOC) เพื่อมอบให้แก่หน่วยงานที่ดำเนินการด้านการให้บริการสาธารณะด้วยความเป็นมืออาชีพ โดยรางวัล UN Public Service Awards 2009 มี 4 สาขา คือ
1. สาขาการปรับปรุงความสามารถในการตอบสนอง ความรับผิดชอบ และความโปร่งใสในการบริการสาธารณะ (Improving transparency, accountability, and responsiveness in the Public Services)
p; 2. สาขาการปรับปรุงการให้บริการ (Improving the delivery of services)
3. สาขาการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยการใช้กลไกใหม่ๆ (Fostering participation in policy-making decisions through innovative mechanism)
4. สาขาการเสริมสร้างการบริหารจัดการองค์ความรู้ภาครัฐ (Advancing knowledge management in government)
สำนักงาน ก.พ.ร. ขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับระบบราชการไทยและประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จะรักษามาตรฐานการให้บริการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบอันเป็นเลิศให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว
รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ถึงแม้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถสูง มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือทางการแพทย์ แต่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพียงลำพังไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และโรงพยาบาลชุมชนยังมีข้อจำกัดในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักและโรคซับซ้อน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในฐานะโรงเรียนแพทย์ที่มีพันธกิจ ทั้งด้านการเรียน การสอน และการรักษาพยาบาล จึงได้คิดวิธีการเพื่อเยียวยาความเจ็บป่วยให้กับประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบส่งต่ออย่างรวดเร็วเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ จึงเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายความร่วมมือการดูแลผู้ป่วยที่สำคัญ คือ เครือข่ายโรคหัวใจภาคเหนือ เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เครือข่ายการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชน ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล และขาดโอกาสการเข้าถึงการบริการ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที รศ.นพ.วัฒนา กล่าว
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้กำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับรางวัล เข้ารับโล่และเกียรติบัตร รวมทั้งนำเสนอผลการพัฒนาของหน่วยงานในงาน 2009 United Nations Public Service Awards Day ในวันที่ 23 - 24 มิถุนายน 2552 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ